ประวัติ มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ผู้ท้าชิงเก้าอี้ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่
ชวนอ่านประวัติ ‘มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข’ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในผู้ท้าชิงเก้าอี้ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่
หลังจากที่ คุณมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ป.ช.ป.) ได้ออกมาประกาศผ่านทวิตเตอร์ว่าเธอจะลงสมัครเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ พร้อมกับบอกในการประชุมใหญ่วิชามัญประจำปีพรรคประชาธิปัตย์อีกว่า สิ่งที่เธอตัดสินใจถือเป็นปรากฎการณ์ที่จะทำให้เห็นว่าเสรีภาพประชาธิปไตยที่แท้จริงอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อแสดงเจตจำนงของพรรคที่มีรากเง้าและดำรงไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
Thaiger จึงถือโอกาสพาทุกท่าน ไปเจาะลึกประวัติของคุณมัลลิกาและผลงานในอดีตที่ผ่านมา บอกเลยว่าไม่ธรรมดา เพราะคุณมัลลิกาเคยเป็น อดีตผู้ประกาศข่าวช่อง ITV สื่อเสรีในยุคก่อน พร้อมด้วยดีกรีสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ พ.ศ.2549 ฉะนั้นใครพร้อมแล้วไปรู้จักกับคุณมัลลิกา ผู้ท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ กันได้เลย
ประวัติ มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ผู้ท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ชื่อเล่น ติ่ง หรือชื่อที่เพื่อน ๆ ในวงการสื่อเรียกว่า ‘มอลลี่’ เกิดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2516 ที่อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา มีเชื้อสายไทลื้อจากผู้เป็นตาและยาย
ด้านการศึกษา จบการศึกษาจากโรงเรียนปงรัชดาภิเษก โรงเรียนพะเยาพิทยาคม ปริญญาตรีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาโท วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และจบการศึกษาปริญญาเอก วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม สาขาวิชาผู้นำทางสังคม ธุรกิจและการเมือง มหาวิทยาลัยรังสิต
คุณมัลลิกา เป็นอดีตนักกีฬาจักรยานทีมชาติไทย และเป็นนักกีฬายิงปืนสมัครเล่นของชมรมยิงปืนรบพิเศษ รวมถึงจบหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงมหานคร 3 กับ นมธ.9 หรือหลักสูตรธรรมศาสตร์เพื่อสังคม
สำหรับเส้นทางการทำงาน คุณมัลลิกา เป็นที่รู้จักจากการเป็นพิธีกรและผู้ประกาศข่าวทางช่อง ITV รายการร่วมมือร่วมใจ รายการสน.ไอทีวี ซึ่งเป็นแนวรายการชาวบ้านร้องทุกข์ ก่อนจะลาออกและลงสมัครในการเลือกตั้งปี 2548 สังกัดพรรคมหาชน จากนั้นในปี 2550 เธอได้เข้าสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเป็นหนึ่งในส.ส. และการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ.2554 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ โดยทั้งหมดเป็นการลงสมัคร ส.ส. ในเขตพื้นที่จังหวัดพะเยา แต่ไม่เคยได้รับการเลือกตั้ง
มัลลิกา เคยมีประสบการณ์ทางการเมืองโดยการเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติปี พ.ศ.2549 หลังการรัฐประหารในกลางปีเดียวกัน และเป็นผู้ช่วย เลขานุการ รัฐมนตรีหลายกระทรวง อาทิ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ล่าสุด ได้ประกอบธุรกิจส่วนตัวผลิตภัณฑ์ด้านความงามและเป็นประธานบริหารธุรกิจศูนย์การค้า เป็นต้น
ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ.2562 เธอลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ลำดับที่ 30 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง
ต่อมา เธอได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) จนเมื่อ พ.ศ.2565 เมื่อไชยยศ จิรเมธากร ได้ขอลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ ทำให้มัลลิกาได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนคุณไชยยศ ซึ่งคุณมัลลิกาได้ลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ.2566 คุณมัลลิกาได้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ ในลำดับที่ 19
ด้านชีวิตส่วนตัว คุณมัลลิกา บุญมีตระกูล ได้สมรสกับ นายณัฐพล มหาสุข ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ.2557 โดยก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ปีเดียวกัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกอบพิธีสมรสพระราชทานแก่คู่บ่าวสาว ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา พร้อมการจดทะเบียนสมรส ณ วังสวนจิตรลดา ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา พร้อมการจดทะเบียนสมรส ณ วังสวนจิตรลดา
ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้นามสกุลของสามีตามที่ได้จดทะเบียน และนำนามสกุลเดิมจดทะเบียนเป็นชื่อกลาง จึงมีชื่อตามบัตรประชาชนใหม่ว่า นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข