เรื่องต้องรู้ “หน่อไม้” เป็นอาหารแสลง คนป่วยห้ามกินจริงไหม
“หน่อไม้” เป็นอาหารแสลงรึเปล่า หากรับประทานมากจะมีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายอย่างไรบ้าง เผยความเชื่อคนป่วยห้ามกินหน่อไม้
อย่างที่ทราบกันดีว่า “หน่อไม้” คือหนึ่งในวัตถุดิบยอดฮิตของคนไทย ที่นิยมนำมาปรุงเป็นอาหารประเภทต่าง ๆ ทั้งต้ม ผัด แกง ดอง ฯลฯ แถมยังเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย นอกจากนี้ คนเฒ่าคนแก่มักพูดเสมอว่า ไม่แนะนำให้เด็กหรือคนป่วยรับประทาน หน่อไม้ เพราะเป็นอาหารหรือของแสลง อาจส่งผลต่อปัญหาสุขภาพและทำให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บช้าลง
แท้จริงแล้ว “หน่อไม้” เป็นของแสลงอย่างที่โบราณว่าไว้จริงไหม? ใครที่ชอบรับประทานหน่อไม้ควรทราบถึงประโยชน์และอันตราย รวมไปถึงวิธีการรับประทานให้ดีต่อสุขภาพ รู้ไว้แชร์ให้คนรอบข้างได้ทราบกันถ้วนหน้า
หน่อไม้ ใช่ของแสลงจริงไหม?
“หน่อไม้” จัดว่าเป็นอาหารแสลงตามตำราแพทย์แผนไทย และไม่แนะนำให้คนที่เป็นโรคกระดูกและข้อรับประทาน เนื่องจากหน่อไม้มีสารพิวรีนสูง เป็นสารต้นแบบในการผลิตกรดยูริก หากมีมากไปอาจส่งผลให้เป็นโรคเก๊าฑ์ในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง
ทั้งนี้ ได้มีข้อมูลทางการแพทย์จาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ของ “นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข” ได้ระบุว่า หน่อไม้ดิบที่ไม่ได้ผ่านการปรุงให้สุก จะมีสารพิษที่เรียกว่า “สารไซยาไนด์” ซึ่งหากได้รับในปริมาณมากอาจทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพและเสียชีวิตได้เลยทีเดียว
ถ้าได้รับพืชที่มีไซยาไนด์ในปริมาณเล็กน้อย อาการเริ่มต้นระดับแรกจะรู้สึกปวดหัว หายใจยาก ความดันโลหิตต่ำ มึนงง หมดสติ แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่มากถึง 1.5 มิลลิกรัม /นน.ตัว 1 กก.จะมีผลทำให้เสียชีวิต หากเรารับประทานหน่อไม้แบบดิบ ๆ
ดังนั้น นพ.บุญชัย แนะนำไม่ว่า เพื่อความปลอดภัยที่แน่นอนที่สุด ควรนำไปต้มก่อน เนื่องจากมีการศึกษาพบว่า หากนำหน่อไม้ไปต้มในน้ำเกลือเป็นเวลา 10 นาที จะสามารถทำลายสารไซยาไนด์ที่ซุกอยู่ในเนื้อหน่อไม้หายไปมากถึง 91 เปอร์เซ็นต์ และถ้าต้มนานถึง 20 นาที สารไซยาไนด์ก็จะหายไปถึง 98 เปอร์เซนต์ หากต้มนาน 30 นาทีเป็นต้นไป สารไซยาไนด์ก็จะหมดไปไม่มีเหลือ
อย่างไรก็ตาม การต้มหน่อไม้ตามเวลาที่กำหนดไม่ได้การันตีว่า สารไซยาไนด์ จะหายไปจนหมด ดังนั้นก่อนทานหน่อไม้ควรต้มให้สุกก่อนทุกครั้ง และไม่ควรรับประทานเยอะจนเกินไป เพราะอาจมีสารพิษหลุดรอดเจือปนอยู่ในอาหารได้นั่นเอง
ประโยชน์ของหน่อไม้
แม้หน่อไม้จะมีสารพิษที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย แต่ก็ยังประกอบไปด้วยสารอาหารมากมาย เพราะกากใยจากหน่อไม้ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ บรรเทาอาการท้องผูก เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องควบคุมน้ำหนักเพราะหน่อไม้มีแคลอรี่ต่ำ เพียง 27 แคลฯ เท่านั้น นอกจากนี้ “หน่อไม้” ยังมี โปรตีน โพแทสเซียม วิตามินเอ และแคลเซียมอีก
ข้อมูลสารอาหารของหน่อไม้
คุณค่าทางสารอาหารของหน่อไม้ ปริมาณ 100 กรัม
- แคลอรี (kcal) 27
- ไขมันทั้งหมด 0.3 g
- ไขมันอิ่มตัว 0.1 g
- ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน 0.1 g
- กรดไขมันไม่อิ่มตัวมีพันธะคู่เดี่ยว 0 g
- คอเลสเตอรอล 0 mg
- โซเดียม 4 mg
- โพแทสเซียม 533 mg
- คาร์โบไฮเดรต 5 g
- เส้นใยอาหาร 2.2 g
- น้ำตาล 3 g
- โปรตีน 2.6 g
- วิตามินเอ 20 IU
- วิตามินซี 4 mg
- แคลเซียม 13 mg
- เหล็ก 0.5 mg
- วิตามินดี 0 IU
- วิตามินบี 6 0.2 mg
- วิตามินบี 12 0 µg
- แมกนีเซียม 3 mg
สรุปแล้ว “หน่อไม้” จัดเป็นอาหารแสลงตามตำราแพทย์แผนไทย หากรับประทานแบบดิบหรือไม่ถูกวิธี อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจากพิษของมันได้ ส่วนผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหรือเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูและข้อ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานหน่อไม้ ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับเบาหวาน โรคตับ ผู้ที่มีแผล หลังผ่านการผ่าตัดคลอด สามารถรับประทานหน่อไม้ได้ตามปกติ
- กินกาแฟดําทุกวัน อันตรายไหม วิธีการดื่มให้ถูกต้อง ส่งผลดีต่อร่างกาย
- เมนูอาหารเช้า ดีต่อสุขภาพ ประโยชน์แน่น อิ่มนานไม่ต้องกลัวอ้วน
- หลังออกกำลังกาย ‘ควร-ไม่ควร’ กินอะไรบ้าง พร้อมทริคตามแล้วสุขภาพดีกว่าเดิม