มะเร็งปอด (Lung Cancer) โรคร้ายที่คร่าชีวิตคนให้จากไปนับไม่ถ้วน เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ผลการวิจัยพบว่าโรคมะเร็งปอด เป็นหนึ่งใน 5 อันดับโรคมะเร็งที่พบบ่อยในประเทศอาเซียน ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ และมะเร็งปากมดลูก โดยมีผู้ป่วยเสียชีวิตมากถึง 500,000 รายต่อปี
ล่าสุดโรคมะเร็งปอด กลายเป็นโรคที่ผู้คนตื่นตัว เนื่องจากเกิดกระแสในโลกอินเทอร์เน็ต หลังหมอหนุ่มอนาคตไกลจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กฤตไท ธนสมบัติกุล เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก สู้ดิวะ ซึ่งมีอายุเพียง 28 ปี ออกมาเผยว่ากำลังป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ทั้งที่เขาดูแลร่างกายอย่างดี ออกกำลังกาย ใส่ใจการกิน ไม่สูบบุหรี่ จนทำให้หลายคนตระหนักถึงความไม่แน่นอนของชีวิตและหันมาเฝ้าระวังสังเกตตัวเองมากขึ้น
มะเร็งปอดเกิดจากอะไร
จากที่ได้กล่าวข้างต้นว่าสาเหตุการเกิดโรคมะเร็งปอดนั้นมีหลากหลาย สามารถแบ่งออกได้ดังนี้
บุหรี่
ปัจจัยอันดับหนึ่งที่ทำให้เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอด คือ บุหรี่ เพราะควันจากบุหรี่มีสารต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายหลายพันชนิด รวมถึงสารก่อมะเร็ง 60 ชนิด เกิดได้ทั้งในคนและสัตว์ และมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคมะเร็งสูงถึง 87% จากข้อมูลของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่ได้รับการวินิจฉัยมากที่สุดเป็นอันดับสองในทั้งชายและหญิงในสหรัฐอเมริกา หลังจากอัตราเกิดโรคเพิ่มขึ้นมานานหลายทศวรรษ อัตรามะเร็งปอดก็ลดลงทั่วประเทศ เนื่องจากมีคนสูบบุหรี่น้อยลงและการรักษามะเร็งปอดก็ดีขึ้น
ผู้ที่เป็นมะเร็งปอดจะมีอายุยืนยาวขึ้นหลังจากการวินิจฉัยโรคแต่เนิ่นๆ ทำให้วางแผนการรักษาได้ดี
การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของมะเร็งปอด มะเร็งปอดอาจเกิดจากการใช้ยาสูบประเภทอื่น (เช่น ไปป์หรือซิการ์) การหายใจควันบุหรี่มือสอง การสัมผัสกับสารต่างๆ เช่น แร่ใยหินหรือเรดอนที่บ้านหรือที่ทำงาน และการมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งปอด
นอกจากบุหรี่จะเป็นพิษกับร่างกายและเสี่ยงทำให้เป็นโรคมะเร็งปอดแล้ว บุหรี่ยังเป็นสาเหตุของมะเร็งชนิดอื่น ๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งช่องปาก, มะเร็งหลอดอาหาร, มะเร็งกล่องเสียง, มะเร็งเม็ดเลือดขาว ฯลฯ
บุหรี่มือสอง
ผู้สูบบุหรี่มือสอง หรือผู้ที่สูดดมควันบุหรี่ แม้จะไม่ได้เป็นผู้ก่อความเสี่ยงด้วยตนเอง แต่ก็มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอดมากไม่แพ้กัน
ก๊าซเรดอน
ก๊าซเรดอน เป็นปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดมากเป็นอันดับที่ 2 มีความอันตรายไม่แพ้ควันบุหรี่ พบมากในอุตสาหกรรมเหมือนแร่ในภาคใต้ รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรม ตึกแถว บ้านปูนที่ปิดทึบ
วิธีลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปอดจากก๊าซเรดอน คือ ควรเปิดบ้านให้โล่ง เพื่อให้อากาศมีการถ่ายเท
สารอื่น ๆ
นอกจากก๊าซเรดอน ยังมีสารอื่น ๆ ที่เสี่ยงทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด หากมีการสูดดมเข้าไปปริมาณมากในระยะเวลานาน ได้แก่ แร่ใยหิน สารหนู ไอเสียดีเซล ซิลิกา และโครเมียมบางรูปแบบ
คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคมะเร็ง
นอกจากปัจจัยภายนอกแล้ว ยังมีปัจจัยภายในที่ทำให้เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอดเช่นกัน การศึกษาพบว่า หากสมาชิกในครอบครัวของคุณมีประวัติการเป็นโรคมะเร็ง ก็ย่อมทำให้ความเสี่ยงที่คุณจะเป็นโรคมะเร็งเพิ่มสูงขึ้นได้เช่นกัน
พฤติกรรมการรับประทานอาหาร
สาเหตุหนึ่งของการเป็นโรคมะเร็งปอด อาจเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารก็เป็นได้ ทั้งนี้ต้องพิจารณาจากปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น ผู้ที่สูบบุหรี่จัด หากรับประทานอาหารเสริมเบต้าแคโรทีน ก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
PM 2.5
รู้หรือไม่ว่าฝุ่นควัน PM 2.5 ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอดได้มากถึง 1.4 เท่า ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ระบุว่า PM 2.5 มีขนาดเล็กมาก มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า หากมันเข้าไปสะสมในปอดปริมาณมากและยาวนาน ก็จะทำให้เป็นโรคมะเร็งปอดได้
สาเหตุการเกิดมะเร็งจาก PM 2.5 เสี่ยงสูงในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และหากผู้ที่ได้รับ PM 2.5 มีการสูบบุหรี่เป็นประจำก็จะเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอดสูงถึง 2 เท่า เพราะขนาดของ PM 2.5 22 ไมโครกรัมมีค่าเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 1 มวนเลยทีเดียว
อาการโรคมะเร็งปอด
แต่ละคนที่เป็นมะเร็งปอดมีอาการต่างกัน บางคนมีอาการที่เกี่ยวข้องกับปอด บางคนที่เป็นมะเร็งปอดแล้วเชื้อแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย จะมีอาการเฉพาะส่วนนั้นของร่างกาย บางคนมีเพียงอาการทั่วไปของความรู้สึกไม่สบาย คนส่วนใหญ่ที่เป็นมะเร็งปอดจะไม่มีอาการจนกว่ามะเร็งจะลุกลาม
ผู้ป่วยมะเร็งปอดส่วนใหญ่จะเริ่มมี
- อาการไอเรื้อรัง
- อาการไอแห้ง
- ไอแบบมีเสมหะ หรือไอมีเลือดปน
- บางรายอาจมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- หายใจได้สั้น
- หายใจมีเสียงหวีด รู้
- สึกเจ็บบริเวณหน้าอก
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
แม้อาการข้างต้นจะเป็นอาการแรกเริ่มของโรคมะเร็งปอด แต่เราจะไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นโรคมะเร็งหรือไม่ จนกว่าจะมีการเอกซเรย์ปอด ส่องกล้องเพื่อตัดชิ้นเนื้อมาตรวจสอบ ตรวจด้วยรังสี หรือที่เรียกว่า CT Scan หรือ CMRI
มะเร็งปอดมีกี่ระยะ
มะเร็งปอดมีลักษณะเหมือนมะเร็งส่วนอื่น ๆ โดยจะแบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่
- ระยะที่ 1 ระยะนี้มะเร็งจะไม่ลุกลามไปยังอวัยวะอื่น พบที่บริเวณปอดเท่านั้น
- ระยะที่ 3 มะเร็งจะมีการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขั้วปอด ขนาดของก้อนมะเร็งใหญ่ขึ้น
- ระยะที่ 3 มะเร็งจะมีการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณอื่น หรือตรวจพบก้อนเนื้องอกมากกว่า 1 ก้อนในบริเวณปอด
- ระยะที่ 4 มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น เช่น กระดูก สมอง พื้นที่ปอดหายไป รวมถึงมีการแพร่กระจายของก้อนมะเร็งอย่างรวดเร็ว ซึ่งในระยะนี้ผู้ป่วยอาจมีการเสียการมองเห็น ทรงตัวไม่ได้
มะเร็งปอดระยะสุดท้ายอยู่ได้นานไหม
คำถามนี้อาจเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยโรคมะเร็ง รวมถึงญาติและคนใกล้ชิดอยากทราบหรือไม่อยากทราบมากที่สุด โดยปกติแล้วโรคมะเร็งระยะสุดท้ายจะมีการลุกลามอย่างรวดเร็ว และแพร่กระจายไปยังอวัยวะบริเวณอื่น ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่เร่งการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็ง
การประเมินว่าผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะสุดท้าย จะมีชีวิตอยู่ได้นานหรือไม่ จึงทำได้เพียงการคาดการณ์ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความแข็งแรง ร่างกาย ความคิด ความเครียด สุขภาพจิตของผู้ป่วย รวมถึงการดูแลจากคนรอบข้าง ซึ่งจะมีผลให้ช่วงเวลาชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะสุดท้ายแตกต่างกันออกไป
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดระยะสุดท้ายจะอยู่ได้นานเพียงใด ขึ้นอยู่กับปัจจัยของผู้ป่วยแต่ละคนนั่นเอง ไม่มีระยะเวลาที่แน่นอน
เราจะทำยังไงได้บ้างเพื่อลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งปอด
คุณสามารถช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งปอดได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
อย่าสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่ทำให้เกิดการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดประมาณ 80% ถึง 90% สิ่งที่สำคัญที่สุดที่คุณสามารถทำได้เพื่อป้องกันมะเร็งปอดคือการไม่เริ่มสูบบุหรี่หรือเลิกสูบบุหรี่ตั้งแต่ตอนนี้
หลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง ควันจากบุหรี่ ซิการ์ หรือไปป์ของผู้อื่น เรียกว่าควันบุหรี่มือสอง ทำให้บ้านและรถของคุณปลอดควัน
ระมัดระวังในการทำงาน แนวทางด้านสุขภาพและความปลอดภัยในที่ทำงานสามารถช่วยให้พนักงานหลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็งซึ่งอาจเป็นสาเหตุของมะเร็งได้
จากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นได้ว่าโรคมะเร็งปอดเป็นโรคที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคสูง เนื่องจากสาเหตุการเกิดโรคมาจากปัจจัยในอากาศ ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันโรคมะเร็งปอด อย่าลืมป้องกันตนเองด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องไปในพื้นที่ที่มีค่า PM 2.5 สูง
รวมถึงผู้ที่สูบบุหรี่ควรสูบในที่เฉพาะ เพื่อไม่ให้ผู้อื่นต้องสูดดมควันบุหรี่ในฐานะผู้สูบมือสอง หรือหากเป็นไปได้ การเลิกสูบบุหรี่น่าจะเป็นทางออกที่ดีกับสุขภาพของคุณมากที่สุดนั่นเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก : cdc.gov คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รังสีและมะเร็งวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย