การเงิน

ราชกิจจากนุเบกษา ประกาศคำสั่ง เพิกถอนใบอนุญาต เดอะวันประกันภัย

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศคำสั่ง กระทรวงการคลัง เพิกถอนใบอนุญาต เดอะวันประกันภัย ยกเหตุ มีฐานะการเงินไม่มั่นคง มีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน จ่ายค่าสินไหมทดแทนล่าช้า

24 ม.ค. 65 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศคำสั่ง กระทรวงการคลังเรื่อง เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท เดอะวัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 โดยมีเนื้อหาสำคัญ ดังนี้

Advertisements

ตามที่บริษัท เดอะวัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำขอผ่อนผันต่อนายทะเบียนตามประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง มาตรการสำหรับบริษัทประกันวินาศภัยที่มีค่าสินไหมทดแทน COVID – 19 ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ในระหว่างที่บริษัทได้รับการผ่อนผันตามประกาศดังกล่าวนั้น ได้ปรากฎหลักฐานต่อนายทะเบียนว่า บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน)

(๑) มีฐานะการเงินไม่มั่นคง โดยมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน จัดสรรเงินสำรองตามมาตรา ๒๓ และจัดสรรสินทรัพย์หนุนหลังตามมาตรา ๒๗/๔ ไม่เพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด มีสินทรัพย์ สภาพคล่องไม่เพียงพอสำหรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน และปรากฎว่าอัตราส่วนความเพียงพอ ของเงินกองทุนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ทำให้ไม่สามารถมั่นใจได้ว่าบริษัทมีความสามารถ ในการชำระหนี้ตามภาระผูกพันที่มีต่อผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนได้ นอกจากนี้ สำนักงาน คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยได้รับแจ้งจากกรรมการผู้จัดการของบริษัท ว่าที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ มีมติเอกฉันท์ไม่เพิ่มทุน แสดงให้เห็นชัดเจนว่า บริษัทไม่มีเจตนาที่จะแก้ไขฐานะการเงินของบริษัท

(๒) จ่ายค่าสินไหมทดแทนล่าช้า เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๖ และมาตรา ๓๗ (๑๑) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕ ประกอบกับประกาศ กระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ถือว่าเป็นการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน หรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย และประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการชดใช้เงิน หรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๕๙ รวมทั้งยังคง มีจำนวนค่าสินไหมทดแทนคงค้างจำนวนมากจนส่งผลกระทบต่อฐานะและการดำเนินการของบริษัท

(๓) ปรากฎข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ บริษัทได้ปิดประกาศ หน้าบริษัทว่า “บริษัทอยู่ระหว่างปิดปรับปรุงชั่วคราวเพื่อดำเนินการเสริมสภาพคล่อง ลูกค้าสามารถ ติดตามข่าวสารได้ทาง Website บริษัท (ใช้เวลาประมาณ ๒ สัปดาห์)” โดยไม่ได้แจ้งเหตุผล ส่งผลให้เกิดความตื่นตระหนกต่อผู้เอาประกันภัยและประชาชนจำนวนมาก เนื่องจากเข้าไปติดต่อ ณ ที่ทำการบริษัท แต่ไม่ได้รับการบริการใด ๆ จากบริษัท การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง กำหนดให้บริษัทประกันวินาศภัยเปิดทำการติดต่อกับประชาชน ประจำปี พ.ศ. 2564 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

จากข้อเท็จจริงที่ปรากฎหลักฐานดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน จัดสรรเงินสำรองตามมาตรา ๒๓ และจัดสรรสินทรัพย์หนุนหลังตามมาตรา ๒๗/๔ ไม่เพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด มีสินทรัพย์สภาพคล่องไม่เพียงพอสำหรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนไม่เพียงพอ ตามที่กฎหมายกำหนด แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีฐานะการเงินไม่มั่นคงและไม่เพียงพอต่อภาระผูกพัน

Advertisements

ประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่ต้องจ่ายโดยไม่มีเหตุอันสมควร อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติ แห่งกฎหมายหลายประการ กรณีจึงเห็นได้ว่าบริษัทไม่มีความสามารถและความพร้อมที่จะรับประกันภัย และประกอบธุรกิจประกันภัยได้ต่อไป ถ้าให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อไป จะทำให้เกิด ความเสียหายต่อประชาชนหรือผู้เอาประกันภัย ตลอดจนความน่าเชื่อถือของธุรกิจประกันภัย ดังนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕๙ (๑) (๒) (๔) และ (๕) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และหากบริษัทไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนี้ มีสิทธิเสนอคำฟ้องนต่อศาลปกครองกลางภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

อ้างอิง http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/017/T_0012.PDF

Thaiger

The Thaiger นำเสนอข่าวสารล่าสุดและอัปเดตจากทั่วประเทศไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button