เปิดประวัติ ‘ธาริต เพ็งดิษฐ์’ อดีตอธิบดี DSI สู่เส้นทางชีวิตพลิกผัน
ชวนอ่านประวัติ ‘ธาริต เพ็งดิษฐ์’ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กับเส้นทางชีวิตสุดพลิกผัน หลังเลื่อนฟังคำสั่งศาลคดี ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ เป็นครั้งที่ 9
เชื่อว่าชื่อของ ธาริต เพ็งดิษฐ์ คงคุ้นหูใครหลายคนอยู่ไม่น้อย เพราะเขาเป็นถึงอดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ผู้มากประสบการณ์ในการปฏิบัติหน้าที่คนใครหลายคนต่างรู้จัก แต่นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 คุณธาริตได้ถูกลงโทษ ปลดออกจากราชการ ในข้อหาร่ำรวยผิดปกติ ก่อนที่ชีวิตจะพลิกผันอีกครั้ง ถูกสั่งจำคุกในปี พ.ศ.2561 ในคดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ แจ้งข้อหา ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ เหตุสลายการชุมนุม นปช. เมื่อปี พ.ศ.2553
วันนี้ทีมงานไทยเกอร์ จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ ธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และผลงานในอดีตที่ผ่านมา ขอบอกเลยว่าไม่ธรรมดา เพราะคุณธาริตเป็นถึงอดีตอธิบดี DSI ที่มีส่วนสำคัญในการดำเนินคดีทางการเมืองอีกหลายคดี ฉะนั้นใครพร้อมแล้วไปรู้จักกับคุณธาริต กันได้เลย
เปิดประวัติ “ธาริต เพ็งดิษฐ์” ชีวิตสุดพลิกผัน อธิบดีDSI-ต้องคดี-ถูกริบเครื่องราช
ธาริต เพ็งดิษฐ์ เกิดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2501 ปัจจุบันอายุ 65 ปี เป็นคน อ.นโมรมย์ จ.ชัยนาท แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า เขามีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า ‘เบญจ’ ซึ่งหลวงพ่อฤาษีสิงดำ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี เป็นผู้ตั้งให้ เพื่อเป็นการแก้เคล็ด ที่เมื่อแรกเกิด เขามีร่างกายไม่แข็งแรง ต้องอยู่ในตู้อบที่โรงพยาบาลนานถึง 3 เดือน และได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น ‘ธาริต’ เมื่อตอนอายุ 35 ปี ตามหลักทักษาปกรณ์ตามความเชื่อของโหราศาสตร์ไทย
ด้านการศึกษา นายธาริต เพ็งดิษฐ์ จบการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จากนั้นเข้าศึกษาต่อในคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่ด้วยความไม่ชอบ และไม่พึงพอใจในระบบโซตัส เขาจึงย้ายไปเรียนคณะนิติศาสตร์ และได้จบปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ต่อมาปี พ.ศ. 2526 เป็นเนติบัณฑิตไทย และปี พ.ศ. 2532 ปริญญาโท นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เส้นทางการทำงานของนายธาริต เริ่มต้นด้วยการเป็นผู้ช่วยอาจารย์สอนกฎหมาย จนกระทั่งได้พบกับนายคณิต ณ นครในฐานะอาจารย์พิเศษ จึงแนะนำให้ธาริตไปสอบอัยการหลังเรียนจบนิติศาสตร์มหาบัณฑิต และธาริตก็สอบได้เป็นอัยการ จนกระทั่งพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ได้ระดมนักกฎหมายหลายคน เช่น นายคณิต ณ นคร, นายเรวัติ ฉ่ำเฉลิม ร่วมก่อตั้งพรรค มีนายธาริตรวมอยู่ด้วย
ภายหลังจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เขาดำรงตำแหน่งเลขาธิการของหน่วยงานนี้เป็นคนแรก
เมื่อมีการจัดตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ธาริตได้โอนมาดำรงตำแหน่งรองอธิบดี และต่อมาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ จนกระทั่งได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษแทน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ธาริต เป็นหนึ่งในคณะกรรมการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เมื่อครั้งมีการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี พ.ศ.2553 แต่ไม่ได้เป็นคณะกรรมการด้านยุทธการ นอกจากนี้ยังมีส่วนสำคัญในการดำเนินคดีทางการเมืองอีกหลายคดี
ในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 เขารับคำร้องที่พรรคเพื่อไทยฟ้องร้องถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนเพื่อเอาผิดต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ต่อมาในวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2566 ได้มีการประกาศกรมสอบสวนคดีพิเศษ เรื่อง มติคณะกรรมการคดีพิเศษให้คดีความผิดทางอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษ โดยมีมตว่ารับกรณี สุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวก ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาสืบเนื่องจากการชุมนุทางการเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นคดีพิเศษ
ในระหว่างเหตุการณ์วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ.2556-2557 ธาริตเป็นกรรมการในศูนย์รักษาความสงบในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินและผู้ช่วยเลขานุการ ในวันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2557
คุณธาริต ได้รับการต่ออายุราชการภายหลังเกษียณอายุราชการในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ณ ขณะนั้นเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เนื่องจาก ถวิล เปลี่ยนศรี ถูกโยกย้ายเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นกรรมการและเลขานุการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศฉอ.) แต่ธาริต เพ็งดิษฐ์ กลับได้ต่ออายุราชการทั้ง ๆ ที่เป็นกรรมการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
เช่นเดียวกับปี พ.ศ. 2557 หลังการยึดอำนาจการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้รับคำสั่งให้ย้ายไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และยังได้รับการแต่งตั้งเป็น เลขานุการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ในช่วงระหว่างวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2557 ถึง 19 พฤษภาคม พ.ศ.2557
ภายหลังการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ.2557 เขาถูกย้ายไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ ในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2560 ในข้อหาร่ำรวยผิดปกติ
อย่างไรก็ตาม ในคดีถูกฟ้องข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณี ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ ศาลได้ออกหมายจับนายธาริต เหตุไม่มาฟังคำพิพากษาศาลฎีกา และศาลฎีกา ได้เลื่อนคำอ่านคำพิพากษามาแล้วถึง 8 ครั้ง ในแต่ละครั้ง นายธาริต จะส่งทนายความ พร้อมยื่นในรับรองแพทย์ ขอเลื่อนฟังคำพิพากษาศาลฎีกาออกไป เนื่องจากป่วย ทั้งโควิด และผ่าตัดนิ่วในไต
ซึ่งศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายธาริต จำเลยที่ 1 ขอเลื่อนฟังคำพิพากษาฎีกาโดยอ้างว่าป่วยมาแล้วหลายครั้งนานกว่า 1 ปี มีเจตนาประวิงคดีให้ล่าช้า และมีพฤติการณ์หลบหนี จึงให้ออกหมายจับนายธาริต เพื่อมาฟังคำพิพากษาฎีกา และนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา
ในวันที่ 16 มิถุนายน 2566 ศาลได้นัดอ่านคำพิพากษา เป็นครั้งที่ 9 และนายธาริต เพ็งดิษฐ์ ก็ขอเลื่อนฟังคำสั่งศาล เพราะป่วยกระทันหันอีกครั้ง