“อิ๊งค์” โยนให้กระทรวง บอกแจงแล้ว เรื่องเขมรสอดไส้ชุดไทยงานแต่ง

อิ๊งค์ โยนให้กระทรวงวัฒนธรรม บอกแจงแล้ว กรณีที่เรื่องเขมรสอดไส้ชุดไทยงาน ยื่นขึ้นทะเบียนมรดกโลกของ UNESCO
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.วัฒนธรรม เดินทางเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผู้สื่อข่าวถามกรณีกัมพูชา เรียกร้องให้ไทยคืนวัตถุโบราณ 20 ชิ้น โดยจะออกค่าใช้จ่ายเอง หากไม่มีงบประมาณ ซึ่งทาง น.ส.แพทองธาร ได้หันมาถามว่านึกว่าจะถามเรื่องชุดไทย
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีของชุดไทย ที่กัมพูชาสอดแทรกขึ้นทะเบียนมรดกโลกในการแต่งงานแบบโบราณของกัมพูชา ไทยจะทำหนังสือทักท้วงเรื่องนี้หรือไม่โดย น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมได้แถลงเรื่องนี้ไปเมื่อช่วงเช้าวันนี้แล้ว
จากนั้นรมว.วัฒนธรรม แวะเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์สินค้าจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ “Taste of Southern อัตลักษณ์พื้นถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่มาจัดแสดงบริเวณโถงตึกบัญชาการ โดยอุดหนุนสินค้าเป็นผ้าซาตินสองผืนลายพระราชทานสิริราชพัสตราภรณ์
ทั้งนี้ นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้เปิดเผยว่า องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ยืนยันว่า รายการ “ชุดไทย: ความรู้ งานช่างฝีมือ และแนวปฏิบัติการแต่งกายชุดไทยประจำชาติ” (Chud Thai: The Knowledge, Craftsmanship and Practices of the Thai National Costume) จะถูกบรรจุเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intergovernmental Committee for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) ครั้งที่ 21 ในปี 2569
การเสนอดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายส่งเสริม Soft Power และการอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ดำเนินการมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ขึ้นบัญชีระดับชาติแล้ว 396 รายการ โดย “ชุดไทยพระราชนิยม” ได้รับการขึ้นทะเบียนในระดับชาติเมื่อปี 2566 และรัฐบาลได้มีมติให้เสนอขึ้นทะเบียนในระดับนานาชาติต่อยูเนสโกในปี 2567
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมกล่าวว่า ชุดไทยเป็นเครื่องแต่งกายประจำชาติที่สะท้อนอัตลักษณ์ของไทย โดยเฉพาะ “ชุดไทยพระราชนิยม” ซึ่งได้รับการฟื้นฟูจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อทรงใช้ในโอกาสสำคัญและสะท้อนภาพลักษณ์ความเป็นไทยในระดับนานาชาติ โดยชุดไทยได้ถูกนำมาใช้ในโอกาสต่างๆ เช่น งานพระราชพิธี และพิธีแต่งงานของไทย
นอกจากนี้ นายประสพยังได้กล่าวถึงกรณีข่าวลือในสื่อสังคมออนไลน์ที่อ้างว่ากัมพูชาเตรียมเสนอ “ประเพณีแต่งงาน” ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรม และจะมีการสอดแทรก “ชุดไทย” ในรายการดังกล่าว ว่าการตรวจสอบจากกระทรวงวัฒนธรรมพบว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง และยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่ากัมพูชาใช้ชุดไทยในประเพณีแต่งงานแบบเขมร
เขายังย้ำว่า การเสนอขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ไม่ใช่การแสดงความเป็นเจ้าของเหนือวัฒนธรรมใด แต่เป็นการส่งเสริมการสืบทอดคุณค่าทางวัฒนธรรมในแต่ละชุมชน โดยยูเนสโกสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ เสนอรายการวัฒนธรรมของตนอย่างโปร่งใส ภายใต้การเคารพและร่วมมือกันในความหลากหลาย ซึ่งสามารถเสนอลงทะเบียนร่วมกันได้เช่นในกรณีของชุดแต่งกายเคบายา (Kebaya) และโขนไทยกับลครโขลของกัมพูชา
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมได้เชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมกันสนับสนุนการขึ้นทะเบียน “ชุดไทย” และ “มวยไทย” ซึ่งอยู่ในกระบวนการพิจารณาของยูเนสโกในปี 2569 และ 2571 ตามลำดับ เพื่อให้ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนในระดับนานาชาติต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ชุดไทย จ่อขึ้นทะเบียนยูเนสโก ดราม่า เขมรส่ง งานแต่งสอดไส้ “ชุดไทย” ชนกัน
- เปิด 4 เหตุผล งานแต่งเขมรสอดไส้ชุดไทย มีโอกาสยื่นยูเนสโกผ่านสูง รู้แล้วมีอึ้ง
- กัมพูชา รับไม่ได้ “แพทองธาร” สั่งระงับส่งคืนวัตถุโบราณ บอกไม่มีงบ
ติดตาม The Thaiger บน Google News: