ข่าวการเมือง

ไอซ์ รักชนก แฉงบที่จอดรถสภา 4.6 พันล้าน แพงกว่าตึก สตง. ถามอิฐทำด้วยทองเหรอ

สส.ไอซ์ รักชนก พรรคประชาชน ตั้งคำถามแรง งบสร้างที่จอดรถรัฐสภา แพงมหาศาลกว่า 4,600 ล้านบาท จี้ ครม.แพทองธาร คิดหนักก่อนอนุมัติ

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม 2568 เฟซบุ๊ก เพจ สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าวรายงานว่า ไอซ์ รักชนก ศรีนอก สส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาชน ออกมาตั้งข้อสังเกตอย่างเผ็ดร้อนต่อโครงการก่อสร้างอาคารที่จอดรถแห่งใหม่ของรัฐสภา ซึ่งมีมูลค่าสูงถึงเกือบ 4,600 ล้านบาท เปรียบเทียบกับอาคารสำคัญของหน่วยงานอื่นที่ใช้งบประมาณน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด

สส. รักชนก ได้แชร์โพสต์ของ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเดียวกัน ซึ่งเปิดเผยข้อมูลว่า สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้วางเป้าหมายใช้งบประมาณก่อสร้างอาคารที่จอดรถเป็นเงินสูงถึง 4,588 ล้านบาท พร้อมตั้งงบประมาณสำหรับการจ้างออกแบบไว้อีก 104.5 ล้านบาท ทั้งที่โครงการดังกล่าวยังไม่ปรากฏในแผนงบประมาณปี 2567-2568

เปรียบเทียบงบประมาณดังกล่าวกับอาคารสำนักงานอื่น ๆ อย่างน่าสนใจว่า ตึก สตง. (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน) ซึ่งเป็นอาคารสูง 30 ชั้น ภายในตกแต่งด้วยวัสดุราคาสูง ใช้งบประมาณเพียง 2,300 ล้านบาท ส่วน ตึก กสทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ซึ่งมีหลายอาคารและรวมที่จอดรถถึง 2 ตึก ใช้งบประมาณรวม 2,600 ล้านบาท

สส.ไอซ์ รักชนก ถาม รัฐบาล ไม่ตอบ
สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว

” ตึกจอดรถของสภา 4,600 ล้านบาท ก้อนอิฐทำด้วยทอง ผนังฉาบด้วยไวเบรเนียนหรือเปล่า” ไอซ์ รักชนก กล่าว

นอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นถึงกระบวนการอนุมัติงบประมาณ โดยระบุว่า โครงการที่ใช้งบประมาณแผ่นดินผูกพันเกิน 1,000 ล้านบาท จำเป็นต้องผ่านมติความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากมีผลกระทบต่อภาพรวมงบประมาณจำนวนมาก พร้อมทั้งจับตามองไปยัง ครม. ภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ว่าจะอนุมัติโครงการที่จอดรถมูลค่ามหาศาลนี้หรือไม่ ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน

> คลิกอ่านข้อมูลฉบับเต็ม<

เรื่อง ประกาศผู้ชนะการเสนอราคา จ้างออกแบบก่อสร้างอาคารจอดรถของอาคารรัฐสภาตามแนวถนนสามเสน โดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป

สส. ไอซ์ รักชนก ทิ้งท้ายด้วยการเชิญชวนให้ประชาชนร่วมพิจารณาว่า โครงการมูลค่า 4,600 ล้านบาทนี้ แท้จริงแล้วเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ใครกันแน่ ระหว่างประชาชนผู้เสียภาษี กับกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง

สส.ไอซ์ รักชนก ถาม งบสร้างที่จอดรถแพงกว่า ตึก สตง. อีกด้วยนะ
สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว

สำหรับโพสต์ของนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า

“[ เปิดเอกสาร: รัฐสภาเดินหน้าจ้างบริษัทออกแบบอาคารที่จอดรถ ด้วยงบประมาณ 104.5 ล้านบาท ทั้งที่ไม่ปรากฏโครงการใน พ.ร.บ. งบประมาณ 2567 & 2568 ที่สภาอนุมัติ ]

ในบรรดา 15 โครงการของอาคารรัฐสภาที่ผมได้แชร์ก่อนหน้านี้ โครงการที่มีมูลค่าสูงที่สุด คือ “โครงการก่อสร้างอาคารจอดรถรัฐสภา (เพิ่มเติม)” ซึ่งมีการวางเป้าว่าจะใช้งบประมาณทั้งหมด 4,588 ล้านบาท โดยทางหน่วยงานมีการทำคำขอไว้ที่ 1,529 ล้านบาท สำหรับ งบ 69

แม้โครงการดังกล่าว ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 2569 โดย ครม. แต่เป็นที่ชัดเจนว่าหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทางหน่วยงานมีความประสงค์จะเดินหน้าโครงการนี้ต่อไปอย่างแน่นอน เพราะเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ที่ผ่านมา ทางหน่วยงานเพิ่งได้มีการประกาศผู้ที่ชนะการเสนอราคา (กิจการค้าร่วม กลุ่มบริษัท AGCC) สำหรับการจ้างออกแบบก่อสร้างอาคารจอดรถดังกล่าว ด้วยงบประมาณ 104.5 ล้านบาท ทั้งๆ ที่รายการดังกล่าว (เท่าที่ผมได้ตรวจสอบ) ไม่เคยปรากฎอยู่ใน พ.ร.บ. งบประมาณ 2567 หรือ 2568 เลย ( https://shorturl.at/Kfmni )

แม้ผมเข้าใจว่าประชาชนจำนวนไม่น้อย เผชิญกับปัญหาเรื่องการหาที่จอดรถที่สภา (เช่น เจ้าหน้าที่สภา หน่วยงานที่มาชี้แจง ประชาชนที่มาทำธุระที่สภา) แต่ด้วยขนาดของโครงการ ผมเห็นว่าการพิจารณาต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์และชี้แจงต่อคำถามดังต่อไปนี้ เป็นอย่างน้อย

1. หน่วยงานควรบริหารพื้นที่อาคารจอดรถที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูง (เช่น การหยุดกันพื้นที่จอดรถมากเกินจำเป็น) ก่อนที่จะไปพิจารณาลงทุนก่อสร้างอาคารจอดรถเพิ่มเติม – คำถามคือเราได้ทำการศึกษาแล้วหรือยัง ว่าข้อมูลสถิติเรื่องจำนวนที่จอดรถ (supply) และความต้องการ (demand) ที่ผ่านมา เป็นเช่นไร และเรามีทางเลือกอะไรบ้างในการเพิ่มการใช้ประโยชน์จากที่จอดที่มีอยู่แล้ว?

2. หน่วยงานควรต้องย้อนกลับไปตรวจสอบแบบเดิมของอาคารรัฐสภาก่อน ว่าได้มีการคาดการณ์เรื่องจำนวนที่จอดรถและความต้องการไว้ที่เท่าไหร่ เหตุใดถึงเกิดข้อผิดพลาดที่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องจำนวนที่จอดรถเมื่อมีการเริ่มใช้งานอาคารอย่างเต็มรูปแบบ และ (หากมาจากข้อผิดพลาด) ฝ่ายไหนจะต้องรับผิดชอบอย่างไร?

3. หน่วยงานควรต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างรอบคอบ โปร่งใส และสร้างการมีส่วนร่วมกับทุกๆฝ่าย แต่เหตุใด หน่วยงานถึงได้มีการเดินหน้าเรื่องการจ้างบริษัทออกแบบ ทั้งๆที่ไม่ปรากฎใน พ.ร.บ. งบประมาณ 2567 & 2568 ที่สภาผู้แทนราษฎรอนุมัติ (ซึ่งเข้าใจว่าหน่วยงานคงใช้กลไกการโอนงบประมาณมาจากโครงการอื่น ผ่านการทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ หรือ ขอความเห็นชอบจาก ครม.?)?

ประเด็นเหล่านี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทางผม และ กมธ. จะสอบถาม และคาดหวังจะได้คำตอบที่ชัดเจนในการประชุม กมธ. พัฒนาการเมืองฯ กับตัวแทนสภา วันพฤหัสบดีนี้”

ข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง : สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว

ติดตาม The Thaiger บน Google News:

0 0 โหวต
Article Rating
สมัครรับข้อมูล
แจ้งเตือนเกี่ยวกับ
0 Comments
เก่าแก่ที่สุด
ใหม่ล่าสุด ถูกโหวตมากที่สุด
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button
0
เราอยากทราบความคิดเห็นของคุณ โปรดแสดงความคิดเห็นx