เศรษฐกิจ

ทำไม ‘ภูเก็ต’ เป็นจังหวัดเดียวของไทยที่เป็นเกาะ?

เจาะลึกประวัติศาสตร์การปกครองไทย การก่อรูป “จังหวัดภูเก็ต” จาก จังซีลอน เมืองถลาง เกาะที่คับคั่งในฐานะเมืองท่าค้าขาย สู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก

ประเทศไทยในปัจจุบันมี 77 จังหวัด แต่ละจังหวัดมีลักษณะภูมิประเทศ บริบททางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันออกไป ในการขีดเส้นกันอาณาเขต หากพิจารณาจากแผนที่ เราจะพบว่ามีเพียงภูเก็ต เท่านั้นที่เป็นจังหวัดซึ่งมีพื้นที่เป็น “เกาะทั้งจังหวัด” ไม่มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดอื่นโดยตรง จึงทำให้เกิดคำถามว่า เหตุใดภูเก็ตจึงเป็นจังหวัดเดียวของไทยที่เป็นเกาะ ทั้งที่ไทยยังมีเกาะขนาดใหญ่อื่น ๆ อีกหลายแห่ง เช่น เกาะสมุย หรือเกาะช้าง

คำตอบของคำถามนี้ต้องย้อนกลับไปสู่การพัฒนาระบบการปกครองไทยในอดีต โดยเฉพาะช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นถึงกลาง ที่ระบบการปกครองไทยค่อย ๆ เปลี่ยนจากรูปแบบ “หัวเมือง” สู่การเป็น “จังหวัด” อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน

ระบบการปกครองของไทยก่อนยุครัตนโกสินทร์ใช้โครงสร้างแบบศักดินากับหัวเมือง โดยแบ่งดินแดนออกเป็นเมืองหลวง (พระนคร) เมืองชั้นใน เมืองชั้นนอก และเมืองประเทศราช

เมืองแต่ละแห่งจะมีเจ้าเมือง เป็นผู้ปกครองตามพระราชอำนาจที่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมจากกษัตริย์ ตัวอย่างเช่น เมืองนครศรีธรรมราช เมืองพิษณุโลก ฯลฯ ซึ่งเมืองเหล่านี้มีอิสระพอสมควรในการจัดการภายใน แต่ต้องส่งส่วยและแรงงานไพร่ไปช่วยงานราชการเมื่อพระนครร้องขอ

เมื่อสยามเริ่มเผชิญภัยจากลัทธิล่าอาณานิคมในศตวรรษที่ 19 รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นความจำเป็นในการปฏิรูประบบการปกครองเพื่อให้รัฐมีเอกภาพ สามารถควบคุมหัวเมืองต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การจัดตั้งเทศาภิบาล จึงเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2435 โดยตั้งมณฑลขึ้น เช่น มณฑลพายัพ มณฑลนครศรีธรรมราช ฯลฯ แบ่งหัวเมืองออกเป็นเขตการปกครองย่อยของมณฑล

ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่สองได้เพียงเจ็ดปี ได้ยกเลิกระบบมณฑล เปลี่ยนเมืองต่าง ๆ ให้เป็น “จังหวัด” ทั้งหมด โดยโครงสร้างนี้ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดการปกครองสมัยใหม่ของตะวันตก และเป็นรากฐานของระบบจังหวัดในปัจจุบัน

ภูเก็ต ในยุคหัวเมืองจากเมืองตะกั่วป่าถึงเขตปกครองตนเอง

ในอดีต ภูเก็ตไม่ได้มีฐานะเป็นจังหวัดแยกต่างหาก หากแต่เป็นเพียงหัวเมืองหนึ่งในกลุ่มหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันตกที่เรียกว่า “เมืองถลาง” เมืองถลางมีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากเป็นแหล่งแร่ดีบุกที่สำคัญ เป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการเดินเรือ

คำว่า ภูเก็ต คาดว่าน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า บูกิต ในภาษามลายูแปลว่าภูเขา ซึ่งนักเดินเรือมาถึงจะเห็นภูเขาสูงตั้งตระหง่านบนเกาะ ส่วนอีกชื่อเรียกที่คนโบราณเรียกคือ จังซีลอน

เมืองถลางมีชื่อเสียงมากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 จากวีรกรรมของย่ามุกย่าจัน ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร” ที่รวบรวมไพร่พลป้องกันเมืองจากการรุกรานของกองทัพพม่าในปี พ.ศ. 2328 จนสามารถรักษาเมืองถลางไว้ได้

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการรวมเมืองถลาง เมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่ง เข้าด้วยกันเป็นมณฑลภูเก็ต โดยจัดเป็นศูนย์กลางด้านการปกครองและเศรษฐกิจของชายฝั่งทะเลอันดามัน

เมื่อมีการยกเลิกระบบมณฑลเทศภิบาลอย่างสิ้นเชิงในปี พ.ศ. 2476 ภูเก็ตจึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น จังหวัดภูเก็ต โดยมีเขตการปกครองทั้งหมดอยู่บนเกาะภูเก็ต เกาะนี้เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีพื้นที่ประมาณ 543 ตารางกิโลเมตร แต่อยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่น้อยมาก เชื่อมต่อกับพังงาด้วยสะพานสารสิน

เหตุผลที่ ภูเก็ต กลายเป็นจังหวัดเดียวที่เป็นเกาะทั้งหมด

เป็นผลจากการที่เกาะภูเก็ตมีขนาดใหญ่พอจะปกครองตัวเองได้ มีเศรษฐกิจใหญ่มากพอโดยเฉพาะในยุคแร่ดีบุก และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันที่เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก จึงไม่จำเป็นต้องผนวกรวมเข้ากับจังหวัดอื่น เช่นรวมกับพังงา เพื่อพึ่งพิงทรัพยากรและสาธารณูปโภคพื้นฐาน

ต่างจากเกาะอื่น ๆ เช่น เกาะสมุย ที่แม้จะมีขนาดใหญ่ แต่ก็ถูกนับรวมในเขตการปกครองของจังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือเกาะช้าง ที่อยู่ในจังหวัดตราด เพราะขนาดและศักยภาพทางเศรษฐกิจไม่ถึงขั้นเป็นจังหวัดได้ด้วยตนเอง

ในปัจจุบัน จังหวัดภูเก็ตมี 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองภูเก็ต อำเภอกะทู้ และอำเภอถลาง เป็นจังหวัดที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงสุดของประเทศ มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ทั้งด้านเศรษฐกิจ เดือนสิงหาคม 2567 เพียงเดือนเดียว ทำรายได้จากการท่องเที่ยวเข้าประเทศได้ 33,843.66 ล้านบาท สูงสุดเป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพมหานคร

รายได้เมืองท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต
ภาพจาก: ศูนย์ข้อมูลภูเก็ต Phuket Info Center

ในแง่ประชากร เป็นจังหวัดที่มีประชากรหลากหลายที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก ศูนย์กลางเศรษฐกิจในภูมิภาคอันดามัน

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีประชากรตามทะเบียนราษฎร์ ประมาณ 416,000 คน แต่คาดว่ามีประชากรแฝงสูงถึง 4 แสนคน เป็นแรงงานจากต่างจังหวัด เช่น พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี ฯลฯ แรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะชาวเมียนมา ลาว และกัมพูชา ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานหรือพำนักระยะยาว เช่น ชาวรัสเซีย จีน ยุโรป

ปี 2566 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าภูเก็ต พำนักชั่วคราวมากกว่า 9 ล้านคน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button