ด่วน ยกฟ้อง 4 กรรมการ กสทช. คดีปลด ไตรรัตน์ ยันทำตามหน้าที่

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลาง ยกฟ้อง 4 กรรมการ กสทช. คดีปลด ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล พ้นรักษาการเลขาฯ เหตุพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ไม่มีพฤติกรรมใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 8 เมษายน 2568 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีนัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อท 155/2566 ที่นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการและรักษาการเลขาธิการ กสทช. เป็นผู้ยื่นฟ้องกรรมการ กสทช. 4 คน กับรองเลขาธิการอีก 1 คน รวม 5 คน ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีลงมติปลดเขาออกจากตำแหน่งรักษาการเลขาธิการ
จำเลยในคดีนี้ประกอบด้วย
- พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ
- ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต
- รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย
- รศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์
- ผศ.ดร.ภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ
ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องทั้งหมด โดยระบุว่า พยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักมากพอจะเอาผิดได้ และการกระทำของจำเลยทั้ง 5 คน ยังอยู่ในขอบเขตของอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย
สาเหตุของคดีนี้ เริ่มจากคำสั่งลับ กสทช. ที่ 7/2566 ลงวันที่ 23 มกราคม 2566 ที่มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นเพื่อตรวจสอบการใช้เงิน 600 ล้านบาทจากกองทุนวิจัยและพัฒนา (กทปส.) สำหรับซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 โดยมีจำเลยที่ 1 ถึง 3 เป็นผู้เสนอชื่อคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว
ต่อมามีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า การตั้งคณะอนุกรรมการอาจไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด และละเมิดมติของที่ประชุม กสทช. รวมทั้งข้อเสนอแนะจากการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)
เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566 คณะอนุกรรมการฯ ได้สรุปรายงานลับ ระบุว่า การดำเนินการของสำนักงาน กสทช. อาจฝ่าฝืนกฎหมาย โดยกรรมการ กสทช. 4 คนเห็นพ้องกับรายงานนี้ ส่วนอีก 2 คนงดออกความเห็น นายไตรรัตน์มองว่า รายงานดังกล่าวเป็นเพียง “ความเห็นลอย ๆ” ไม่มีน้ำหนักทางกฎหมาย
ในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 13/2566 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 รายงานดังกล่าวถูกบรรจุไว้ในระเบียบวาระ 5.22 และที่ประชุมมีมติให้ตั้งกรรมการสอบสวนวินัย พร้อมปลดนายไตรรัตน์ออกจากตำแหน่งรักษาการเลขาธิการจนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น
นายไตรรัตน์เห็นว่า การกระทำดังกล่าวขัดต่อระเบียบ กสทช. ข้อ 21 และ 29 ซึ่งระบุว่า กรรมการไม่มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยโดยลำพัง นอกจากนี้ยังอ้างว่า เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพอย่างมาก เพราะข่าวเรื่องการปลดแพร่หลายไปในวงกว้าง
แม้ผู้พิพากษาในองค์คณะจะมีความเห็นแตกต่างกัน แต่โดยสรุป ศาลเห็นว่าการกระทำของกรรมการ กสทช. ทั้ง 4 ราย และรองเลขาธิการอีก 1 ราย ยังอยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่มีพฤติกรรมใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ
พยานหลักฐานที่ฝ่ายโจทก์นำเสนอ ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ศาลจึงมีคำพิพากษา “ยกฟ้อง” จำเลยทั้ง 5 ราย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กสทช. สั่ง ทีวีทุกช่อง ต้องตัดเข้าสด “ทีวีพูล” ทันที ถ่ายทอดเหตุสำคัญ
- สารี เผย คนในขอ “พิรงรอง” สละเก้าอี้ กสทช. แลกถอนฟ้องทุกคดี
- เปิดสาเหตุ ศาลสั่งจำคุก พิรงรอง 2 ปี ใช้คำ ตลบหลัง-ล้มยักษ์ เจตนากลั่นแกล้ง ทรู