ข่าวอาชญากรรม

บุกจับ ‘บุรพล’ หนุ่มไทยขายชาติ ฟอกเงินให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตุ๋นเพื่อนร่วมชาติวันละ 30 ล้าน

ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) รายงาน บุกจับนายบุรพล หนุ่มชาวไทยบนดอยแม่สลอง ฐานร่วมมือกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตุ๋นเงินคนไทยกว่า 70 แก๊ง ฟอกเงินมหาศาลกว่า 30 ล้านบาทต่อวัน

การจับกุมครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากตำรวจได้รับแจ้งจากอดีตข้าราชการท่านหนึ่ง ซึ่งถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกเอาเงินไปกว่า 10 ล้านบาท ตำรวจจึงเร่งสืบสวนแกะรอย จนสามารถจับกุมผู้ร่วมขบวนการได้หลายราย ตั้งแต่คนเปิดบัญชีม้า คนหาบัญชีม้า พนักงานคอลเซ็นเตอร์ ล่าม นายทุนชาวจีน รวมถึงเครือข่ายลักลอบพาคนเปิดบัญชีม้าข้ามชายแดน

ต่อมา ตำรวจได้ส่งสายลับเข้าไปในออฟฟิศที่ทำหน้าที่ฟอกเงินให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตั้งอยู่ที่ปอยเปต ประเทศกัมพูชา ทำให้ทราบว่านายบุรพลเป็นตัวการสำคัญในการฟอกเงิน จึงได้ออกหมายจับ แต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ทางการไทยปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างหนัก ทำให้ออฟฟิศฟอกเงินต้องปิดตัวลง นายบุรพลจึงหนีกลับมาไทย และถูกตำรวจจับกุมได้ในที่สุด

จากการสอบสวน นายบุรพลรับสารภาพว่า ทำงานเป็นพนักงานในออฟฟิศฟอกเงิน โดยมีนายทุนชาวจีนเป็นหัวหน้า ทำหน้าที่ฟอกเงินให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์กว่า 70 แก๊ง โดยนายบุรพลจะได้ส่วนแบ่ง 8-12% จากเงินที่ฟอกได้ ซึ่งแต่ละวันมีเงินหมุนเวียนกว่า 30 ล้านบาท

นายบุรพลเริ่มทำงานนี้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 โดยมีหน้าที่แปลภาษา ตรวจสอบบัญชีม้า และโอนเงิน โดยทุกวันจะมีบัญชีม้าชาวไทยประมาณ 20 คน ถูกพาตัวข้ามชายแดนมาที่ออฟฟิศ เพื่อรับเงิน 8,000 – 12,000 บาทเป็นค่าเปิดบัญชี จากนั้น นายบุรพลจะโอนเงินจากบัญชีม้าเหล่านี้ ไปเป็นเงินดิจิทัล ก่อนจะโอนเข้าบัญชีของนายทุนชาวจีน เพื่อกระจายต่อไปยังแก๊งคอลเซ็นเตอร์ต่าง ๆ

การจับกุมนายบุรพลถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญ ในการทลายเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และตัดวงจรการฟอกเงิน ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับคนไทยจำนวนมาก

ทั้งนี้ การฟอกเงิน (Money Laundering) คือกระบวนการเปลี่ยนเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากกิจกรรมผิดกฎหมายให้ดูเหมือนเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากแหล่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย เป้าหมายคือต้องการปิดบังที่มาของเงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเหล่านั้นไว้ในระบบเศรษฐกิจปกติ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ยากหรือแทบจะตรวจสอบไม่ได้

ขั้นตอนของการฟอกเงินโดยทั่วไปสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ได้แก่

นำเงินสดที่ได้มาจากกิจกรรมผิดกฎหมายฝากเข้าในธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น ๆ หรืออาจลงทุนในทรัพย์สินที่เคลื่อนไหวได้ง่าย เช่น ทองคำ หรืออสังหาริมทรัพย์ ร้านอาหาร

จากนั้น โยกย้าย เปลี่ยนมือ หรือโอนเงินผ่านบัญชีหลาย ๆ แห่ง หรือหลายประเทศ เพื่อซ่อนร่องรอยของเงิน ตัดการเชื่อมโยงว่ามาจากกิจกรรมผิดกฎหมาย สืบหาต้นทางของเงินที่แท้จริงไม่ได้

เมื่อเงินผ่านการโยกย้ายหลายขั้นตอนจนตรวจสอบยากแล้ว ผู้กระทำผิดจะนำเงินนั้นกลับมาใช้ในระบบเศรษฐกิจอย่างถูกกฎหมาย เช่น ลงทุนในธุรกิจ หรือซื้อทรัพย์สินต่าง ๆ เพื่อให้ดูเหมือนเป็นรายได้สุจริต

กล่าวโดยสรุป การฟอกเงินคือการพยายาม “ล้าง” เงินผิดกฎหมายให้กลายเป็นเงินที่ดูโปร่งใส ด้วยการซ่อนแหล่งที่มาและสร้างเอกสารหรือธุรกรรมต่าง ๆ ให้เสมือนเป็นเงินที่หามาได้อย่างถูกต้อง ผลที่ตามมาคือเศรษฐกิจและระบบการเงินจะขาดความน่าเชื่อถือ และมีความเสี่ยงต่อการถูกใช้เป็นช่องทางสนับสนุนอาชญากรรมในรูปแบบอื่น ๆ ต่อไปได้อีกด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button