นักบินสาว คืนรันเวย์ หลังเฉียดตาย ผ่าตัด 8 อวัยวะ สยบมะเร็งหายาก
นักบินสาว เฟย์ หลุยส์ อัปเดตหลังจากผ่าตัดใหญ่ หายจากมะเร็งหายากและพักฟื้นร่วมปี ล่าสุดกลับทำงานเป็นผู้ช่วยการบิน และยังคงช่วยระดมทุนให้กับการวิจัยมะเร็ง
เมื่อปี 2023 เฟย์ หลุยส์ นักบินสาวจากเมืองฮอร์แชม มณฑลเวสต์ซัสเซ็กซ์ ในสหราชอาณาจักร ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซูโดไมก์โซมา เพอริโตเนีย (Pseudomyxoma peritonei) ซึ่งเป็นมะเร็งหายากที่ทำให้เกิดการสะสมของสารคล้ายเจลในช่องท้อง หลังจากที่เธอเริ่มมีอาการปวดท้องและได้รับการตรวจพบซีสต์ที่รังไข่โดยการตรวจอัลตราซาวด์
หลังจากการผ่าตัดครั้งใหญ่ที่ต้องตัดอวัยวะออกไปถึง 8 ชิ้น ได้แก่ ม้าม ถุงน้ำดี ไส้ติ่ง รังไข่ มดลูก ท่อนำไข่ สะดือ และเนื้อเยื่อไขมันในช่องท้อง (omentum) ทั้งใหญ่และเล็ก รวมทั้งส่วนหนึ่งของตับ เธอได้รับการยืนยันจากแพทย์ว่าเธอหายจากมะเร็งและไม่มีหลักฐานของโรคอีกต่อไป ซึ่งทำให้เธอรู้สึกเหมือนเป็นของขวัญคริสต์มาสที่ดีที่สุดในชีวิต
เฟย์หลุยส์ได้กลับไปทำงานเป็นผู้ช่วยการบินที่สนามบินเกตวิก ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้แรงกายมาก แต่เธอกลับรู้สึกยินดีที่ได้กลับมาทำงานในสิ่งที่เธอรัก โดยกล่าวว่า “งานนี้ค่อนข้างหนักมาก แต่ฉันชอบการบินและฉันดีใจที่ได้กลับมาทำงานในตำแหน่งนี้”
สำหรับผลกระทบที่เกิดจากการผ่าตัด เธอต้องทำการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีในเดือนพฤศจิกายน และในช่วงปีที่ผ่านมา เธอกล่าวว่า “การรอผลการตรวจจะเป็นสิ่งที่กำหนดคริสต์มาสของฉันในทุก ๆ ปี แต่นั่นคือสิ่งที่ต้องทำ เราต้องเดินหน้าต่อไปและไม่ยอมแพ้”
ในขณะที่ฟื้นตัวจากการรักษา เฟย์หลุยส์ยังได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมระดมทุนเพื่อการวิจัยมะเร็งของ Cancer Research UK ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลที่มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาวิธีการรักษามะเร็ง โดยมีโครงการวิจัยหลายด้าน เช่น การพัฒนายาเคมีบำบัดใหม่ การวิจัยเซลล์ต้นกำเนิด และการศึกษามะเร็งในเด็ก
เฟย์ หลุยส์ ยังได้ร่วมกิจกรรมการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ด้วยการนั่งบนเก้าอี้ และถูกด้วยสารเหลวสีส้ม 15 ลิตรในสวนของผับ Red Lyon ที่เมืองสลินโฟลด์ โดยฉากพื้นหลังมีป้ายสีส้มที่เขียนว่า “Now is the time to stand up to Cancer” ถึงเวลาที่เราจะลุกขึ้นสู้กับมะเร็งแล้ว และการเข้าร่วมกิจกรรม “Race for Life” ที่สวนสแตมเมอร์ พาร์ค ในเมืองไบรท์ตันเพื่อระดมทุนให้กับองค์กรการกุศลดังกล่าว
การกลับมาของ เฟย์ หลุยส์อย่างแข็งแกร่งไม่เพียงเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่กำลังเผชิญกับโรคร้าย แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคในชีวิต และการมุ่งมั่นสนับสนุนการวิจัยทางการแพทย์เพื่อช่วยผู้ป่วยมะเร็งในอนาคต
ท่านผู้อ่านสามารถติดตามเธอได้ที่ Instagram @faye.louiseuk และอินสตาแกรมขององค์กร @cr_uk ซึ่งเธอยังคงเดินหน้าสานต่อภารกิจเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง โดยได้ระบุในไบโอของเธอพร้อมแท็กขององค์กรที่เธอสนับสนุนว่า “Pseudomyxoma Survivor / Global Advocate. Global News Coverage. Sharing my story to bring much-needed awareness for PMP rare cancer.” ผู้รอดชีวิตจากโรค pseudomyxoma / การแบ่งปันเรื่องราวของฉันเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับมะเร็งหายาก PMP ที่จำเป็นอย่างยิ่ง
โรคซูโดไมก์โซมา เพอริโตเนีย (PMP) คืออะไร?
โรคซูโดไมก์โซมา เพอริโตเนีย Pseudomyxoma peritonei (PMP) เป็นมะเร็งหายากที่เกิดจากการผลิตมูกในช่องท้อง ซึ่งมักเกิดจากมะเร็งของไส้ติ่ง มะเร็งลำไส้ มะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งตับอ่อน ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดท้อง คลำได้ก้อนบริเวณท้องด้านล่างขวา หรือมีอาการติดเชื้อที่แยกไม่ได้จากอาการไส้ติ่งอักเสบ
การรักษาหลักคือการผ่าตัดลดจำนวนเซลล์มะเร็ง (cytoreductive surgery) ร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดอุณหภูมิสูงทางช่องท้อง (HIPEC) ซึ่งมีอัตราการรอดชีวิต 5 ปีถึงร้อยละ 60-97 เนื่องจากโรคนี้หายากและมักไม่มีอาการเฉพาะ การตรวจสุขภาพประจำปีและการสังเกตอาการผิดปกติของร่างกายเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อการวินิจฉัยและรักษาในระยะเริ่มต้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 7 สัญญาณเตือนมะเร็ง มักมองข้าม หนุ่ม 21 ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง บอกเอง
- ฟังทางนี้ หมอเตือน 5 ปัจจัย ทำหนุ่มสาวเป็นมะเร็ง พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ
- วิจัยชี้ น้ำหนักลดฮวบ หายใจยาก อาหารไม่ย่อย เตือนมะเร็ง เช็กอาการด่วน
อ้างอิง: @faye.louiseuk, @cr_uk, rarediseases, BBC