เริ่มแล้ว ลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปี รับเงินเดือนตามช่วงอายุ เช็กคุณสมบัติ เอกสารการสมัคร และจำนวนเงินที่ได้รับตามลำดับอายุ ดังนี้
เปิดเงื่อนไข ลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ประจำปีงบประมาณ 2569 ผู้ที่ประสงค์ลงทะเบียนต้องเป็นผู้ที่อายุ 60 ปีบริบูรณ์ หรือผู้ที่เกิดก่อนวันที่ 2 ก.ย. 2509 สามารถลงทะเบียนได้ 2 ช่วง ตามเงื่อนไขที่กำหนด เริ่มลงทะเบียนได้ตั้งแต่ ต.ค 67 – ก.ย. 68 โดยได้รับเบี้ยตามขั้นบันได ต้องมีเงื่อนไขผู้สมัคร เอกสารประกอบการสมัคร จำนวนเงินที่ได้รับ ตามรายละเอียดดังนี้
ไทม์ไลน์ลงทะเบียน รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
สำหรับกำหนดการลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ผู้ที่ยังไม่เคยลงทะเบียน และผู้ที่อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ซึ่งเกิดก่อนวันที่ 2 ก.ย. 2509 มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ในกรณีที่ผู้ลงทะเบียนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่เคยลงทะเบียน สามารถลงทะเบียนได้ช่วงแรก คือ เดือนตุลาคม ถึง พฤศจิกายน 2567 และช่วงที่ 2 คือ เดือนมกราคม ถึง กันยายน 68 โดยผู้ที่ลงทะเบียนเสร็จสิ้นแล้วจะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในเดือนตุลาคม 2568 เป็นต้นไป โดยไม่มีการจ่ายเงินย้อนหลัง
ส่วนผู้ที่อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ หรือผู้ที่เกิดก่อนวันที่ 2 ก.ย. 2509 ลงทะเบียนได้ 2 ช่วง คือ เดือนตุลาคม ถึง พฤศจิกายน 2567 และ เดือนมกราคม ถึง กันยายน 2568
คุณสมบัติผู้มีสิทธิลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพ
กระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยผู้ที่จะได้รับเงินเบี้ยผู้สูงอายุ มีเงื่อนไขและคุณสมบัติ ดังนี้
1. บุคคลสัญชาติไทย ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และเกิดก่อนวันที่ 2 กันยายน 2509
2. ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิ ประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น ได้แก่
- ผู้รับเงินบํานาญ เบี้ยหวัด บํานาญพิเศษหรือ เงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน
- ผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐหรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- ผู้ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รายได้ประจํา หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐหรือองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นจัดให้เป็นประจํา
เอกสารสมัครลงทะเบียน
สำหรับผู้ที่ประสงค์จะลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต้องเตรียมเอกสารประกอบการสมัคร เพื่อยืนยันตัวตน ดังนี้
1. บัตรประจําตัวประชาชน หรือ บัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐ ที่มีรูปถ่าย
2. ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน โดยต้องเป็นภูมิลำเนาปัจจุบัน
3. สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ในนามผู้มีสิทธิหรือผู้ได้รับมอบอํานาจ จากผู้มีสิทธิ กรณีประสงค์รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุผ่านธนาคาร
ทั้งนี้ สามารถลงทะเบียนได้ที่สํานักงานเขต หรือองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นที่ผู้สูงอายุมีภูมิลําเนา ในกรณีผู้สูงอายไม่สามารถมาลงทะเบียนด้วยตนเองได้ สามารถมอบอํานาจเป็นลายลักษณ์อักษร ให้ผู้อื่นเป็นผู้ยื่นคําขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแทนได้
ส่วนผู้ที่ต้องการย้ายภูมิลำเนานั้น กรมกิจการผู้สูงอายุขอให้เร่งย้ายที่อยู่โดยเร็ว หากมีการย้ายทะเบียนบ้านต้องลงทะเบียนรับเบี้ยผู้สูงอายุกับสำนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้ย้ายทะเบียนบ้านไป เพื่อรับเบี้ยผู้สูงอายุได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ผู้ที่ลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะได้รับเงินตามเกณฑ์ที่กำหนดแบบขั้นบันได ซึ่งได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในเดือนถัดไปจากเดือนที่อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ตัวอย่างเช่น ผู้สูงอายุที่เกิดในเดือนมีนาคม จะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนถัดไปเป็นเดือนแรก คือเดือนเมษายน
- กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 – 69 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 600 บาท
- กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 – 79 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 700 บาท
- กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 80 – 89 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 800 บาท
- กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 1,000 บาท
ข้อมูลจาก : กรมกิจการผู้สูงอายุ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ลงทะเบียน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2568 คนเก่าต้องลงทะเบียนใหม่ไหม
- ไทม์ไลน์ ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2568 เปิดเงื่อนไข ใครได้บ้าง
- กดเงินสด บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เดือนตุลาคม 2567 ได้กี่บาท