สลด ชายวัย 30 ปี ทำงาน 104 วันติด สุดท้ายกลายเป็นศพ เพราะสาเหตุนี้
ช่างทาสีวัย 30 ปี เสียชีวิตลงหลังทำงานติดต่อกัน 104 วัน และมีวันหยุดเพียงวันเดียว แพทย์วินัจฉัยว่าติดเชื้อที่ปอดและอวัยวะล้มเหลว ศาลสั่งให้นายจ้างชดเชย 1.8 ล้านบาท
วัฒนธรรมการทำงานของจีนกำลังถูกจับตามองอีกครั้ง เมื่อเว็บไซต์ต่างประเทศ scmp รายงานเรื่องราวของ “อาเป่า” ชายวัย 30 ปีเสียชีวิตจากภาวะอวัยวะล้มเหลว หลังจากทำงานติดต่อกัน 104 วัน โดยมีวันหยุดเพียงวันเดียว
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์กวางโจว ระบุว่า ศาลในมณฑลเจ้อเจียงตัดสินให้บริษัทต้องออกเงินชดเชยให้อาเป่าจำนวน 20% เนื่องจากทำงานหนักจนเสียชีวิต โดยพบว่า เขาเสียชีวิตจากภาวะอวัยวะล้มเหลว เนื่องจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัส ซึ่งมักจะเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ โดยเหตุการณ์ดังกล่าวจุดชนวนให้ชาวจีนไม่พอใจเป็นอย่างมาก รวมทั้งเกิดการถกเถียงเกี่ยวกับข้อบังคับและเวลาการทำงาน
ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2566 อาเป่าได้เซ็นสัญญาทำงานเป็นช่างทาสีให้กับบริษัทแห่งหนึ่ง โดยสัญญาดังกล่าวมีกำหนดจนถึงเดือนมกราคมปี 2567 จากนั้นเขาได้รับมอบหมายให้ทำงานในโครงการหนึ่งที่โจวชาน ในมณฑลเจ้อเจียง ทางตะวันออกของจีน
หลังจากเซ็นสัญญาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคมปีที่แล้ว เขามาทำงานทุกวันเป็นเวลา 104 วัน โดยมีวันหยุดเพียงวันเดียวคือวันที่ 6 เมษายน 67 ต่อมาในวันที่ 25 พฤษภาคม เขาลาป่วยเพราะรู้สึกไม่สบายและใช้เวลาทั้งวันพักผ่อนที่หอพัก
ในวันที่ 28 พฤษภาคม อาการของอาเป่าเริ่มทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว เพื่อนร่วมงานจึงรีบส่งตัวเขาไปที่โรงพยาบาล จากนั้นได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อที่ปอดและระบบทางเดินหายใจล้มเหลว จนเสียชีวิตลงในวันที่ 1 มิถุนายน 2567
ในระหว่างการสอบสวนเบื้องต้นเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิต เจ้าหน้าที่ประกันสังคมให้ข้อมูลว่า เขาเสียชีวิตนานกว่า 48 ชั่วโมง จึงไม่สามารถจัดว่าเป็นสาเหตุจากการทำงานได้
เมื่อเป็นเช่นนั้นนั้น ครอบครัวของเขาจึงได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายโดยกล่าวหาว่า นายจ้างประมาทเลินเล่อจนทำให้ลูกจ้างเสียชีวิต ด้านบริษัทกลับแย้งว่าปริมาณงานของอาเป่านั้นอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถทำได้ และเขาสมัครใจที่จะทำงานล่วงเวลาเอง พร้อมให้เหตุผลว่าสาเหตุการเสียชีวิตน่าจะมาจากปัญหาสุขภาพที่มีอยู่ก่อน และไม่ได้รับการรักษาได้ทันเวลา ส่งผลให้อาการของเขาทรุดตัวลง
ศาลจึงตัดสินว่าการที่อาเป่าทำงานหนักติดต่อกันถึง 104 วันถือเป็นการละเมิดกฎหมายแรงงานของจีนอย่างชัดเจน ซึ่งกำหนดให้ทำงานได้สูงสุด 8 ชั่วโมงต่อวัน และเฉลี่ย 44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ด้วยเหตุนี้เองทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของเขาทรุดลง และเสียชีวิตในที่สุด โดยถือว่าบริษัทมีความรับผิดชอบ 20% ต่อการสูญเสียครั้งนี้ ซึ่งศาลได้ตัดสินให้ครอบครัวได้รับเงินชดเชยรวม 400,000 หยวน หรือ 1.8 ล้านบาท นอกจากนี้ยังต้องชดเชยค่าทำขวัญอีก 10,000 หยวน ประมาณ 46,000 บาท
จากนั้นบริษัทได้ยื่นอุทธรณ์คำตัดสิน แต่ศาลประชาชนกลางโจวซาน ยังยืนยันคำตัดสินเดิมในเดือนสิงหาคม ซึ่งคดีนี้กระตุ้นให้เกิดการถกเถียงอย่างกว้างขวางบนโซเชียลมีเดียของจีน
มีผู้เข้ามาให้ความเห็นว่า งานทาสีเป็นงานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ การที่อาเป่าต้องมาเสียชีวิตในวัยอายุ 30 และศาลตัดสินให้จ่ายค่าชดเชยเพียง 400,000 หยวน ถือเป็นสิ่งที่ร้ายแรงมาก ยิ่งกว่านั้นคือบริษัทยื่นอุทธรณ์คำตัดสินเบื้องต้น โดยไม่เห็นใจลูกน้อง และไม่มีมนุษยธรรมขั้นพื้นฐาน
นอกจากนี้ยังมองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งน่าเศร้าใจอย่างมาก เป็นสังคมการทำงานแบบแลกชีวิตเพื่อเงินอย่างแท้จริง ขณะที่มีผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับนายจ้างว่า ค่าชดเชยที่บริษัทต้องให้กับทางตครอบครัวผู้เสียชีวิตนั้นน้อยเกินไป และดูเหมือนว่ากฎหมายแรงงานจะมีไว้เพื่อควบคุมคนงานเท่านั้น
การเสียชีวิตของอาเป่าไม่ใช่เหตุการณ์แรกที่เกิดขึ้นในจีน ย้อนกลับไปในเดือนสิงหาคม 2562 พนักงานคนหนึ่งเสียชีวิตกะทันหันขณะเดินทางกลับบ้านหลังเลิกงาน ภายหลังสืบทราบว่าเขาทำงานตลอดทั้งเดือนกรกฎาคม โดยไม่ได้หยุดพัก อีกทั้งยังทำงานล่วงเวลากว่า 130 ชั่วโมง โดยศาลตัดสินว่านายจ้างต้องรับผิดชอบค่าเสียหาย 30% พร้อมสั่งให้จ่ายเงินชดเชย 360,000 หยวน หรือ 1.6 ล้านบาท
ภาพจาก : scmp
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง