เปิดประวัติ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” นักการเมืองตัวตึง มากฝีมือหลากพรรค
ส่องประวัติ “อ๊อฟ” สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีพ่วงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นักการเมืองมากประสบการณ์สุดโชกโชน
เป็นนิ่งสักทีกับรายชื่อ ครม. ในรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร หลังมีประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการผ่านเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ซึ่งบรรดารายชื่อส่วนมากก็ไม่หลุดโผจากกระแสข่าวก่อนหน้านี้ หนึ่งในนั้นคือ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สังกัดพรรคเพื่อไทย ที่ยังคงตำแหน่งเดิมในยุครัฐบาลเศรษฐา
หลายคนจึงพุ่งเป้าไปที่ชื่อสุริยะว่าทำไมยังอยู่รอดใน ครม. ทั้งที่ตัวเต็งหลายคนอย่าง สุทิน คลังแสง, กรพงษ์ แสงมณี ฯลฯ ยังปลิวกระจุย เดอะไทยเกอร์จึงขอพาย้อนเส้นทางชีวิตของเขากันว่ามีประวัติและผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ในเวทีการเมืองอย่างไรบ้าง
ชื่อสุริยะ และนามสกุล “จึงรุ่งเรืองกิจ”
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ หรือชื่อเล่น อ๊อฟ เกิดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2497 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของนายอาฮง แซ่จึง และ นางม้วยเซียง มีพี่น้อง 5 คน คือ 1. นายสรรเสริญ จุฬางกูร 2. นายพัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ(เสียชีวิต) 3. นายโกมล จึงรุ่งเรืองกิจ 4. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ 5. น.ส.อริสดา จึงรุ่งเรืองกิจ ทำให้สุริยะถือว่ามีศักดิ์เป็นอาของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (เป็นลูกของนายพัฒนา) และลุงของพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ปรึกษารวค. (ลูกของนายโกมล) อีกด้วย
แต่ด้วยความเห็นทางการเมืองต่างกันตั้งแต่สมัยธนาธรยังเป็นนักศึกษา เพราะเจ้าตัวไม่เห็นด้วยกับโครงการท่อส่งก๊าซไทย-มาเลย์ เป็นอย่างมากเพราะจะทำให้ประเทศไทยเสียผลประโยชน์อย่างมหาศาล นำไปสู่ความขัดแย้งกับสุริยะ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลดร.ทักษิณ ชินวัตร ขณะนั้น ส่วนด้านความสัมพันธ์กับพงศ์กวิน ถือว่าเรียบง่ายไม่มีความขัดแย้งอะไร เพราะร่วมงานกับลุงสุริยะครั้งตั้งแต่ยังอยู่พรรคพลังประชารัฐ ก่อนย้ายตามเจ้าตัวไปที่พรรคเพื่อไทย
ด้านการศึกษา อ๊อฟจบการเรียนระดับมัธยมที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และเข้าศึกษาต่อที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนที่จะเจอผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในเวลานั้น ทำให้ตัดสินใจไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศแทน จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี วิศวกรรมอุตสาหการ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ.2521 อีกทั้งยังสำเร็จการศึกษาวุฒิปริญญาบัตรในปี 2538 ที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) อีกด้วย
ส่วนชีวิตสมรส นายสุริยะได้แต่งงานกับนางสุริสา จึงรุ่งเรืองกิจ มีบุตรชายด้วยกัน 1 คน คือ นายศาตนันท์ จึงรุ่งเรืองกิจ
เส้นทางการเมือง 25 ปี กับ 4 พรรค 3 สี
สุริยะเข้าสู่ชีวิตทางการเมืองมีตำแหน่งทางการเมืองครั้งแรก คือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ปี พ.ศ. 2541 ในโควตาพรรคกิจสังคม ซึ่งการก้าวสู่เส้นทางทางการเมืองได้รับการเชื่อถือจากนายมนตรี พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ซึ่งนายสุริยะได้เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีหลายกระทรวงในช่วงที่นายสมศักดิ์ เทพสุทินดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
ต่อมาในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2544 นายสุริยะได้เข้าร่วมสังกัดพรรคไทยรักไทย ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค โดยนายสุริยะเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 12 และได้เลื่อนขั้นตำแหน่งภายในพรรคฯสู่เลขาธิการแทน ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ นอกจากนี้ ในช่วงที่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลนี้ สุริยะ เคยถูกตรวจสอบกรณีทุจริตเครื่องตรวจสัมภาระภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือ CTX9000 แต่ท้ายที่สุด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ได้มีมติเอกฉันท์ยกคำร้องเนื่องจากมีพยานหลักฐานไม่เพียงพอ
กระทั่งถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 (ไทยรักไทย) หลังจากนั้นได้เข้าร่วมแถลงข่าวเปิดตัวพรรคภูมิใจไทยในปี 2552 และคืนสังเวียนเต็มตัวในฐานะหัวหน้ากลุ่มสามมิตร กลุ่มการเมืองของบุคคลระดับแกนนำที่มีอักษรหน้าชื่อขึ้นต้นด้วย ส. ประกอบด้วย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์
เวลาผ่านไป สุริยะและกลุ่มสามมิตรได้ประกาศร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 โดยมีเจ้าตัวนั่งแท่นตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคฯ ตั้งแต่ปี 63 จนถึงปี 65 และได้รับเลือกเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในยุครัฐบาลประยุทธ์ ก่อนตัดสินใจย้ายไปอยู่พรรคเพื่อไทย สำหรับการเลือกตั้งปี 66 ที่จะถึงในเวลานั้น
ถึงแม้บทบาทในยุครัฐบาลเศรษฐาจะแสนสั้น แต่เจ้าตัวก็ควบหลายตำแหน่ง เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรองนายกรัฐมนตรีอีกด้วย
ผลงาน-ตำแหน่งที่เคยได้รับ
- รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุตสาหกรรม (พรรคไทยรักไทย, รัฐบาลทักษิณ 2) (พรรคพลังประชารัฐ,รัฐบาลประยุทธ์ 2)
- รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม (พรรคไทยรักไทย, รัฐบาลทักษิณ 2)
- เลขาธิการพรรค พรรคไทยรักไทย
- พ.ศ. 2544 – พ.ศ. 2545 – รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุตสาหกรรม (ส.ส. บัญชีรายชื่อลำดับที่ 12 พรรคไทยรักไทย, รัฐบาลทักษิณ 1)
- พ.ศ. 2541 – รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงอุตสาหกรรม (พรรคกิจสังคม, รัฐบาลชวน 2)
- ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุตสาหกรรม
- ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
- ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
- ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงพาณิชย์
- กรรมการ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.)
- กรรมการ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด
- ประธานกรรมการ บริษัท ซัมมิทอิเล็กทรอนิกส์ คอมโพเนนท์ จำกัด
- ประธานกรรมการ บริษัท ซัมมิท แอดวานซ์ แมททีเรียล จำกัด
- กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอโดซีพ อินดัสตรี จำกัด
- กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัมมิท โอโตบอดี้ อินดัสตรี จำกัด
- กรรมการบริหาร บริษัท ซัมมิท ไพน์เฮิร์สท กอล์ฟ แอนด์ คันทรีคลับ จำกัด
- ประธานกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่เคยได้รับ
- พ.ศ. 2545 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
- พ.ศ. 2544 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
- พ.ศ. 2516 – เหรียญสนองเสรีชน (ส.ส.ช.)
อ่านข่าวทีเกี่ยวข้อง