นับถอยหลัง ‘ช้อปดีมีคืน 2566’ ทวนเงื่อนไขให้ดี อย่าลืมขอใบกำกับภาษี!
เตือนความจำก่อนจบโครงการ ช้อปดีมีคืน 2566 โครงการลดหย่อนภาษีเพื่อประชาชน ใช้จ่ายอย่างไรถึงเข้าเงื่อนไข เช็กเลยก่อนหมดเขต 15 กุมภาพันธ์นี้
เข้าใกล้ช่วงสุดท้ายของโครงการ ช้อปดีมีคืน 2566 ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2566 กับโครงการรัฐเพื่อช่วยลดหย่อนภาษีให้แก่ประชาชนที่ต้องเสียภาษี โดยนำยอดค่าใช้จ่ายภายใต้เงื่อนไข ไปขอลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 40,000 บาท
ขณะนี้เหลือเวลาอีกประมาณ 1 สัปดาห์เท่านั้น ก่อนโครงการช้อปดีมีคืนจะสิ้นสุดลง เพื่อรักษาประโยชน์ให้กับชาวไทยที่มีรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษีทุกคน วันนี้ไทยเกอร์จะมาทบทวนเงื่อนไขการใช้จ่ายที่เข้าเงื่อนไขของโครงการ เพื่อให้คุณไปเตรียมขอใบกำกับภาษีเพื่อลดหย่อนภาษี ประจำปี 2565 กัน
เงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ ช้อปดีมีคืน 2566
สำหรับโครงการช้อปดีมีคืน ประชาชนสามารถเข้าร่วมโครงการได้เลย ไม่ต้องลงทะเบียน เพียงแต่จะต้องไม่ลืมขอใบกำกับภาษีจากผู้ขาย ในรูปแบบกระดาษ หรือ ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ก็ได้ สามารถขอลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 40,000 บาท โดยมีเงื่อนไขในการขอลดหย่อนภาษี ดังนี้
- ยอดการใช้จ่าย 30,000 บาทแรก สามารถใช้ลดหย่อนได้ทั้งใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบกระดาษและใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ e-Tax Invoice & e-Receipt
- ยอดใช้จ่ายอีก 10,000 บาท สามารถลดหย่อนได้เฉพาะสินค้าและบริการที่ออกใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ e-Tax Invoice & e-Receipt เท่านั้น
สินค้าที่เข้าเงื่อนไขโครงการ ช้อปดีมีคืน 2566
สำหรับประเภทของสินค้าและบริการที่สามารถออกใบกำกับภาษี เพื่อขอลดหย่อนภาษีจากโครงการช้อปดีมีคืน ได้แก่
- ค่าบริการเติมน้ำมันรถ
- สินค้าแฟชั่น รองเท้า กระเป๋า นาฬิกา และเครื่องประดับ
- สินค้าเสริมสวย เครื่องสำอาง น้ำหอม ครีมหรือโลชั่นบำรุงผิว
- สินค้าสุขภัณฑ์ที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น ของใช้ภายในบ้าน น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม สบู่ แชมพู ครีมนวดผม โฟมล้างหน้า แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ผ้าอนามัย ผ้าอ้อม กระดาษทิชชู
- นมประเภทอื่น ๆ ที่มีการแปรรูปมาแล้ว
- เฟอร์นิเจอร์ของตกแต่ง จะต้องใช้สิทธิได้ถ้ามีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป หรือกรณีเป็นสินค้า OTOP ต้องมีใบเสร็จรับเงิน
- ร้านอาหาร-คาเฟ่ ที่จด VAT และออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปได้ สามารถใช้สิทธิช้อปดีมีคืนได้ แต่จะไม่รวมการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่
- การใช้บริการซ่อมรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง หรือซื้ออุปกรณ์ตกแต่ง จะสามารถใช้สิทธิได้ แต่ต้องซ่อมรถ เข้าศูนย์ตรวจเช็กสภาพรถ ต้องรับบริการและซ่อมแล้วเสร็จในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2566 เท่านั้น
- ยาหรืออาหารเสริม
- บัตรหรือคูปองและใช้บริการภายในวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2566 เท่านั้น
- ค่าอาหารหรือเครื่องดื่มในโรงแรม จากร้านอาหารในโรงแรมที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถขอใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปมาใช้ลดหย่อนภาษีได้
- ซื้อของออนไลน์ สามารถซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ได้ โดยต้องซื้อและออกใบกำกับภาษีระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2566
- ของเงินผ่อนหรือสินค้าที่ชำระด้วยบัตรเครดิต
สินค้าที่ไม่เข้าเงื่อนไขโครงการ ช้อปดีมีคืน 2566
สำหรับประเภทของสินค้าและบริการที่ไม่สามารถออกใบกำกับภาษี เพื่อขอลดหย่อนภาษีจากโครงการช้อปดีมีคืน ได้แก่
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เช่น สุรา เบียร์ ไวน์ รวมถึงบุหรี่ ยาสูบ
- ยานพาหนะ เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ
- หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ทั้งรูปแบบกระดาษและรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
- ค่าบริการนำเที่ยว ธุรกิจนำเที่ยว ค่าบริการมัคคุเทศก์
- ค่าที่พัก-โรงแรม
- ค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า
- ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต รวมถึงค่าบริการที่มีข้อตกลงระยะยาว หมายถึง เริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2566 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566
- ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
- ค่าเบี้ยประกันชีวิต ประกันสุขภาพ
- สินค้าหรือบริการที่ไม่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% อยู่แล้ว เช่น ผัก-ผลไม้สดที่ยังไม่ได้แปรรูป
- เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา นมจืด ทองคำแท่ง ค่ารักษาพยาบาล ค่าทำศัลยกรรม
ใครได้ประโยชน์จากโครงการช้อปดีมีคืนบ้าง
ผู้เสียภาษีที่สามารถเข้าร่วมโครงการช้อปดีมีคืนได้ จะเป็นกลุ่มที่มีรายได้หรือเงินได้สุทธิตั้งแต่ 150,001 บาทขึ้นไป ส่วนผู้ที่มีรายได้รวมต่ำกว่า 150,000 บาทจะได้รับการยกเว้นภาษีอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมโครงการช้อปดีมีคืนเพื่อขอลดหย่อนภาษีนั่นเอง.
ขอบคุณข้อมูลจาก : rd.go.th