เงินประกันรายได้ข้าว งวดที่ 15 ธ.ก.ส.โอนให้วันไหน เช็กเลย
ดูข่าวประกันรายได้ข้าว สรุปเงินประกันข้าว 65/66 เข้าวันไหน หลังงวดที่ 15 กรมการค้าภายในเปิดราคาเกณฑ์กลางสูงกว่าราคาเป้าหมายประกันเกือบทุกชนิด มีเพียง ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ที่เกษตรกรจะได้รับชดเชยส่วนต่าง กำหนดโอนเงิน 25 มกราคม 2566
ความคืบหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 5 ชนิด เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุนรวมถึงลดภาระค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและภัยธรรมชาติ ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2566 ก็ได้พิจารณาราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 งวดที่ 15 สำหรับเกษตรกรสี่พันกว่ารายที่แจ้งวันเก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 14 – 20 ม.ค. 2566
โดยปรากฏว่า มีราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงสูงกว่าราคาเป้าหมายประกันรายได้เกือบทุกชนิดข้าว มีเพียงข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ซึ่งมีเกณฑ์กลางตันละ 13,614.88 บาท ที่เกษตรกรจะได้รับชดเชยส่วนต่างตันละ 385.12 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 6,161.92 บาท
สำหรับข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกปทุมธานี และข้าวเปลือกเหนียว มีราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงสูงกว่าราคาประกัน ดังนี้ ข้าวเปลือกปทุมธานี เกณฑ์กลางตันละ 11,147.94 บาท
ข้าวเปลือกเจ้า เกณฑ์กลางตันละ 10,052.72 บาท และข้าวเปลือกเหนียว เกณฑ์กลางตันละ 12,540.13 บาท ขณะที่ข้าวเปลือกหอมมะลิ จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตร พบว่า มีการแจ้งเก็บเกี่ยวหมดแล้ว จึงไม่มีราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง
ทั้งนี้ สมาคมค้าข้าวไทยและสมาคมโรงสีข้าวไทย ให้ข้อมูลว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาข้าวทุกชนิดปรับตัวสูงขึ้นในขณะนี้ เนื่องจากสถานการณ์การส่งออกยังมีความต้องการข้าวขาว ทั้งจากฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และอิรัก จึงเร่งซื้อเพื่อส่งมอบอยู่ในขณะนี้ แม้จะมีแนวโน้มปัจจัยของค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างในงวดที่ 15 นี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงภายใน 3 วันทำการ หรือภายในวันที่ 25 มกราคม 2566
ไม่ได้รับเงินประกันราคาข้าว ต้องทำยังไง ?
สำหรับการโอนเงินให้เกษตรกรที่ผ่านมา ที่มีกรณีโอนเงินไม่สำเร็จจากปัญหาด้านบัญชีเงินฝาก ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้มีการติดตามแก้ไขปัญหาไประดับหนึ่งแล้ว
จนล่าสุดถึงตอนนี้ ทำให้ยอดการโอนเงินให้เกษตรกรไม่สำเร็จลดลง แต่อย่างไรก็ตามขอให้พี่น้องเกษตรกรตรวจสอบบัญชีเงินฝากและติดต่อกับ ธ.ก.ส เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการรับเงินชดเชยส่วนต่างตามโครงการ เช่น กรณีปัญหา ชื่อ – สกุล ไม่ตรง บัญชีปิด บัญชีถูกอายัด
หรือหากยังไม่มีบัญชีเงินฝากกับ ธ.ก.ส. ก็ขอให้เกษตรกรติดต่อเปิดบัญชีใหม่กับ ธ.ก.ส. สาขาในพื้นที่ เพื่อ ธ.ก.ส. จะได้โอนเงินให้แก่เกษตรกรต่อไป