ข่าว

นิสิตจุฬาฯ ทวงสิทธิ ใส่ชุดไปรเวทเข้าสอบ กางประกาศ มหาลัยอนุญาต

ประเด็นเครื่องแบบนักศึกษากับสถาบันการศึกษาดูจะเป็นไม้เบื่อไม้เมาคู่นานมายาวนาน แม้ปัจจุบันหลายแห่งจะปรับปรุงกฎให้เข้ากับสมัยที่เปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังพบปัญหาอยู่เนือง ๆ เนื่องจากความเข้าใจไม่ตรงกันระหว่างกฎและผู้บังคับใช้กฎ อย่างกรณีล่าสุดของ นิสิตสามย่าน แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มาเล่าประสบการณ์ของตัวเองในการใส่ชุดไปรเวทเข้าสอบปลายภาค

ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Apisit Chavanon ได้ออกมาเล่าประสบการณ์การเข้าสอบไฟนอลเทอม 1 ของปี 2 ใน 4 วิชา โดยวิชาที่มีปัญหาคือ NAT RE 2305100 ของคณะวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่เปิดประตูเข้าไป กรรมการคุมสอบยืนกรานว่าตนไม่สามารถเข้าสอบได้ พร้อมซักถามที่มาที่ไปว่าทำไมใส่ชุดไปรเวทมา จะสามารถระบุตัวตนได้อย่างไรว่าเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยนี้ จากนั้นเจ้าของโพสต์ได้ชูบัตรนิสิตเพื่อยืนยันตัวตน ทำให้ผู้คุมสอบช็อกไปครู่หนึ่ง

สุดท้ายเรื่องจบลงที่เจ้าของโพสต์สามารถเข้าสอบได้แต่ต้องเซ็นใบบันทึกพฤติกรรม กว่าจะได้เข้าสอบก็เลทไป 40 นาที ซึ่งเจ้าของโพสต์ตั้งข้อสังเกตว่า กรรมการ อาจารย์ เจ้าหน้าที่คณะไม่รู้ระเบียบการคุมสอบ

ในตอนท้ายนิสิตเจ้าของโพสต์ระบุว่า ประโยชน์เดียวที่คิดออกคือการบังคับใส่ชุดนิสิตคงเติมเต็มความใคร่ในการได้กดขี่ของบุคลกรบางคนที่พอเห็นนิสิตอยู่ใต้อำนาจที่ต่ำกว่าอย่างพร้อมเพียงแล้วจะรู้สึกพึงพอใจ

หลังจากโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ก็ได้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กเข้าไปแชร์ต่อเป็นจำนวนมาก พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวางถึงประสบการณ์ที่ประสบมาคล้าย ๆ กันจากหลาย ๆ มหาวิทยาลัยที่แต่ละคนอยู่

คืบหน้าล่าสุด ทางอาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยาคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้แชร์ข่าวนี้ พร้อมชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ทางมหาวิทยาลัยได้ออกประกาศฉบับใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2564 ให้นิสิตสามารถเข้าสอบด้วยชุดเครื่องแบบ หรือชุดสุภาพก็ได้ ปรับแก้จากประกาศปี พ.ศ. 2562 ที่ระบุให้ชุดนิสิตเท่านั้นที่สามารถเข้าสอบได้ นี่เป็นอีกเรื่องที่อาจารย์และเจ้าหน้าที่คณะต้องปรับตัวให้ทัน

“(รีโพสต์ซ้ำ เพราะเรื่องดังไปถึงไทยรัฐแล้ว ฮะๆ) เป็นอีกเรื่องที่อาจารย์และเจ้าหน้าที่ของจุฬาฯ เรา ต้องปรับตัวให้ทันเหมือนกันครับ

ด้วยประกาศจุฬาฯ ฉบับใหม่ ปี พ.ศ. 2564 เรื่อง “ข้อปฏิบัติในการสอบของนิสิต” ได้ระบุให้นิสิตสามารถเข้าสอบด้วยชุดเครื่องแบบปกติ หรือ “ชุดสุภาพ” ก็ได้ครับ (ดู https://www.chula.ac.th/news/46643/)

ซึ่งการปรับแก้จากประกาศปี พ.ศ. 2562 ที่เคยกำหนดให้นิสิต ป.ตรี ต้องใส่แต่เครื่องแบบเข้าสอบเท่านั้น ผมคาดว่าน่าจะช่วยรองรับการสอบแบบออนไลน์ ในสถานการณ์โควิด-19 ให้ถูกต้องตามระเบียบการสอบด้วย

ก็แปลว่า ถ้านิสิตใส่เครื่องแบบมาสอบ ก็ต้องแต่งให้ถูกต้องตามระเบียบเครื่องแบบนิสิต / และถ้าเลือกจะใส่ “ชุดสุภาพ” มาสอบ ก็ต้องแต่งตัวตามระเบียบเช่นกัน

โดยประกาศจุฬาฯ เรื่อง “การแต่งกายของนิสิต” พ.ศ. 2562 กำหนดชุดสุภาพ มีลักษณะดังนี้คือ

– นิสิตชาย : ใส่เสื้อมีแขน ห้ามใช้เสื้อยืดไม่มีปก ใส่ชายเสื้อไว้ในกางเกง หรือเสื้อพระราชทาน หรือเสื้อตรวจการ (เสื้อซาฟารี) กลัดกระดุมให้เรียบร้อย / กางเกงขายาว ไม่รัดรูปและไม่เปิดเผยเนื้อตัวร่างกายในลักษณะทีไม่เหมาะสมแก่สุภาพชน / รองเท้าหุ้มส้นหรือมีสายรัดส้น และไม่ใช่รองเท้าแตะคีบ

– นิสิตหญิง : เสื้อมีแขน ไม่รัดรูป ห้ามใส่เสื้อยืดไม่มีปกหรือเอวลอย ไม่เปิดเผยเนื้อตัวร่างกายในลักษณะที่ไม่เหมาะสมแก่สุภาพชน / กระโปรงคลุมเข่า หรือกางเกงขายาว ไม่รัดรูป และไม่เปิดเผยเนื้อตัวร่างกายในลักษณะที่ไม่เหมาะสมแก่สุภาพชน / รองเท้าหุ้มส้นหรือมีสายรัดส้น และไม่ใช่รองเท้าแตะคีบ

ดังนั้น #สรุปว่า นิสิต ป.ตรี จุฬาฯ ปัจจุบันนี้สามารถใส่ “ชุดสุภาพ” เข้าห้องสอบได้ โดยไม่ผิดระเบียบการสอบครับ (แต่ต้องแต่งตัวให้ถูกตามที่กำหนดด้วยนะครับ)”

 

Thaiger

The Thaiger นำเสนอข่าวสารล่าสุดและอัปเดตจากทั่วประเทศไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button