ทำไม ค่าเงินบาทอ่อนถึง 36 บาทต่อดอลลาร์ สาเหตุเงินบาทอ่อนค่าท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อ
ไขข้อสงสัย ! ทำไม ค่าเงินบาทอ่อนถึง 36 บาทต่อดอลลาร์ สวนทางราคาของที่แพงทั่วประเทศ หวั่นกระทบเงินเฟ้อและภาพรวมเศรษฐกิจไทย
นับว่าเป็นเรื่องน่าจับตามอง สำหรับกรณี ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงถึง 36 บาทต่อดอลลาร์ ต่ำสุดในรอบหลายปี จนหลายคนเป็นกังวลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจประเทศ วันนี้ The Thaiger จึงไม่รอช้า รีบพาทุกคนไปหาคำตอบด้วยกันว่า อะไรคือปัจจัยที่มีอิทธิพล ทำให้ค่าเงินบาทของไทยอ่อนตัว ตลอดจนผลกระทบและประโยชน์ที่ได้รับจากการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ใครพร้อมแล้ว อย่ารอช้า รีบไปดูพร้อมกันได้เลย
ทำไม ค่าเงินบาทอ่อนถึง 36 บาทต่อดอลลาร์ ? สรุปปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อค่าเงินบาทไทย
เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้พุ่งทะลุ 36 บาทต่อดอลลาร์ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เงินบาทอ่อนตัว เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย โดยเราได้สรุปมาให้แล้ว ดังนี้
ปัจจัยที่ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงสูงสุดในรอบหลายปี
ปัจจัยที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างแรกเลยก็คือ ปัจจัยภายนอกประเทศ ซึ่งกระทบมาจากเศรษฐกิจโลกที่ย่ำแย่ติดต่อกันมาอย่างยาวนาน โดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกในช่วงหลังเดือนเมษายน 2022 ได้ลดฮวบลงเกือบ 1% หลัง IMF หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้ออกมาเผยแพร่รายงานคาดการณ์เศรษฐกิจประจำปี โดยรายงานฉบับใหม่ เตรียมจะปล่อยตามมาในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่กำลังจะถึงนี้
ในขณะเดียวกัน ปัจจัยจากสกุลเงินอื่น ๆ ทั่วโลกก็ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทของไทยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเงินเยนที่รักษาระดับไว้ได้ราว 135.63 เยนต่อดอลลาร์ ตลอดจนเงินยูโรที่มีมูลค่าอยู่ที่ 1.018 ดอลลาร์ต่อยูโรในปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าสกุลเงินดอลลาร์มีความแข็งค่า เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ ซึ่งอาจกระทบต่อปัจจัยโดยรอบที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อได้ โดย Federal Reserve (FED) หรือ ระบบธนาคารกลางของประเทศสหรัฐอเมริกา อาจเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง เพื่อสกัดปัญหาเงินเฟ้อที่กำลังจะตามมา
นอกจากนี้แล้ว อีกหนึ่งอย่างที่ทำให้เงินบาทอ่อนตัวลง นั่นก็เพราะว่า กระแสเงินทุนหมุนเวียนในประเทศไทย ได้ไหลออกไปสู่ภายนอก เพราะนอกเหนือไปกว่าการได้รับแรงกดดันจากเงินดอลลาร์ที่แข็งตัวมากขึ้นแล้วนั้น ยังเกิดจากความกังวลเรื่องสภาวะเงินเฟ้อในประเทศไทยด้วย ทำให้เหล่าผู้ลงทุน หันไปถือครองเงินดอลลาร์และพันธบัตรบอนด์มากขึ้นกว่าเดิม
ผลกระทบจากวิกฤตเงินบาทอ่อนค่าลง
ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจ เกี่ยวกับวิกฤตเงินบาทที่อ่อนค่าลง โดยอธิบายเอาไว้ว่า หากเงินบาทของไทยมีแนวโน้มอ่อนค่าลง จะทำให้แรงสนับสนุนทางด้านการลงทุนจากต่างประเทศ ทยอยไหลออกไปจากตลาดหุ้นไทยในที่สุด ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลง และการถือครองเงินบาทจะทำให้นักลงทุนต่างชาติขาดทุนได้
การเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน รวมถึงอัตราการแลกเปลี่ยนเงิน เป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่นักลงทุนให้ความสนใจ ตลอดจนถูกนับเป็นปัจจัยหลักในการวางกลยุทธ์ด้านการลงทุน เพราะเมื่อค่าเงินเปลี่ยนแปลง ดัชนีของหุ้นก็จะผันผวนตาม กระทบต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ แม้ในบางสถานการณ์ที่เงินอ่อนค่าลง จะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย แต่ในทางกลับกัน จะยิ่งทำให้การตั้งราคาและการบริหารเงินทุนเบื้องต้น เป็นไปได้ยาก จนอาจนำไปสู่ต้นทุนในการนำเข้าของประเทศไทยที่สูงขึ้นกว่าเดิมได้อีกด้วย
ความเปลี่ยนแปลงหากเงินบาทแข็งตัวขึ้น ใครได้ประโยชน์บ้าง
หากเงินบาทของไทย สามารถกลับมารักษาระดับค่าเงินให้แข็งขึ้นได้ จะช่วยทำให้เศรษฐกิจโดยรวมมีความได้เปรียบขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการลงทุนและตลาดหุ้นไทย
เนื่องจาก หากเงินบาทแข็งค่ามากขึ้น เม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติจะหวนคืนสู่ตลาดเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยขยับตัว นอกจากนี้ ยังช่วยให้เหล่านักลงทุนสามารถฟันกำไรได้ถึง 2 ช่องทาง ทั้งกำไรของราคาหุ้นที่เพิ่มมากขึ้น และกำไรจากการแข็งค่าของเงินบาทที่ได้จากอัตราการแลกเปลี่ยนเงินนั่นเอง
สรุปข้อดีและข้อเสีย เงินบาทอ่อนค่า 2565
เริ่มต้นกันด้วยข้อดีของค่าเงินบาทที่อ่อนลงในช่วงปี 2565 นี้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อวงการส่งออกของไทย เพราะเมื่อค่าเงินลดลง ผู้ทำธุรกิจด้านส่งออกจะฟันกำไรได้มากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้แล้ว อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเองก็จะดีมากขึ้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายในประเทศไทยจะถูกลงในสายตานักเดินทางต่างชาติ เพราะเงินดอลลาร์สามารถมาแลกเป็นสกุลเงินไทยได้มากขึ้นกว่าเดิมนั่นเอง
ในขณะที่ข้อเสียของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงก็คือ ความเสียเปรียบที่มากขึ้นของผู้ที่ถือเงินสกุลบาท กล่าวคือ หากคนไทยต้องการจะไปเที่ยวหรือแลกเปลี่ยนเงินตราไปต่างประเทศ จะต้องใช้เงินบาทที่มากขึ้นเพื่อแลกเป็นเงินดอลลาร์ ทั้งยังกระทบต่อการนำเข้าสินค้า เพราะจะต้องใช้เงินในการเลือกซื้อของแพงมากขึ้น ตลอดจนทำให้กระแสการลงทุนในตลาดหุ้นไทยซบเซาลงด้วยเช่นเดียวกัน
ทั้งหมดนี้คือข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงถึง 36 บาทต่อดอลลาร์ บอกเลยว่า นี่ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องใกล้ตัวที่หลายคนควรให้ความสนใจ เพราะเมื่อไหร่ที่เงินบาทอ่อนค่าลง ความเป็นอยู่ของชาวไทยก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วยเช่นเดียวกัน ?
- ค่าเงินบาทล่าสุด 6 ก.ค. 2565 อ่อนค่าทะลุ 36 บาทต่อดอลลาร์ เซ่นพิษเศรษฐกิจ
- ค่าเงินบาท ‘อ่อนตัวลง’ อยู่ที่ช่วง 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
- ค่าเงินเยน ร่วงต่ำลง หลังนักลงทุนแห่ไปเก็งกำไรค่าเงินอื่น