ประวัติ ครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร พระเกจิอาจารย์ชื่อดังสายวิปัสสนากรรมฐาน ผู้ที่ชาวเหนือเชื่อกันว่าเป็น “ครูบาศรีวิชัย” กลับชาติมาเกิด ตนบุญที่ชาวล้านนายกย่องและนับถือ วันนี้ทาง Tha Thaiger จะพาทุกคนไปรู้จักกับพระนักปฏิบัติชื่อดังของทางภาคเหนือ “พระครูบาบุญชุ่ม” ท่านเป็นใครมาจากไหน ทำไมถึงได้รับการยกย่องนับถือจากชาวพุทธในแถบภาคเหนือเป็นจำนวนมาก ถ้าอยากรู้แล้ว ขอเชิญศรัทธาสาธุชนทั้งหลายตามไปดูพร้อม ๆ กันเลย
หลังจากที่ครูบาบุญชุ่มเข้าถ้ำปฏิบัติธรรมกรรมฐานปิดวาจาเป็นเวลา 3 ปี 3 เดือน 3 วัน โดยในวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 นี้ ก็จะเป็นวันที่ท่านได้กำหนดออกจากถ้ำหลวงเมืองแก๊ด ประเทศเมียนมา ซึ่งทางลูกศิษย์ต่างก็พากันเตรียมพร้อมสร้างราชรถ ศาลา และอาสน์สงฆ์ เพื่อรอรับท่านไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ประวัติ ครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร พระเกจิอาจารย์ชื่อดังของชาวล้านนา
ประวัติ ครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร อรัญาวาสีภิกขุ คือใคร
“ครูบาบุญชุ่ม” หรือ “พระครูบาบุญชุ่ม” แต่เดิมท่านมีชื่อว่า บุญชุ่ม ทาแกง เป็นชาวไทใหญ่โดยกำเนิด เกิดเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2508 ซึ่งเอกสารบางชิ้นก็ได้ระบุว่าท่านเกิดในปี พ.ศ. 2505 โดยครูบาบุญชุ่มเกิดที่บ้านแม่คำหนองบัว ตำบลแม่คำ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย บิดาชื่อพ่อคำหล้า มารดาชื่อแม่แสงหล้า ในช่วงก่อนที่ท่านจะเกิดมีเรื่องเล่าขานต่อ ๆ กันมาว่า ก่อนที่มารดาของพระครูบาบุญชุ่มจะตั้งครรภ์ มารดาท่านฝันว่าตนเองนั้นขึ้นภูเขาไปไหว้พระพุทธรูปทองคำองค์ใหญ่
จากการถูกเลี้ยงดูให้รักในการทำบุญมาตั้งแต่เด็ก ทำให้หลังจากที่เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 พระครูบาบุญชุ่มก็บรรพชาเป็นสามเณรในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2519 ณ วัดศรีบุญยืน ตำบลป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุได้เพียง 11 ปี โดยก่อนที่ท่านจะเข้ารับการบรรพชา ในช่วงเวลาใกล้รุ่งของวันบรรพชานั้นเองท่านก็ได้นิมิตเห็นพระชรารูปหนึ่ง เดินเข้ามาสอนธรรมะให้แก่ท่าน และกล่าวกับพระครูบาบุญชุ่มว่าต่อไปในภายภาคหน้าจะได้เป็นที่พึ่งของมหาชน จากนั้นพระชรารูปนั้นก็เดินหายลับไป
พระครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร กับชีวิตในร่มผ้ากาสาวพัสตร์
ในปี พ.ศ. 2526 ครูบาบุญชุ่มก็สามารถสอบพระปริยัติธรรมเป็นนักธรรมชั้นตรีได้ และเข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 ณ วัดพระเจ้าเก้าตื้อ (ปัจจุบันรวมกับวัดสวนดอก) จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีพระราชพรหมาจารย์ (ดวงคำ ธมฺมทินฺโน) เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระครูเวฬุวันพิทักษ์เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และพระครูศรีปริยัตินุรักษ์เป็นพระกรรมวาจาจารย์
ซึ่งในภายหลังที่พระครูบาบุญชุ่มได้เป็นพระภิกษุแล้ว ท่านก็ได้เดินทางจาริกไปแสวงบุญในที่ต่าง ๆ มากมาย มีทั้งจาริกไปเรียนวิชชากรรมฐานกับพระอาจารย์ชื่อดังต่าง ๆ โดยหากท่านพระครูบาบุญชุ่มจาริกผ่านวัดไหนที่เป็นวัดร้าง ท่านก็จะเป็นผู้นำในการบูรณะวัดและชุมชนนั้น ๆ ให้มีความเข้มแข็งในศรัทธาจากพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ท่านยังได้สร้างพระธาตุ พระเจดีย์ วิหาร และพระพุทธรูปไว้หลายแห่งตามเส้นทางที่ท่านได้จาริกไป ทั้งในภาคเหนือของประเทศไทย รัฐชานประเทศพม่า สิบสองปันนา และในประเทศลาว
ในช่วงที่ครูบาบุญชุ่มได้เดินทางไปจำพรรษาอยู่ที่วัดดอนเรือง เมืองพง รัฐฉาน ประเทศพม่า ระยะเวลาประมาณ 20 ปี ท่านก็ได้รวมศรัทธาสาธุชนอีกมากมายเพื่อบูรณศาสนาสถานที่สำคัญของชาวพุทธในรัฐฉานหลายแห่ง จากนั้นในปี พ.ศ. 2547 พระครูบาบุญชุ่มก็ถูกรัฐบาลพม่าขับไล่ออกจากประเทศ ซึ่งเอกสารบางชิ้นกล่าวว่าท่านเพียงแต่ต้องการกลับมาจำพรรษายังประเทศบ้านเกิด โดยขณะที่ครูบาบุญชุ่มได้กลับมาจำพรรษาในประเทศไทย ท่านก็ยังคงเป็นเรี่ยวแรงสำคัญของพระพุทธศาสนาในการพัฒนาวัดร้างให้เป็นวัดรุ่ง มีการบูรณะและสร้างวัดอีกหลายแห่ง รวมไปถึงดอยเวียงแก้ว อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
อภินิหารจากครูบาบุญชุ่ม พระเกจิดังของชาวไทใหญ่
นอกจากความเป็นพระนักปฏิบัติที่คอยพัฒนาวัดพัฒนาชุมชนแล้ว อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้พระครูบาบุญชุ่มถูกพูดถึงมากขึ้น ก็คือเหตุการณ์ที่ 13 ชีวิตทีมหมูป่าติดถ้ำขุนน้ำนางนอน โดยในเหตุการณ์นี้เองที่พระครูบาบุญชุ่มได้เดินทางไปทำพิธีสวดเปิดถ้ำในวันที่ 29-30 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ซึ่งไม่เพียงเท่านั้น แต่คำกล่าวอ้างของท่านที่บอกว่า “อีกวันสองวันเจอ อยู่สบายดีทุกคน” ก็ยิ่งทำให้ผู้คนศรัทธาครูบาบุญชุ่มมากขึ้นไปอีก เพราะใช้ระยะเวลาเพียง 1-2 วัน ก็สามารถนำทีมหมูป่าออกจากถ้ำได้สำเร็จ นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าลือถึงการไปเยือนถ้ำขุนน้ำนางนอนซึ่งวันที่พระครูบาบุญชุ่มเดินทางไปนั้นฝนก็หยุดตกเป็นอัศจรรย์
ยิ่งไปกว่านั้น หากใครได้บูชาวัตถุมงคลหรือเหรียญของพระครูบาบุญชุ่ม ก็จะรู้ได้ว่ามีอิทธิฤทธิ์ทางเมตตามหานิยมเป็นอย่างมาก แม้ว่าท่านจะปลุกเสกขึ้นมาเพื่อแจกฟรี แต่ก็มักจะมีคนนำมาแลกเปลี่ยนซื้อขายกันในราคาหลายหลัก ด้วยพลังอานุภาพหลอมรวมกับความศรัทธาที่ลูฏศิษย์มีต่อครูบาบุญชุ่ม
ในปัจจุบันท่านได้เดินทางไปปฏิบัติธรรมปิดวาจาที่ถ้ำหลวงเมืองแก๊ด หลังใกล้ครบ 3 ปี 3 เดือน 3 วัน นับจากวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2562 ทางลูกศิษย์ของพระครูบาบุญชุ่มก็ได้ออกมาแจ้งกำหนดที่ท่านจะเดินทางออกจากถ้ำ ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก มูลนิธิดอยเวียงแก้ว พระครูบาบุญชุ่ม ญาณสังวโร อรัญวาสีภิกขุ ว่าท่านจะเดินทางออกจากถ้ำในวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 หากใครที่เป็นสายบุญและมีความเคารพศรัทธาในครูบาบุญชุ่ม ก็สามารถติดตามกำหนดการจากทางเพจของลูกศิษย์เพื่อเข้ากราบสักการะท่านได้ และนี่ก็คือส่วนหนึ่งของประวัติพระครูบาบุ่ญชุ่ม ญาณสํวโร พระนักปฏิบัติและที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวเหนือ พระภิกษุผู้ได้ชื่อว่าเป็น “ตนบุญ” หรือ “ผู้มีบุญ” ที่ลงมาเกิดในยุคนี้