การเงิน

30 บาทรักษาทุกที่ สปสช. กรณีอยู่ต่างจังหวัดใช้สิทธิบัตรทองที่ไหน ?

ดูที่นี่ 30 บาทรักษาทุกที่ สปสช. ใช้ได้จริง ขั้นตอนไม่ซับซ้อน สิทธิบัตรทองใช้ได้ที่ไหนบ้าง กรณีเจ็บป่วยใช้สิทธินอกพื้นที่ ต้องไปที่ไหน

วันนี้ (28 เม.ย.65) ประชาชนที่เข้ารับบริการ ณ รพ.สต.วัดพระญาติการาม และโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ออกมาเล่าประสบการณ์ใช้สิธบัตรทองในการเข้ารับการรักษาตัวตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ โดย “นางสุพรรณี” หนึ่งในผู้มาเข้าใช้บริการ เปิดเผยว่า

เดิมสิทธิของตนอยู่ที่โรงพยาบาลใน จ.นครราชสีมา แต่ปัจจุบันได้ย้ายถิ่นฐานมาทำงานที่ จ.พระนครศรีอยุธยา จึงเลือกเข้ารับการรักษาที่ รพ.สต.วัดพระญาติการาม เพราะใกล้ที่สุด ซึ่งแม้ตนเองจะย้ายมาจากจังหวัดอื่นและไม่ได้ทำการย้ายสิทธิใดๆ ก็ยังสามารถรักษาฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายได้เหมือนเดิม

สำหรับขั้นตอนการเข้ารับบริการก็ไม่ต่างไปจากการรับบริการที่เคยใช้ เช่น มีการตรวจสอบสิทธิ ซักประวัติ ฯลฯ ซึ่งทำให้สะดวกสบายมากขึ้นในการเข้ารับการรักษา ไม่ต้องกลับไปใช้สิทธิตามที่ลงทะเบียนไว้เพียงแห่งเดียว ส่วนมาตรฐานการบริการค่อนข้างดีมีความสะดวกสบาย ไม่ค่อยมีความแออัด

การรอคิวหรือขั้นตอนเป็นไปตามปกติ ไม่มีอะไรติดขัดหรือซับซ้อน โดยการใช้สิทธิตามนโยบายดังกล่าวครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด ไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายส่วนใดเพิ่มเลย

อนึ่ง นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ เป็นนโยบายการยกระดับบัตรทองของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ที่ได้เริ่มนำร่องเมื่อ ปี พ.ศ.2564 และต่อยอดครอบคลุมทั่วประเทศเมื่อต้นปี พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา

โดยหากประชาชนมีอาการเจ็บป่วย สามารถเข้ารับบริการรักษาที่หน่วยปฐมภูมิได้ฟรีทุกที่ทั่วประเทศ ไม่เฉพาะตามสิทธิที่ลงทะเบียนไว้ รวมถึงไม่จำเป็นต้องมีการส่งตัวกลับไปรักษาที่หน่วยบริการที่ลงทะเบียนไว้เหมือนในอดีต

สิทธิบัตรทองใช้ได้ที่ไหนบ้าง
ภาพ Facebook สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ผู้ป่วยบัตรทอง
ภาพ Facebook สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

หลักการของนโยบายนี้คือประชาชนสิทธิบัตรทองยังคงเข้ารับบริการที่สถานพยาบาลประจำของตัวเองซึ่งได้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์ไว้ แต่กรณีอยู่ต่างพื้นที่และเกิดเจ็บป่วยขึ้น สามารถเข้ารักษาที่หน่วยบริการปฐมภูมิในระบบบัตรทองที่อยู่ใกล้ได้ โดยประชาชนไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัวเพื่อนำมายื่นในภายหลัง หรือถูกเรียกเก็บค่ารักษาเหมือนในอดีต โดยหน่วยบริการจะเรียกเก็บค่ารักษาจาก สปสช.แทน เป็นการเพิ่มคุณภาพและความสะดวกการรับบริการ ตามนโยบาย “ยกระดับบัตรทอง”

ทั้งนี้ บริการสุขภาพปฐมภูมิ คือ บริการสุขภาพด่านแรกของระบบบริการสาธารณสุข ซึ่งมีบทบาทในการดูแลสุขภาพประชาชนในท้องถิ่นโดยเน้นการป้องกันไม่ให้ป่วย หากเจ็บป่วยจะได้รับการดูแลรักษาเบื้องต้น (และครอบคลุมในกรณีที่จำเป็นจะต้องส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลที่รักษาโรคซับซ้อนมากขึ้น) ทั้งนี้รวมถึงบริการฟื้นฟูสุขภาพด้วย

ตัวอย่างหน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น สถานีอนามัย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.), หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาล, ศูนย์สุขภาพชุมชน ศูนย์บริการสาธารณสุข รวมถึง คลินิกชุมชนอบอุ่น เป็นต้น

ที่มา : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button