ธ.ก.ส. พักหนี้ พื้นที่เสี่ยง และเปิด สินเชื่อฉุกเฉิน แก่ เกษตรกร 29. ม.ค.นี้
ธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้มีการ พักหนี้ ให้แก่ เกษตรกร ในพื้นที่ความเสี่ยงสูง พร้อมเปิดให้มีการขอ สินเชื่อฉุกเฉิน และเสริมสภาพคล่อง ภายในวันที่ 29 ม.ค. นี้
ธกส สินเชื่อฉุกเฉิน – บอร์ด ธ.ก.ส. สั่งเร่งขับเคลื่อนนโยบายช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทั้งการ พักหนี้ ต้นเงินกู้ เกษตรกร 1 ปี ผู้ประกอบการและสถาบันเกษตรกร ผู้กู้เงิน สินเชื่อฉุกเฉิน 6 เดือน และผู้เข้าร่วมโครงการแก้ไขหนี้นอกระบบ 1 ปี พร้อมเติมเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นผ่านสินเชื่อฉุกเฉินให้กับเกษตรกรและครอบครัว
วงเงินกู้รายละไม่เกิน 10,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 0.1 % ต่อเดือน ปลอดชำระหนี้ 6 เดือน และสินเชื่อฉุกเฉินเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการและสถาบันเกษตรกร อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี เริ่มเปิดรับคำขอสินเชื่อ 29 ม.ค.นี้
นายสุรชัย รัศมี รองผู้จัดการ รักษาการแทนผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ ธ.ก.ส. มีมติเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 เห็นชอบมาตรการและมอบหมาย ธ.ก.ส. เร่งให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ระลอกใหม่ในประเทศไทย
โดยพักชำระหนี้ให้กับสัญญาเงินกู้ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2564 ในพื้นที่ 28 จังหวัดที่อยู่ในเขตควบคุมสูงสุดตามประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และจังหวัดที่ประกาศเพิ่มเติม ประกอบด้วย
- โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินให้แก่ลูกค้าเกษตรกรและลูกค้ารายคน ที่มีหนี้ถึงกำหนดชำระตั้งแต่งวดเดือนธันวาคม 2563 ถึงงวดเดือนพฤษภาคม 2564 เป็นระยะเวลา 1 ปี นับจากงวดชำระเดิม
- โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินให้แก่ผู้ประกอบการและสถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย ผู้ประกอบการ (นิติบุคคล) สหกรณ์ (ไม่รวมสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ) กลุ่มเกษตรกร กลุ่มบุคคล กองทุนหมู่บ้านหรือชุมชน และองค์กร ที่มีหนี้ถึงกำหนดชำระตั้งแต่งวดเดือนธันวาคม 2563 ถึงงวดเดือนพฤษภาคม 2564 เป็นระยะเวลา 6 เดือน นับจากงวดชำระเดิม
- โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินให้แก่ลูกค้าที่กู้เงินตามโครงการสนับสนุนสินเชื่อฉุกเฉินสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่มีหนี้ถึงกำหนดชำระตั้งแต่งวดเดือนธันวาคม 2563 ถึงงวดเดือนพฤษภาคม 2564 เป็นระยะเวลา 6 เดือน นับจากงวด ชำระเดิม
- โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินให้แก่ลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการแก้ไขหนี้นอกระบบ ที่มีหนี้ถึงกำหนดชำระตั้งแต่งวดเดือนธันวาคม 2563 ถึงงวดเดือนพฤษภาคม 2564 เป็นระยะเวลา 1 ปี นับจากงวดชำระเดิม
นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนเพื่อเติมเงินเข้าสู่ระบบ ทั้งในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินจำเป็นในชีวิตประจำวัน และการฟื้นฟูเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินในการดำเนินธุรกิจ ประกอบด้วยโครงการสนับสนุนสินเชื่อฉุกเฉินสำหรับเกษตรกรและครอบครัวของเกษตรกร
วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท วงเงินกู้รายละไม่เกิน 10,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่เพียงร้อยละ 0.1 ต่อเดือน กำหนดชำระคืนไม่เกิน 2 ปี 6 เดือนนับจากวันกู้ ไม่ต้องใช้หลักประกัน และสามารถแบ่งงวดชำระได้ตามความสามารถในการชำระคืน (รายเดือน / 3 เดือน / 6 เดือน) โดยปลอดชำระคืนต้นเงินและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก นับจากวันกู้ เริ่มเปิดให้ขอสินเชื่อทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม ถึง 30 มิถุนายน 2564
โครงการสินเชื่อฉุกเฉินเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการและสถาบันเกษตรกร วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ประกอบการ (นิติบุคคล) กลุ่มเกษตรกร กลุ่มบุคคล กองทุนหมู่บ้านหรือชุมชน องค์กร และสหกรณ์ (ไม่รวมสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ) ในพื้นที่ 28 จังหวัดที่อยู่ในเขตควบคุมสูงสุด ตามประกาศ ศบค. และจังหวัดที่ประกาศเพิ่มเติม
อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 12 เดือนนับตั้งแต่วันเบิกรับเงินกู้ แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ปลอดชำระต้นเงินไม่เกิน 6 เดือนแรกนับแต่วันกู้ เริ่มเปิดให้ขอสินเชื่อตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึง 31 ธันวาคม 2564 ที่ ธ.ก.ส. สาขาในพื้นที่ของท่าน
ทั้งนี้ สามารถแจ้งความจำนงค์เข้าร่วมโครงการข้างต้นกับ ธ.ก.ส. ผ่านช่องทาง LINE Official : BAAC Family เว็บไซต์ : www.baac.or.th
โดยในกรณีแสดงความประสงค์ขอพักชำระหนี้จะปรากฏข้อความ “ธ.ก.ส. ได้รับข้อมูลของท่านเรียบร้อยแล้ว” เป็นการดำเนินการเสร็จสิ้น หากลูกค้าแสดงความประสงค์ขอสินเชื่อ ให้เลือกประเภทสินเชื่อที่ต้องการและกด “ถัดไป” จะปรากฏข้อความ “ธ.ก.ส. ได้รับข้อมูลของท่านเรียบร้อย” เป็นการดำเนินการเสร็จสิ้น และช่องทาง Call Center 02 555 0555 หรือที่ สาขา ธ.ก.ส. ในพื้นที่
แหล่งที่มาของข่าว : Facebook Page – สถานีข่าวกระทรวงการคลัง
สามารถติดตามข่าวการเงินเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวการเงิน