คดีไม่คืบ! ญาติเด็กพิการถูกข่มขืน ร้องผบ.ตร. เร่งดำเนินคดีผู้ต้องหา
มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว พาตัว ญาติเด็กพิการถูกข่มขืน ร้องเรียนกับผบ.ตร. หลังคดีความไม่คืบหน้า
วันนี้ (24 พ.ย.) มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว พาตัว ญาติเด็กพิการถูกข่มขืน มาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปทุมวัน เพื่อยื่นจดหมายถึง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อเรียกร้องให้ทางเจ้าหน้าที่เร่งล่าตัวอาเขย ที่เป็นผู้ข่มขืนมารับโทษ หลังจากคดีความไม่คืบหน้า และยังลอยนวลอยู่
“ตอนนี้สภาพจิตใจแย่มาก สงสารหลานที่ต้องมาเจออะไรแบบนี้ อีกทั้งผู้กระทำก็ดูเหมือนไม่ได้สำนึกผิด ไม่มีแม้คำขอโทษ แถมกลับยังมาข่มขู่ ดูถูกเยาะเย้ยถากถางครอบครัว ไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปพึ่งใคร ไม่รู้เลยว่าตำรวจทำงานไปถึงไหนแล้ว จึงอยากให้ สตช. ตรวจสอบและนำคนผิดมารับโทษ” ญาติของเหยื่อ กล่าว
นอกจากนี้ นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ก็แสดงจุดยืนและยื่นข้อเสนอ จำนวน 4 ข้อ คือ
1.ขอร้องเรียน กรณีเด็กหญิงพิการที่ถูกข่มขืน เหตุเกิดในจังหวัดพิษณุโลก ในความรับผิดชอบของ สภ.ชุมแสงสงคราม มีการแจ้งความไว้ แต่พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีไม่สามารถรวบรวมหลักฐานส่งฟ้องได้ทันตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด มูลนิธิฯ ซึ่งได้เข้าช่วยเหลือในกรณีนี้ จึงขอให้ สตช. ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และเร่งดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้เสียหายเป็นการด่วน
2.ในการดำเนินการช่วยเหลือผู้หญิงพิการที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ มูลนิธิฯ พบปัญหาในการดำเนินการทางกฎหมายหลายด้าน อาทิ พนักงานสอบสวนไม่รับแจ้งความดำเนินคดี เพราะคนพิการไม่สามารถสื่อสารสภาพปัญหาและชี้ตัวผู้กระทำได้ หรือพยายามไกล่เกลี่ยให้เกิดการยอมความ หรือพนักงานสอบสวนไม่ชี้แจงรายละเอียดและแจ้งสิทธิขั้นตอนการดำเนินการทางกฎหมายให้ผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศทราบ จนหลายกรณีขาดอายุความ จึงต้องมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการทำงานกับผู้เสียหายกลุ่มนี้ ต้องหาวิธีการหรือหลักฐานประกอบเพื่อช่วยเหลือ ซึ่งมีความยากและซับซ้อน โดยเฉพาะเมื่อผู้กระทำเป็นคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด
3.ข้อเสนอเชิงนโยบาย กรณีคนพิการหูหนวกหรือพิการซ้ำซ้อนถูกล่วงละเมิดทางเพศ พนักงานสอบสวนต้องรับแจ้งความตามกระบวนการทางอาญา หากเป็นคดีทางเพศต้องทำอย่างรวดเร็วในการส่งผู้เสียหายพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายหรือพาไปดูที่เกิดเหตุ รวมถึงการประสานหาล่ามภาษามือหรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสื่อสารที่เหมาะกับความพิการของผู้เสียหาย ซึ่งต้องจัดหาให้มีจำนวนเพียงพอ และมีงบประมาณหรือสวัสดิการของรัฐในการจ้างล่ามให้เกิดความรวดเร็ว ลดขั้นตอนการทำงานเบิกจ่ายเงินให้น้อยลง
4.เนื่องในโอกาสเดือนยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี มูลนิธิฯ ขอส่งมอบหนังสือ“บาดแผลของดอกไม้” จำนวน 20 เล่ม ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้เข้าใจถึงสถานการณ์ปัญหา เป็นหนังสือที่รวบรวมเรื่องราวของคนพิการที่ถูกข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศไว้ถึง 15 กรณี
“กลุ่มผู้หญิงพิการ ถือเป็นกลุ่มที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการสำรวจประเทศไทยมีคนพิการ 1.9 ล้านคน และผู้หญิงพิการมีแนวโน้มถูกกระทำความรุนแรงทางเพศสูงกว่าผู้หญิงปกติถึง 10 เท่า ส่วนการช่วยเหลือผู้หญิงพิการของมูลนิธิฯ พบว่ามีผู้หญิงพิการเฉลี่ย 3-4 ราย/ปี ซึ่งเป็นผู้พิการทางสมอง เช่น บกพร่องทางการเรียนรู้ ออทิสติก อายุ 14-16 ปี เข้ามาขอคำปรึกษา ส่วนผู้กระทำฯ เป็นคนใกล้ตัว เช่น พ่อ พ่อเลี้ยง อาเขย เพื่อนบ้าน หลายกรณีไม่สามารถสื่อสารได้ว่าผู้กระทำเป็นใคร ส่งผลทั้งร่างกายและจิตใจ ภาวะซึมเศร้า ท้องไม่พร้อม พยายามฆ่าตัวตาย และฆ่าตัวตาย” นางสาวอังคณา กล่าว
ทั้งนี้ พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้รับเรื่อง ก็ยืนยันว่า ผบ.ตร. สั่งการให้มาดูแลคดีนี้อย่างใกล้ชิด และเร่งรัดที่สุด เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียหาย
ที่มา: Facebook มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล
- สาววัย 18 เลี้ยงลูกอยู่บ้านคนเดียว โดนเพื่อนพ่อบุกข่มขืน
- กองปราบ บุกจับ หนุ่มลวงสาววัย 14 ผ่าน Facebook ไปข่มขืน
- เงินเข้าแล้ว 200 บัตรคนจน สำหรับ ผู้พิการ เช็คเลย
- ป.ป.ส. เตรียมส่ง ยาเค 11.5 ตัน ตรวจใหม่ หลังพบ ‘ไตรโซเดียมฟอสเฟต’