
พิชัย รมว.คลัง สงสัย ในเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี ทำไมธนาคารมีกำไรทุกแห่ง ฝาก ธปท. ดูด้วย ยอมรับ เศรษฐกิจไทยปีนี้ท้าทาย
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนว่า รัฐบาลเตรียมเรียกประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในเร็ววัน เพื่อกำหนดมาตรการรับมือภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายภาษีของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หากมีการนำกลับมาบังคับใช้อีกครั้ง
นายพิชัยระบุว่า ขณะนี้เครื่องมือทางการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจมีอยู่อย่างจำกัด ทำให้ต้องพึ่งพานโยบายการเงินเป็นหลัก จึงเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาผ่อนคลายมาตรการทางการเงิน หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม เพื่อเปิดทางให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้มากขึ้น เพิ่มสภาพคล่อง กระตุ้นการหมุนเวียนของเม็ดเงิน
พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีคลังได้ตั้งข้อสังเกตถึงผลประกอบการของสถาบันการเงินที่ยังคงมีกำไร ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ฝากให้ ธปท. เข้าไปตรวจสอบว่ามีข้อบกพร่องในหลักเกณฑ์กำกับดูแลใดหรือไม่ กระทรวงการคลังเอง กำลังเร่งพัฒนาระบบการจัดเก็บรายได้ทั้งหมด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีให้เป็นไปตามเป้าหมาย ลดปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษี
ด้านนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ยอมรับว่าปีนี้ถือเป็นปีที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับกระทรวงการคลัง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยได้รับแรงกดดันจากทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ผลกระทบจากนโยบายภาษีทรัมป์ ส่งผลให้หลายหน่วยงานปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจลง รวมถึงสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่ปรับลดคาดการณ์เหลือเพียง 2.1% จากเดิม 3% ซึ่งการปรับลดลงทุก 1% ของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ จะส่งผลให้รายได้ของรัฐบาลหายไปประมาณ 170,000 ล้านบาท
“แม้การคาดการณ์เศรษฐกิจที่ลดลงจะกระทบต่อรายได้รัฐ แต่กระทรวงการคลังจะเร่งปรับปรุงโครงสร้างภาษีและพัฒนาระบบการจัดเก็บรายได้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ส่วนแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) นั้น คณะกรรมการปฏิรูปภาษีกำลังพิจารณา คาดว่าจะมีความชัดเจนในเร็วๆ นี้” นายลวรณกล่าว
ปัจจุบัน กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี แต่พบว่ายังมีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่พยายามหลีกเลี่ยงการเข้าระบบ ทั้งที่ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีทางอ้อมที่ผู้ประกอบการสามารถขอคืนภาษีซื้อได้ ทำให้ภาระภาษีที่แท้จริงอาจต่ำหรือไม่มีเลย ส่วนการพิจารณาปรับเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำสำหรับการจดทะเบียน VAT หรือการจำแนกประเภทสินค้าที่ต้องเสีย VAT เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการปฏิรูปภาษี
“แนวทางการปรับปรุงการจัดเก็บ VAT ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะปรับลดหรือเพิ่มเกณฑ์รายได้จาก 1.8 ล้านบาท หรืออาจเป็น 1.5 ล้านบาท คงต้องรอผลการศึกษาของคณะกรรมการฯ แต่เป้าหมายหลักคือการอุดช่องโหว่การหลีกเลี่ยงภาษี ทำให้การเสียภาษีเป็นเรื่องง่าย และสร้างแรงจูงใจให้ทุกคนเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง” ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวสรุป
ที่มา: ข่าวช่องสาม
เปิดผลประกอบการ รายได้ 11 ธาคาร ไตรมาส 1/2568 ส่วนใหญ่กำไร
เมื่อเมษายนที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ได้รายงานผลประกอบการงวดไตรมาส 1 ปี 2568 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ออกมาแล้วทั้งหมด 11 แห่ง ได้แก่
1.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) 2.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) 3.บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCB)
4.บมจ.ธนาคารกรุงไทย (KTB) 5.บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) 6.บมจ.ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb)
7.บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) 8.บมจ.ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) 9.บมจ.ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT)
10.บมจ.แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHFG) และ 11.บมจ.ธนาคารไทยเครดิต (CREDIT) ทั้งหมดมีกำไรสุทธิรวมกันอยู่ที่ 68,396 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.09% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เพิ่มขึ้น 5.62% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) ที่อยู่ 64,756 ล้านบาท
เมื่อตรวจสอบ การจ่ายเงินปันผลของแบงก์ในปี 2567 ที่ผ่านมา พบว่ามีมูลค่าเงินปันผลที่จ่ายให้ผู้ถือหุ้นรวมกันจำนวน 131,210 ล้านบาท ประกอบด้วย
KBANK จ่ายปันผลหุ้นละ 12 บาท มูลค่า 28,431 ล้านบาท
SCB จ่ายปันผลหุ้นละ 10.44 บาท มูลค่า 35,153 ล้านบาท
BBL จ่ายปันผลหุ้นละ 8.50 บาท มูลค่า 16,225 ล้านบาท
TISCO จ่ายปันผลหุ้นละ 7.75 บาท มูลค่า 6,204 ล้านบาท
KKP จ่ายปันผลหุ้นละ 4 บาท มูลค่า 3,334 ล้านบาท
KTB จ่ายปันผลหุ้นละ 1.545 บาท มูลค่า 21,593 ล้านบาท
BAY จ่ายปันผลหุ้นละ 0.85 บาท มูลค่า 6,252 ล้านบาท
ttb จ่ายปันผลหุ้นละ 0.130 บาท มูลค่า 12,643 ล้านบาท
CREDIT จ่ายปันผลหุ้นละ 0.60 บาท มูลค่า 740 ล้านบาท
CIMBT จ่ายปันผลหุ้นละ 0.04 บาท (ไม่เปิดเผยมูลค่า)
LHFG จ่ายปันผลหุ้นละ 0.030 บาท มูลค่า 635 ล้านบาท
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เตือนรัดเข็มขัด เศรษฐกิจไทยเข้าสู่โหมด ‘เอาตัวรอด’ กอดเงินสดให้ได้มากที่สุด
- มีผลทันที กนง.เห็นชอบ ลดดอกเบี้ยอีก 0.25% หวังยื้อเศรษฐกิจไทย
- โพลเผยเศรษฐกิจแย่ ทำคนไทยเศร้าสุด งานพระราชพิธี เหตุการณ์ที่สุขที่สุด
ติดตาม The Thaiger บน Google News: