ข่าวต่างประเทศ

วิธีเลือกพระสันตปาปาองค์ใหม่ ขั้นตอน พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ คอนเคลฟ เผยกฎเหล็ก

จะเกิดอะไรขึ้นหลังโป๊บฟราสซิสสิ้นพระชนม์ เปิดประเพณีลับ ‘คอนเคลฟ’ วิธีเลือกพระสันตปาปาองค์ใหม่ เผยกฎเหล็ก ใครมีสิทธิได้รับเลือก? เจาะลึกเบื้องหลังพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ เฉลยสัญญะควันสีจากปล่องไฟโบสถ์

  • หลังโป๊บสิ้นพระชนม์ จะไว้ทุกข์ 9 วัน และรออย่างน้อย 15 วันก่อนเริ่มประชุมคอนเคลฟ โหวตเลือกพระคาร์ดินัลอายุต่ำกว่า 80 ปีราว 120 รูป เป็นพระสันตปาปาองค์ใหม่
  • ขั้นตอนคอนเคลฟเข้มงวด ประชุมจัดในโบสถ์น้อยซิสทีนโดยพระคาร์ดินัลต้องถูกตัดขาดจากโลกภายนอก
  • โป๊บองค์ใหม่ ต้องได้เสียงสนับสนุน 2 ใน 3 จึงจะเลือกโป๊บได้ สัญญาณควันจากปล่องไฟ ควันดำ = ยังไม่เลือกได้, ควันขาว = ได้แล้ว

หลังการสิ้นพระชนม์ของ ‘โป๊ปฟรานซิส’ พระสันตะปาปาองค์ที่ 266 แห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิกทรงเป็นที่รักยิ่งทั่วโลก ขณะนี้เหล่าคริสตชนต่างจับจ้องไปยังนครรัฐวาติกัน เพื่อรอคอยกระบวนการสำคัญตามธรรมนูญพระศาสนจักร คือ การประชุมเลือกตั้งพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ หรือ คอนเคลฟ (Conclave) หนึ่งในกระบวนการเลือกตั้งที่เก่าแก่ ลึกลับ และมีความเป็นประชาธิปไตยที่ลับที่สุดในโลก

ก่อนการเลือกตั้งพระสันตปาปาองค์ใหม่

ตามประเพณีปฏิบัติ เมื่อพระสันตะปาปาสิ้นพระชนม์ลงพระคาร์ดินัลคาแมร์เลนโก (Camerlengo) หรือผู้ดูแลพระคลังและทรัพย์สินของสันตะสำนักจะเป็นผู้ยืนยันการสิ้นพระชนม์อย่างเป็นทางการต่อหน้าสักขีพยานสำคัญ จากนั้นจะเข้าสู่ช่วงเวลาการไว้ทุกข์เป็นเวลา 9 วัน (Novemdiales)

ในระหว่างนี้พระศพของอดีตพระสันตะปาปาจะได้รับการตั้งไว้ ณ มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ เพื่อให้สัตบุรุษและสาธารณชนได้เข้าถวายความเคารพ โดยการประชุมคอนเคลฟเพื่อเลือกประมุขพระองค์ใหม่จะยังไม่เริ่มขึ้นทันที แต่จะรออย่างน้อย 15 วัน นับจากการสิ้นพระชนม์ เพื่อให้บรรดา ‘พระคาร์ดินัล’ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง หรือ ผู้มีฐานันดรอันดับที่ 2 รองจากพระสันตะปาปา ที่มีอายุไม่เกิน 80 ปีบริบูรณ์ สามารถเดินทางมารวมตัวกันที่กรุงโรมได้อย่างพร้อมเพรียง ปัจจุบันมีอยู่ราว 120 ท่านจากทั่วทุกมุมโลก

ข้อมูลจากสังฆธรรมนูญการเลือกตั้งของพระศาสนจักร เผยว่า ผู้ที่สิทธิได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาต้องได้รับศีลล้างบาป ประกอบด้วย พระสังฆราช พระสงฆ์ และฆราวาส แต่ในทางปฏิบัติจะเลือกจากบรรดาพระคาร์ดินัลเท่านั้น

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสสิ้นพระชนม์
ภาพจาก : AP

เจาะลึกเบื้องหลัง ‘คอนเคลฟ’ ประเพณีลับในโลกสมัยใหม่

สำหรับ ‘คอนเคลฟ’ หรือ กระบวนการเลือกตั้งพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน ‘cum clave’ หมายถึง ด้วยกุญแจ สื่อถึงธรรมเนียมโบราณที่จะต้อง “ล็อกกุญแจ” ขังพระคาร์ดินัลไว้ในห้องประชุมจนกว่าจะสามารถตกลงเลือกพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ได้ เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากภายนอก

แม้ในปัจจุบันจะไม่มีการล็อกกุญแจตามตัวอักษรแล้ว แต่กฎเกณฑ์ด้านการรักษาความลับยังคงศักดิ์สิทธิ์และเข้มงวดเช่นเดิม พระคาร์ดินัลทุกรูปต้องปฏิญาณตนว่าจะไม่เปิดเผยข้อมูลใด ๆ เกี่ยวกับการประชุม ห้ามติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นจดหมาย, โทรศัพท์, วิทยุ, โทรทัศน์ หรืออินเทอร์เน็ต รวมทั้งห้ามทำข้อตกลงใด ๆ ล่วงหน้าเกี่ยวกับการลงคะแนน เพราะการละเมิดกฎถือเป็นความผิดร้ายแรงและอาจมีโทษถึงขั้นบัพพาชนียกรรม หรือถูกขับออกจากศาสนจักร (Excommunication)

ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย ความเป็นอยู่ระหว่างการประชุมคอนเคลฟ พระคาร์ดินัลจะพำนัก ณ บ้านพักนักบุญมาร์ธา (Domus Sanctae Marthae) เป็นอาคารที่พักรับรองอันสะดวกสบายภายในกำแพงนครรัฐวาติกัน มีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก ทีมแพทย์คอยดูแลอย่างใกล้ชิด แต่ในช่วงเวลาของการลงคะแนนเสียงจะจัดขึ้นภายในโบสถ์น้อยซิสทีน (Sistine Chapel) หรือภายในพระราชวังพระสันตะปาปา โดยพระคาร์ดินัลทุกรูปจะถูกตัดขาดจากโลกภายนอก

ขั้นตอนประชุมเลือกตั้งพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่
ภาพจาก : AP

เปิดขั้นตอนการลงคะแนนเสียง สัญญาณควันดำ-ขาวบ่งสัญญะ

การประชุมเลือกตั้งพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ อาจมีการลงคะแนนหลายครั้งจนกว่าจะได้ผู้ที่ได้รับ โดยต้องได้คะแนนเสียงข้างมากอย่างน้อย 2 ใน 3 ของจำนวนพระคาร์ดินัลผู้เข้าร่วมประชุม หากลงคะแนนหลายรอบแล้วยังไม่ได้ข้อยุติ อาจมีการปรับเปลี่ยนไปใช้เสียงข้างมากในการตัดสินระหว่างผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดสองอันดับแรก ระยะเวลาของการเลือกในยุคปัจจุบันจะไม่ยาวนาน โดยส่วนใหญ่ใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน เช่น คอนเคลฟที่เลือกโป๊ปฟรานซิสในปี 2013 ใช้เวลาเพียง 2 วัน ต่างจากในอดีตที่บางครั้งกินเวลานานหลายเดือนหรือหลายปี

ส่วนสัญลักษณ์ที่คนทั่วโลกรู้จักกันดีคือ “สัญญาณควัน” จากปล่องไฟของโบสถ์น้อยซิสทีน ตามธรรมเนียมแล้วหากการลงคะแนนยังไม่ได้โป๊ปองค์ใหม่จะมีการเผากระดาษลงคะแนนผสมสารเคมีให้เกิด “ควันสีดำ” แต่หากเลือกโป๊ปองค์ใหม่ได้สำเร็จแล้วจะเผากระดาษลงคะแนนเพียงอย่างเดียวให้เกิด “ควันสีขาว”

อย่างไรก็ตาม มีจุดที่น่าสังเกตุคือกฎเกณฑ์ล่าสุดที่กำหนดโดยนักบุญยอห์น ปอล ที่ 2 ในปี 1996 ไม่ได้ระบุถึงการใช้สัญญาณควันเป็นการประกาศผลอย่างเป็นทางการ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความสับสนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ซึ่งธรรมเนียมนี้อาจจะยังคงปฏิบัติสืบต่อกันมา

สัญญาณควันดำ-ขาว บ่งบอกผลการเลือกพระสันตะปาปา
ภาพจาก : AP

แม้ตามหลักการแล้ว ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาไม่จำเป็นต้องเป็นพระคาร์ดินัล แต่ในทางปฏิบัติถือเป็นที่แน่นอนว่า ประมุของค์ต่อไปของคริสตจักรคาทอลิกจะมาจากหนึ่งในพระคาร์ดินัลผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งมาจากหลากหลายเชื้อชาติและภูมิหลังทั่วโลก

ทั้งนี้ การประชุมคอนเคลฟที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตจึงเป็นเหตุการณ์สำคัญและประเพณีอันเก่าแก่หลายร้อยปีเข้ากับการปรับตัวตามยุคสมัย โดยคริสต์ศาสนิกชนหลายคนรอคอยการประกาศนามของพระสันตะปาปาพระองค์ที่ 267

การเลือกพระสันตปาปาองค์ใหม่ องค์ที่ 267
ภาพจาก : AP
เตรียมพิธีการเลือกพระสันตปาปาองค์ใหม่
ภาพจาก : AP

ข้อมูลจาก : dailymail

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

sukanlaya s.

นักเขียนบทความ SEO ประจำเว็บไซต์ The Thaiger จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชี่ยวชาญงานเขียนประเภท ข่าวกระแสสังคม และบทความไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็น รีวิวที่เที่ยว เทรนด์แฟชั่นและความงาม พร้อมแนะนำกระแสมาแรง ทันเหตุการณ์ ช่องทางติดต่อ ying@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button