ข่าวอาชญากรรม

ฝากขัง “ชวนหลิง จาง” อ้าง ‘รัฐวิสาหกิจจีน’ ส่งมาบริหาร ไชน่า เรลเวย์ฯ ปัดนอมินี

ฝากขัง “ชวนหลิง จาง” ผู้บริหารไชน่า เรลเวย์ฯ อ้างเป็นตัวแทนรัฐวิสาหกิจจีน ปัดนอมินี – เตรียมโอนเงินเยียวยาเหยื่อ สตง.ถล่ม 120 ล้าน

กรณีอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้างเกิดพังถล่มกลางกรุงเทพฯ ตอนแผ่นดินไหว กลายเป็นเหตุอื้อฉาวด้านความปลอดภัยของโครงการขนาดใหญ่ ลามไปถึงการโปงเปิงทุจริตสเปกและวัตถุดิบการก่อสร้างมากมาย

ล่าสุดกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ควบคุมตัว นายชวนหลิง จาง ชาวจีน ซึ่งถูกระบุว่าเป็นผู้บริหารของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด เข้าฝากขังต่อศาลอาญารัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568

การจับกุมเกิดขึ้นหลัง DSI สืบสวนพบความเชื่อมโยงว่าบริษัทก่อสร้างที่เป็นผู้รับเหมาโครงการ สตง. อาจจัดตั้งโดยใช้ชื่อคนไทยถือหุ้นแทน หรือเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ฐานใช้ “นอมินี” หรือบุคคลถือหุ้นแทนต่างชาติ เพื่ออำพรางโครงสร้างบริษัทที่แท้จริง

นายจาง ถูกจับที่โรงแรมหรูย่านรัชดาภิเษกเมื่อวันที่ 19 เมษายน ก่อนที่ DSI จะนำตัวมายื่นขอฝากขังครั้งแรกเป็นเวลา 12 วัน โดยไม่ได้คัดค้านการประกันตัวเนื่องจากอัตราโทษไม่เกิน 10 ปี

ในการสอบสวนเบื้องต้น นายจางให้การ ปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยยืนยันว่าไม่มีการให้ใครถือหุ้นแทน พร้อมชี้แจงว่า ตนเองเป็น ผู้แทนรัฐวิสาหกิจของประเทศจีน ซึ่งได้รับมอบหมายให้มาบริหารบริษัทในประเทศไทยในฐานะผู้บริหารที่ถูกส่งมา ไม่ใช่เจ้าของธุรกิจส่วนตัว

นายจางยังระบุว่า รัฐวิสาหกิจจีนต้นสังกัดที่เขาสังกัดอยู่ ได้อนุมัติเงินเยียวยาผู้เสียหายจากเหตุอาคารถล่มเป็นวงเงินกว่า 120 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการประสานส่งมอบเงินเยียวยาผ่านกระทรวงยุติธรรมของไทย

ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวมาถึงศาล นายจางมีสีหน้านิ่งเฉย ปฏิเสธให้สัมภาษณ์นักข่าวถึงประเด็นสำคัญที่หลายคนรอฟังคำตอบ เช่น การมีส่วนรู้เห็นในการจัดตั้งบริษัทโดยใช้คนไทยเป็นนอมินีหรือไม่

DSI กรมสอบสวนคดีพิเศษ ตอนเข้าจับกุมนายจาง

ด้านทนายความของนายจางได้เตรียมยื่น หลักทรัพย์เป็นเงินสด 1 ล้านบาท เพื่อขอปล่อยชั่วคราว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

ในคดีนี้ DSI ไม่ได้ดำเนินคดีกับชาวต่างชาติเท่านั้น แต่ยัง ออกหมายจับคนไทยอีก 3 คน ซึ่งถูกระบุว่าเป็นกรรมการผู้ถือหุ้นในบริษัทเดียวกัน และอาจมีบทบาทเป็น “นอมินี” ให้กับกลุ่มทุนต่างชาติ โดยอยู่ระหว่างติดตามตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย

ทั้งนี้ การลงทุนจากต่างชาติในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มทุนจากจีนที่เข้ามาในนาม “รัฐวิสาหกิจ” ซึ่งมักได้รับความร่วมมือระดับรัฐต่อรัฐ แต่กลับมีข้อถกเถียงในเชิงโครงสร้างธุรกิจ การปฏิบัติตามกฎหมายไทย การที่ผู้บริหารระดับสูงถูกตั้งข้อหานอมินี แม้จะอ้างสถานะเป็นตัวแทนรัฐบาลจีน ยิ่งตอกย้ำข้อกังวลว่า ระเบียบการกำกับดูแลอาจยังมีช่องโหว่

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีคำถามค้างคาใจในสังคมว่า หน่วยงานรัฐไทยที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่เหล่านี้ ได้ตรวจสอบโครงสร้างผู้ถือหุ้นและบทบาทผู้บริหารอย่างรอบคอบตั้งแต่ต้นหรือไม่

สื่อจีนเผย อาคารสตง. พังถล่ม หลังแผ่นดินไหว ก่อสร้างโดยบริษัทจีน

บริษัทรัฐสหวิสาหกิจจีนคืออะไร เป็นหน่วยงานของรัฐบาลหรือเอกชน?

บริษัทรัฐวิสาหกิจของจีน คือกิจการที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของทั้งหมดหรือส่วนใหญ่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจในนามของรัฐ กิจการเหล่านี้สำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจของจีน โดยเฉพาะในภาคส่วนยุทธศาสตร์ เช่น พลังงาน การคมนาคม การเงิน และโครงสร้างพื้นฐาน

การบริหารจัดการอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการกำกับดูแลและบริหารทรัพย์สินของรัฐ ซึ่งมีหน้าที่แต่งตั้งผู้บริหารระดับสูง อนุมัติการควบรวมกิจการ และกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับ SOE

แม้ว่าบาง SOE จะมีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และมีผู้ถือหุ้นเอกชน แต่รัฐบาลยังคงถือหุ้นส่วนใหญ่หรือมีอำนาจควบคุมผ่านการถือหุ้นโดยตรงหรือทางอ้อม นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังสามารถแทรกแซงการดำเนินงานของ SOE ได้โดยตรงผ่านการแต่งตั้งผู้บริหารหรือกำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐ

ในกรณีของนายชวนหลิง จาง ซึ่งถูกควบคุมตัวโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในข้อหากระทำผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว โดยอ้างว่าเป็นตัวแทนของรัฐวิสาหกิจจีนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย การพิจารณาว่าเขาเป็นเพียงผู้บริหารที่ถูกส่งมาจาก SOE หรือเป็นผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจควบคุมบริษัทในประเทศไทยอย่างแท้จริง จะมีผลต่อการตัดสินว่าการกระทำของเขาเข้าข่ายการใช้คนไทยเป็นนอมินีหรือไม่​

หากพิสูจน์ได้ว่านายจางเป็นเพียงผู้บริหารที่ได้รับการแต่งตั้งจาก SOE โดยไม่มีอำนาจควบคุมหรือถือหุ้นในบริษัทในประเทศไทย การกระทำของเขาอาจไม่เข้าข่ายการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว อย่างไรก็ตาม หากพบว่าเขามีบทบาทในการควบคุมหรือถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว การกระทำของเขาอาจเข้าข่ายการกระทำผิดตามกฎหมายไทย​

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button