
บริษัทเอกชน เงินเดือนออกวันไหน แต่ละที่จ่ายเงินเดือนไม่ตรงกัน คู่มือปฏิทิน วันเงินเข้าของมนุษย์ออฟฟิศ
สิ้นเดือนเหมือนสิ้นใจ ประโยคบ่นยอดฮิตของมนุษย์เงินเดือน แต่เดี๋ยวก่อน เงินเดือนจะเข้าเมื่อไหร่นะ? ทำไมเพื่อนที่ทำงานบริษัทอื่นได้เงินเดือนก่อนเรา หรือทำไมบางที่จ่ายวันสุดท้ายของเดือนเป๊ะ บางที่ก็จ่ายก่อนหน้านั้นหลายวัน จริงๆ แล้วมีหลักเกณฑ์อะไรหรือเปล่า
ความจริงก็คือ วันเงินเดือนออกของบริษัทเอกชนในประเทศไทยเนี่ย ไม่มีกฎตายตัว แต่ละบริษัทเขาก็กำหนดนโยบายกันเอง ขึ้นอยู่กับความสะดวก ระบบบัญชี หรือปัจจัยอื่นๆ แต่ถึงจะไม่มีกฎเป๊ะๆ แต่มันก็มีรูปแบบที่นิยมใช้กันอยู่ เราลองมาดูกันดีกว่าว่า “วันเงินเดือนออก” แบบไหนที่เจอบ่อยๆ กันบ้าง
1. สิ้นเดือนพอดี (วันที่ 30 หรือ 31)
บริษัทเอกชนนิยมแบบนี้ที่สุดเลยครับ จ่ายวันทำการสุดท้ายของเดือนพอดี มันลงตัวกับรอบบิลค่าใช้จ่ายส่วนตัวของคนส่วนใหญ่พอดี ไม่ว่าจะเป็นค่าบ้าน ค่ารถ ค่าบัตรเครดิต ทำให้เราวางแผนการเงินได้ง่าย บริษัทเองก็สะดวกเพราะตรงกับรอบปิดบัญชีของเขา วิน-วินทั้งคู่
2. วันที่ 25 ของทุกเดือน
ทำไมจ่ายเร็วขึ้น? อีกแบบที่นิยมรองลงมาคือจ่ายช่วงวันที่ 25 อาจจะมีบวกลบนิดหน่อย เหตุผลหลักๆ คือเพื่อให้ฝ่ายบุคคล (HR) มีเวลาพอที่จะรวบรวมข้อมูล คำนวณเงินเดือน ประกันสังคม ภาษีต่างๆ หลังจาก “วันตัดรอบ” ซึ่งหลายๆ ที่ก็มักจะตัดรอบประมาณวันที่ 25 เหมือนกัน เพื่อให้ครอบคลุม 30 วัน
ข้อดีสำหรับพนักงานคือ ได้เงินเร็วขึ้นนิดหน่อย มีเงินใช้จ่ายหรือเคลียร์บิลสำคัญๆ ก่อนสิ้นเดือน ช่วยให้สภาพคล่องดีขึ้น บางบริษัทก็มองว่าการจ่ายเร็วขึ้นเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้พนักงานด้วยนะ
3. กลางเดือน
เจอไม่บ่อยเท่าไหร่ คล้ายๆ กับแบบวันที่ 25 แต่ขยับมาเร็วขึ้นอีกนิด เป็นวันที่ 15 ของเดือน เหตุผลก็คล้ายกันคืออยากให้พนักงานได้เงินไปใช้จ่ายก่อนสิ้นเดือน แต่ก็ไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าสองแบบแรก เพราะถ้าจ่ายเงินเดือนละครั้ง กลางเดือนจะทำให้เจอปัญหาใช้เงินหมดก่อนตัดรอบบิลค่าใช้จ่าย เพราะที่อื่นเช่น ค่ามือถือ ค่าบ้าน มักกำหนดวันจ่ายเงินที่ช่วงสิ้นเดือน
ใครวางแผนการเงินไม่ดีมีลำบากแน่
แต่ก็มีบางบริษัท แต่มักจะเป็นส่วนน้อย หรือในบางอุตสาหกรรม จ่ายเงินเดือนที่ถี่กว่าเดือนละครั้ง เช่น
จ่าย 2 งวด แบ่งจ่ายเดือนละ 2 ครั้ง เช่น คำนวณยอดวันที่ 1-15 แล้วจ่ายประมาณวันที่ 16-20 จากนั้นคำนวณยอด 16-สิ้นเดือน แล้วจ่ายประมาณวันที่ 1-6 ของเดือนถัดไป ก็จะช่วยลดปัญหาใช้เงินหมดก่อนใช้หนี้ได้
4. จ่ายรายสัปดาห์
กรณีเป็นพนักงานรายเดือน อันนี้ยิ่งเจอน้อยในไทย เพราะจะเพิ่มภาระงานให้ฝ่ายการเงินและฝ่ายบุคคลดำเนินการด้านเอกสารเพิ่มหลายเท่า ข้อดีของพนักงาน เราได้เงินเร็วขึ้น ไม่ต้องรอเงินก้อนเดียวตอนสิ้นเดือน ช่วยให้จัดการค่าใช้จ่ายระหว่างเดือนได้ง่ายขึ้น ลดปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลังได้
5. ต้นเดือนถัดไป ประมาณวันที่ 1 หรือ 2
มีบ้างแต่ไม่มาก บางบริษัทอาจจะรวบยอดคำนวณทั้งหมดแล้วจ่ายในวันทำการแรกๆ ของเดือนถัดไปเลย ซึ่งพนักงานอาจจะไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ เพราะรู้สึกว่าต้องรอนานกว่าปกติ
เงินเดือนเข้าตอนไหน จ่ายยังไง?
ส่วนใหญ่บริษัทจะโอนเงินผ่านระบบธนาคารแบบอัตโนมัติ เงินมักจะเข้าบัญชีเราช่วงหลังเที่ยงคืนของวันที่กำหนด แต่ถ้าติดวันหยุด เช่น เดือนนั้นๆ วันเงินเดือนออกดันไปตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ บริษัทที่น่ารัก มักจะเลื่อนมาจ่ายให้ในวันทำการสุดท้ายก่อนวันหยุดแทน เพื่อให้เราได้เงินไปใช้จ่ายในช่วงวันหยุดได้ทันเวลา
สุดท้ายแล้ว “วันเงินเดือนออก” ที่แน่นอนของคุณ ก็ต้องดูตามนโยบายของบริษัทที่คุณทำงานอยู่เป็นหลักครับ ลองดูในสัญญาจ้างงาน หรือสอบถามกับฝ่ายบุคคล (HR) ของบริษัทเราโดยตรง จะได้ข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- วันหยุดธนาคาร เมษายน 2568 สงกรานต์ ธนาคารในห้างเปิดไหม
- วันหยุดเดือนเมษายน 2568 ข้าราชการ-ธนาคารหยุดวันไหนบ้าง
- วันหยุดสงกรานต์ เมษายน 2568 หยุดกี่วัน วันไหนบ้าง เช็กที่นี่