ไอซ์ รักชนก ชำแหละงบประกันสังคม ทำฟัน 900 บาท แนะทางแก้ไข

สส.ไอซ์ รักชนก ชำแหละงบประกันสังคม ทำฟัน 900 บาท ทั้งๆที่ควรจะมากกว่านั้น เสนอทางแก้ไข บอร์ดแพทย์ทิ้งทวนให้คนสรรเสริญ
น.ส.รักชนก ศรีนอก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) กทม. พรรคประชาชน ได้โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กถึงเรื่องเรื่องประกันสังคม โดยคราวนี้พูดถึงประกันสังคม ให้ทำฟัน 900 บาทนั้น
สส.ไอซ์ รักชนก กล่าวว่า “เรื่องเล็ก ๆ ที่ลึก ๆ สะท้อนให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างของประกันสังคม
หนึ่งในเรื่องที่ติดใจผู้ประกันตนมากที่สุดเรื่องนึง คือ ทำฟันได้แค่ 900฿ ผปกต. หลายคนคงรู้สึกว่าไม่แฟร์แต่ก็ต้องทนเพราะทำอะไรไม่ได้ ไม่รู้ว่าใครเป็นคนเคาะ ไม่รู้ว่าต้องทำยังไงถึงจะได้สิทธิ์เพิ่ม วันนี้ไอซ์จะมาแจกแจงให้ฟัง
มาตรา 54 วรรค 1 พรบ.ประกันสังคม เขียนว่าให้ผู้ประกันตนมีสิทธิ์ได้รับ ‘ประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย รวมทั้งการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค’ ถ้าแปลตรงตัวตาม พรบ นี้เลย ก็หมายถึงให้รักษาอาการเจ็บป่วย แล้วโรคในช่องปากไม่นับเป็นความเจ็บป่วยหรอ? ถ้าตอบตามหลักการแล้วต้องก็คือ ต้องนับรวมด้วยถูกไหม
ถ้าเทียบสิทธิ์ของกองทุนประกันสังคม กับ กองทุน สปสช(บัตรทอง) สปสช ให้สิทธิ์ในการรักษาช่องปากไว้เยอะกว่ามาก โดย สปสช จะมีรายการระบุชัดเจนและหลังบ้านมีบัญชีราคากลางในแต่ละรายการ ทำให้การคิดเงินมีหลังพิง แต่ประกันสังคมที่ผ่านมาไม่มีระบุรายการ ไม่มีราคากลาง บอกแค่ทำอะไรกับปากชั้นก็จ่ายให้เธอ 900฿
ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว 900฿ ควรเป็นค่าเสริมสร้างปกป้องดูแลเพื่อบรรเทาโรค แต่หากเป็น ‘ความเจ็บป่วย’ ที่เกี่ยวกับฟันหรือภายในช่องปาก ควรจะรักษาและเบิกได้ที่โรงพยาบาลที่ลงทะเบียนสิทธิ์ไว้แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นแบบนั้น
2 กพ 67 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) เคยชี้ประเด็นว่า ประกันสังคมจำกัดวงเงินค่าบริการทันตกรรมเช่นนี้ ส่งผลให้ผู้ประกันตนเข้าไม่ถึงสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐาน เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดนมีการเสนอให้เร่งแก้ไข อย่างน้อยต้องเทียบเท่ากับบัตรทอง แต่บอร์ดแพทย์ก็เฉยมาตลอด
อย่างที่ได้เคยเปิดเผยให้ทุกคนได้รับทราบ คนที่เคาะว่า ผปกต. สามารถรับสิทธิ์รักษาอะไรได้บ้าง รักษาได้เท่าไหร่ คือ ‘บอร์ดแพทย์’ โดยทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรี 100% ซึ่งบอร์ดแพทย์ชุดปัจจุบัน คือคนเคาะสิทธิ์ทั้งที่ ผปกต ใช้กันอยู่นี้แหละ บอร์ดแพทย์ชุดนี้ถูกแต่งตั้งในสมัยรัฐมนตรี ‘สุชาติ ชมกลิ่น’ และกำลังจะหมดวาระลงสิ้นเดือนนี้
ถามว่าทำไมที่ผ่านมาถึงไม่อนุมัติสิทธิ์ให้รักษาฟันได้มากกว่านี้ ไอซ์มีข้อสังเกต 3 ข้อ คือ
1) ถ้าเพิ่มสิทธิ์รักษาฟันให้มากกว่า 900฿ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น รวมแล้วจะอยู่ประมาณหลักพันล้านบาท แน่นอนว่าเป็นตัวเลขที่ไม่สูง (แต่ประเทศเราก็จ่ายกับอะไรไร้สาระไปไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่)
2) แต่เงินจำนวนนี้ ไม่ใช่กองทุนประกันสังคมที่จะต้องควักจ่ายเองทั้งหมด เพราะค่ารักษาพยาบาลที่กองทุนจ่ายให้ รพ. มันเหมาเป็นรายหัวอยู่แล้ว นั่นแปลว่ากองทุนอาจจะไม่ต้องจ่ายเพิ่มเลย แต่เงินจำนวนนี้ มันคือกำไรที่ลดลงของโรงพยาบาลที่รับสิทธิ์ประกันสังคมถัวๆกันไป
3) จากงานวิจัยของสำนักงานประกันสังคมเอง ชี้ให้เห็นว่าหากปรับเพิ่มเพดานเงินค่ารักษา แต่ไม่กำหนดเพดานราคาทำฟันระหว่างคลินิคคู่สัญญา จะทำให้คลีนิคต่างๆปรับขึ้นราคาไปตามเพดานสิทธิ์ พูดง่ายๆ ให้สิทธิ์จาก 900฿ เป็น 1200฿ คลีนิคก็ขึ้นราคาจาก 900฿ ไป 1200฿ สุดท้ายก็ไม่ได้ไปช่วยทำให้ ผปกต ได้รับบริการเพิ่มขึ้นแต่คลินิคจะถือโอกาสขึ้นราคาตาม ดังนั้นประกันสังคมต้องมีจัดทำบัญชีต้นทุนค่ารักษาและกำหนดเพดานค่ารักษาโรคในช่องปากไม่ให้เอกชนขึ้นราคาตามการขึ้นเงินทำฟัน
ทีนี้เข้าใจหรือยังว่าทำไมไม่เพิ่มสิทธิ์ให้ ผปกต. เพราะกลัว รพ. กำไรน้อยลง แต่กังวลแทนก็ไม่ผิดนะ เพราะถ้า รพ. กำไรน้อยลงมากเกินไปเค้าอาจจะไม่อยากรับสิทธิ์ประกันสังคมก็ได้ แต่ แต่ แต่ ทุกคนรู้อะไรไหม ทุกวันนี้ รพ. เอกชนบางแห่ง ถึงกับซื้อโรงพยาบาลเล็กๆเพิ่ม เพื่อเอาไว้รับประกันสังคมอย่างเดียว แถมบางทีเสนอเป้นโมเดลธุรกิจเลยว่าจะทำกำไรต่อหัวจากประกันสังคมเพิ่มอีก และเป็นที่รู้กันดีใน รพ. เอกชน ว่าสามารถทำกำไรจากประกันสังคมได้มากกว่า สปสช. นี่แหละคือความจริงที่ไม่เคยมีใครอธิบายให้ ผปกต ฟัง.
สรุป
ปัจจุบันรักษาได้ 900฿ จริงๆ ทั้งๆที่ควรจะมากกว่านั้น วิธีทางแก้ ทำได้หลักๆ คือ แก้แบบแก้เล็ก กับการแก้แบบแก้ใหญ่
1)การแก้เล็ก : บอร์ดแพทย์ชุดปัจจุบัน ไหนๆจะหมดวาระสิ้นเดือนนี้แล้ว ท่านสามารถทิ้งทวนโดยให้ผู้ประกันตนสรรเสริญท่านไปตลอดกาล ด้วยการออกประกาศฉบับนึง เพื่อปลดลอคการรักษาโรคในช่องปากโดยต้องจัดทำบัญชีต้นทุนค่ารักษาและกำหนดเพดานค่ารักษาโรคในช่องปากไม่ให้เอกชนขึ้นราคาตามการขึ้นเงินทำฟัน ถ้ากลัวว่างบจะบาน เอกชนกำไรน้อยลงแล้วจะกระทบ ไม่ต้องให้ทำทุกอย่างก็ได้ แต่ต้องมีรายการเพิ่มเติมในวงเงินที่เหมาะสม หรืออาจใช้แนวทางของ สปสช ที่มีการระบุรายการสิทธิ์การรักษา และมีราคากลางเป็นเพดานเบิกสำหรับบางโรค เพื่อไม่ให้โรงพยาบาลมาโขกราคาเอากับกองทุนมากจนเกินไป รวมถึงพิจารณาเรื่องการรับยาใกล้บ้านและสิทธิ์รักษาอื่นๆ ที่ ผปกต ได้ด้อยกว่าสิทธิ์บัตรทอง
2) การแก้ใหญ่ : คือการยกร่างแก้ พรบ ประกันสังคม เพื่อยกระดับสิทธิ์การรักษาของประกันสังคมให้ไม่ต่ำไปกว่าสิทธิ์บัตรทอง ให้ประชาชนทุกคนเสนอหน้าเท่าเทียมกัน แล้วกองทุนประกันสังคม โฟกัสแค่สิทธิ์ที่เหลือกับเรื่องการทำกำไรในการลงทุนให้ได้เยอะๆ เพื่อให้กองทุนยั่งยืนต่อไป
แล้วทำไมที่ผ่านมาไม่มีใครทำอะ ?
1) แก้เล็ก : ไม่ทำเพราะที่ผ่านมาคนในบอร์ดแพทย์ อาจจะกังวลเรื่องกำไรของ รพ. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รพ. เอกชน มากกว่าเป็นห่วงว่า ผปกต. จะได้รับสิทธิ์ที่เหลื่อมล้ำ
2) แก้ใหญ่ : เพราะ ‘สปสช’ อยู่ในกระทรวงสาธารณสุข และ ‘ประกันสังคม’ อยู่ในกระทรวงแรงงาน ไม่มีรัฐบาลไหนหรือเจ้ากระทรวงไหนที่อยากยกหม้อข้าวตัวเองให้คนอื่น และฝ่ายการเมืองที่ผ่านมา ก็เห็นกองประกันสังคมเป็นบุพเฟ่แดกไม่อั้น เวียนกันมากินแล้วก็จากไป ดังนั้นไม่มีใครคิดเรื่องรวมสิทธิ์หรอก
บอร์ดแพทย์ชุดนี้ใกล้ลากันแล้ว อยากฝากอะไรดีดีไว้ ผปกต หน่อยไหมฮะ”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สธ. ยัน พร้อมรับประกันสังคม เข้าบัตรทอง แต่ไม่บังคับ ชี้เป็นเรื่องของสิทธิ
- โฆษกกระทรวงแรงงาน สวน “ไอซ์ รักชนก” ร้อนรนเอง กลัวเสียหน้า
- รักชนก แซะ บอร์ดแพทย์ จ่อทิ้งทวนอิตาลี พิพัฒน์ ป้อง ไปดูงานจริงๆ