รู้จัก มาตรา 256 รัฐธรรมนูญ 2560 ด่านอรหันต์แก้รัฐธรรมนูญ
เปิดข้อมูล มาตรา 256 รัฐธรรมนูญ 2560 คืออะไร ทำไมจำเป็นต้องแก้ก่อนจัดทำฉบับใหม่ พร้อมเปรียบเทียบร่างแก้ไข ปชน.-พท. ต่างกันอย่างไร
จากกรณีพรรคภูมิใจไทย ประกาศจุดยืนในที่ประชุมรัฐสภาว่าจะไม่เข้าร่วมการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ที่จะเกิดขึ้นในวันนี้ (13 ก.พ.) เพื่อเปิดทางให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เนื่องจากขัดแย้งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญปี 64 ตามที่ระบุว่า ต้องมีการถามประชามติจากประชาชนก่อน
ภาคประชาชนจึงตั้งข้อสงสัย เหตุใดเราจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 ก่อน แทนที่จะเริ่มต้นจัดทำฉบับใหม่ไปเลยโดยไม่ต้องเสียเวลา เนื่องจากฉบับปัจจุบันเป็นฉบับที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในสมัยรัฐประหารเมื่อปี 2557 แบบชัดเจน
เดอะไทยเกอร์การเมืองจึงขอพาผู้อ่านทุกท่านไปรู้จักกับรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ที่เป็นด่านอรหันต์หลักในการแก้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนว่ามีเนื้อหาอย่างไร เหตุใดถึงจำเป็นต้องแก้มาตรานี้ก่อนแบบครบจบในบทความเดียว
รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 คืออะไร ทำไมต้องแก้ก่อนจัดทำฉบับใหม่?
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่ามาตรา 256 ในรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นคือ “หลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” ที่กำลังถูกบังคับใช้ในปัจจุบันตามข้อกฎหมาย ซึ่งมาตรานี้จะเป็นด่านสำคัญในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ง่ายขึ้น พร้อมเปิดทางให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จากการเลือกตั้งผ่านประชาชนให้มีส่วนร่วมต่อการจัดทำฉบับใหม่โดยแท้จริง
ทว่าปัญหาสำคัญของมาตรา 256 ฉบับปัจจุบันคือการกำหนดให้มีหลักเกณฑ์ที่เข้มงวด ยุ่งยาก และประชาชนไม่มีส่วนร่วมใด ๆ ในขั้นตอน โดยมีวิธีรัฐสภาสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ขั้น ได้แก่ ขั้นที่ 1 เสนอแก้ไข, ขั้นที่ 2 พิจารณา 3 วาระ (ขั้นรับหลักการ – ขั้นพิจารณา – ขั้นสุดท้าย) และก่อนประกาศใช้ โดยมีรายละเอียดในแต่ละขั้นดังนี้
ขั้นที่ 1 เสนอแก้ไข
ต้องมีคณะรัฐมนตรี, ประชาชนไม่ต่ำกว่า 50,000 คน, สส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนทั้งหมด (100 คนจาก 500 คน) หรือ สส. และ สว. รวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนทั้งสองสภา (140 คน) อย่างใดอย่างหนึ่งในนี้ จึงจะสามารถเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
ขั้นที่ 2 พิจารณา 3 วาระ
- วาระ 1 ขั้นรับหลักการ : สส. – สว. ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งสองสภา (350 คน) และ สว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน สว. (67 คน)
- วาระ 2 ขั้นพิจารณา : สส. – สว. เสียงข้างมากรับหลักการ (350 คน) หากกรณีประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องให้ผู้แทนประชาชนเสนอความเห็นด้วย จากนั้นรอ 15 วัน ค่อยพิจารณาวาระ 3
- วาระ 3 ขั้นสุดท้าย : สส. – สว. มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งสองสภา (351 คน) และ สว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 (67 คน) และ
สส. จากพรรคที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งใน ครม. ประธานสภาฯ หรือรองประธานสภาฯ ไม่น้อยกว่า 20%
หมายเหตุ วาระที่ 3 เป็นการเรียกชื่อและลงคะแนนแบบเปิดเผย
ขั้นที่ 3 ก่อนประกาศใช้
ในขั้นนี้ระบุว่า หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็น หมวด 1 บททั่วไป, หมวด 2 พระมหากษัตริย์, หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ, เรื่องคุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ, หน้าที่-อำนาจศาลหรือองค์กรอิสระ และเรื่องที่ทำให้ศาล-องค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้ จำเป็นต้องทำประชามติก่อน หากเห็นชอบก็สามารถขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ได้
ขณะที่ขั้นตอนการนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ยังต้องใช้ สส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 (50 คน) หรือ สว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 คน (20 คน) หรือ สส. – สว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 (70 คน) โดย 3 กลุ่มนี้อาจเสนอความเห็นต่อประธานสภาที่ตนเป็นสมาชิกหรือประธานฯ อยู่ ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมขัดต่อมาตรา 255 (เปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองหรือรูปแบบรัฐ) หรือจำเป็นต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ โดยประธานสภาผู้รับเรื่องจะดำเนินการส่งต่อไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันต่อไป จากนั้นหากวาระที่ 3 สภาลงคะแนนเสร็จเรียบร้อย ให้รอ 15 วันก่อนนำร่างแก้ไขขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคประชาชน-เพื่อไทย ต่างกันอย่างไร?
าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชนและเพื่อไทยที่นำเสนอมาในการประชุมพิจารณาข้างต้นนั้น ต่างมีสาระสำคัญคือการปลดล็อกมาตรา 256 เพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้น ผ่านการเปลี่ยนสัดส่วนเสียงเห็นชอบในทุกขั้นตอนให้น้อยลง ดังนี้
ขั้นที่ 1 เสนอแก้ไข (แบบใหม่)
- พรรคประชาชน – เพื่อไทย : สส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวน สส. (50 คน) หรือ สส. – สว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนทั้งสองสภา (70 คน) โดยยังคงเงื่อนไข ครม. และประชาชน 50,000 คนเหมือนเดิม
ขั้นที่ 2 พิจารณา 3 วาระ (แบบใหม่)
- วาระที่ 1 ของพรรคประชาชน : สส. – สว. ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งสองสภา (350 คน) และ สส. ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวน สว. (334 คน)
- วาระที่ 1 ของพรรคเพื่อไทย : สส. – สว. ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งสองสภา (350 คน)
- วาระที่ 3 ของพรรคประชาชน : สส. – สว. มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งสองสภา (351 คน) และสส. ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวน สว. (334 คน)
- วาระที่ 3 ของพรรคเพื่อไทย : สส. – สว. มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งสองสภา (351 คน)
ขั้นที่ 3 ก่อนประกาศใช้
- พรรคเพื่อไทยลดจำนวนประเด็นที่ต้องทำประชามติก่อนทูลเกล้าฯ ถวาย ดังนี้ หมวด 1, หมวด 2 และหมวด 15
- พรรคประชาชนลดจำนวนเหลือเพียง หมวด 15 เท่านั้นที่ต้องทำประชามติก่อน
ขณะที่จำนวนขั้นต่ำในการเสนอความเห็นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อยับยั้งการแก้ไขนั้น จะเปลี่ยนสัดส่วนเป็นสส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 (50 คน) หรือสว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 (20 คน) หรือ สส. – สว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 (70 คน) แทน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ภูมิใจไทย ปัดร่วมพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยันเสี่ยงขัดคำวินิจฉัยศาล
- ด่วน! กกต.รอด ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รับคำร้อง ปมชงยุบก้าวไกล
- ศาลรัฐธรรมนูญ ตีตกคำร้อง สนธิญา ชี้นโยบายเงินดิจิทัล ไม่ตรงที่หาเสียง