งดแป้ง หวังลดความอ้วน แต่น้ำหนักกลับพุ่ง ผู้ป่วยเบาหวานต้องอ่าน
สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน การรับประทานคาร์โบไฮเดรตน้อยเกินไปอาจส่งผลให้น้ำตาลในเลือดไม่คงที่ เวียนศีรษะ ตาลาย และส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกาย ในกรณีร้ายแรงอาจถึงขั้นหมดสติได้
นอกจากนี้ ภายใต้การรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำมาก ตับจะผลิตคีโตนเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะกรดคีโตนในเลือดสูงที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นมานานและมีการผลิตอินซูลินลดลงอย่างมาก
กรณีศึกษา งดคาร์บ น้ำหนักกลับเพิ่ม น้ำตาลในเลือดขึ้นๆ ลงๆ
สำนักข่าว ETToday รายงานบทสัมภาษณ์ แพทย์หญิงหยางจื่อเหวิน เล่าถึงกรณีผู้ป่วยชายอายุ 42 ปี เป็นเบาหวานประเภท 2 มาหลายปีและควบคุมได้ไม่ดี มีค่า HbA1c 9% สูง 170 ซม. น้ำหนัก 90 กก. มาพบแพทย์ด้วยความตั้งใจจะควบคุมน้ำตาลและลดน้ำหนัก
เขาปรับเปลี่ยนการกินและเริ่มเล่นเวทเทรนนิ่งอย่างจริงจัง แต่น้ำหนักลดได้แค่ 3 กก. ในสองสัปดาห์แรกเท่านั้น หลังจากนั้นน้ำหนักก็หยุดนิ่ง แล้วกลับค่อยๆ เพิ่มขึ้น ที่สำคัญคือรู้สึกเหนื่อยง่ายขึ้นเวลาออกกำลังกาย ต้องพักนานขึ้นกว่าจะฟื้นตัว แม้เล่นเวทมา 1-2 ปีแล้ว กล้ามเนื้อก็ยังน้อย น้ำตาลในเลือดก็ยังขึ้นๆ ลงๆ
เมื่อสอบถามพบว่า เขางดแป้งโดยสิ้นเชิงเพื่อลดน้ำหนัก มื้อเช้ากินแค่ไข่ต้มกับผักลวก มื้อเที่ยงซื้ออกไก่กับสลัดจากร้านสะดวกซื้อ มื้อเย็นกินเต้าหู้กับปลานึ่ง แม้ดูเหมือนเป็นอาหาร “เบาๆ ไม่หนัก” แต่ขาดคาร์โบไฮเดรตโดยสิ้นเชิง
คำแนะนำจากแพทย์ เลือกคาร์บคุณภาพดี ช่วยลดไขมัน เพิ่มกล้ามเนื้อ และควบคุมน้ำตาล
แพทย์หญิงหยางแนะนำว่า ไม่จำเป็นต้องงดแป้งทั้งหมด ควรยึดหลัก “2:1:1” (ผัก 2 ส่วน โปรตีนคุณภาพดี 1 ส่วน แป้งคุณภาพดี 1 ส่วน) และอาจใช้กลยุทธ์ “คาร์บไซเคิล” ซึ่งจะช่วยให้การออกกำลังกายมีประสิทธิภาพสูงสุด เสริมสร้างกล้ามเนื้อ และลดไขมัน
หลักการสำคัญของคาร์บไซเคิลคือการจัดการปริมาณคาร์โบไฮเดรตเพื่อให้ร่างกายมีไกลโคเจนในกล้ามเนื้อเพียงพอสำหรับการออกกำลังกาย โดยมีประโยชน์ดังนี้
1. ช่วยให้มีพลังงานในการออกกำลังกาย – เพราะไกลโคเจนในกล้ามเนื้อจะเป็นแหล่งพลังงานสำรอง หากร่างกายไม่ได้รับคาร์โบไฮเดรตเพียงพอ ไกลโคเจนจะหมดไปเรื่อยๆ ทำให้เหนื่อยง่ายขณะออกกำลังกาย
2. ฟื้นฟูกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย – เมื่อทานคาร์โบไฮเดรตหลังออกกำลังกาย จะ:
-
- ช่วยสร้างไกลโคเจนในกล้ามเนื้อขึ้นมาใหม่
- กระตุ้นการหลั่งอินซูลิน ซึ่งช่วยให้เซลล์กล้ามเนื้อดูดซึมกรดอะมิโน
- เร่งการเจริญเติบโตและซ่อมแซมกล้ามเนื้อ
3. ควบคุมน้ำตาลในเลือด – การมีมวลกล้ามเนื้อที่เพียงพอมีความสำคัญต่อการรักษาระดับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหารให้คงที่
ดังนั้น แทนที่จะงดคาร์บทั้งหมด การใช้กลยุทธ์คาร์บไซเคิลจะช่วยให้ได้ประโยชน์ทั้งในแง่การสร้างกล้ามเนื้อ การลดไขมัน และการควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่า โดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องการลดน้ำหนัก
หลังจากปรับอาหารและออกกำลังกายตามคำแนะนำเป็นเวลา 2 เดือน ผู้ป่วยสามารถลดน้ำหนักได้ 8 กก. เพิ่มมวลกล้ามเนื้อ 1.5 กก. และแม้จะรับประทานแป้ง น้ำตาลในเลือดก็คงที่กว่าเดิม
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 4 ผักผลไม้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรเลี่ยง เสี่ยงน้ำตาลในเลือดพุ่งสูง
- วิธีควบคุมน้ำตาลในเลือด คุมเบาหวานให้อยู่หมัด สุขภาพดีทันใจ
- พิธีกรสาว แจกสูตรลดน้ำหนัก ทำได้จริง ไม่ต้องงดแป้ง หายไป 50 กิโล