ข่าวต่างประเทศ

‘วิกฤตกิมจิ’ ภาวะโลกร้อนทำพิษผักกาดขาว อาหารคู่เมืองเกาหลีใต้ สูญจากประเทศ

เกาหลีใต้สั่นคลอน ‘กิมจิ’ เข้าสู่ยุควิกฤต ภาวะโลกร้อนคุกคามการปลูกผักกาดขาว และอนาคตจะยิ่งทวีคูณความเดือดร้อน อาหารคู่บ้านคู่เมืองเกาหลีใต้เสี่ยงหายไปจากโต๊ะอาหาร

สำนักข่าวต่างประเทศ Reuters รายงานว่า “กิมจิ (Kimchi)” อาหารประจำชาติเกาหลีใต้ กำลังตกเป็นเหยื่อของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นักวิทยาศาสตร์ เกษตรกร และผู้ผลิต ต่างแสดงความกังวลว่า คุณภาพและปริมาณของผักกาดขาว ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการทำกิมจิ กำลังได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น

Advertisements

‘ผักกาดขาว’ เจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศเย็น โดยปกติจะปลูกในพื้นที่ภูเขา ซึ่งปกติแล้วอุณหภูมิในฤดูร้อนจะไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส แต่จากงานวิจัยพบว่า ภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิโดยรวมในประเทศเกาหลีใต้และทั่วโลกสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการปลูกผักกาดขาว และอาจทำให้เกาหลีใต้ไม่สามารถปลูกผักกาดขาวได้อีกต่อไปในอนาคต

“เราหวังว่าการคาดการณ์เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นจริง ผักกาดขาวชอบอากาศเย็น และเจริญเติบโตได้ดีในช่วงอุณหภูมิ 18 – 21 องศาเซลเซียส” อี ยองกยู นักวิทยาพืชและไวรัสวิทยา กล่าว

กิมจิผักกาดขาว

ทั้งเกษตรกรและผู้ผลิตกิมจิต่างรู้สึกได้ถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ ‘อี ฮายอน’ ผู้เชี่ยวชาญด้านกิมจิ จากกระทรวงเกษตร กล่าวว่า “เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น แกนกลางของผักกาดขาวจะเน่า และรากจะนิ่ม และหากเป็นแบบนี้ต่อไป ในฤดูร้อนเราอาจต้องเลิกทำกิมจิผักกาดขาว”

อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสถิติของรัฐบาล ได้แสดงให้เห็นว่า พื้นที่เพาะปลูกผักกาดขาวบนที่สูงในปีที่แล้ว ลดลงเหลือไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเมื่อ 20 ปีก่อน จาก 8,796 เฮกตาร์ (54,975 ไร่) เหลือเพียง 3,995 เฮกตาร์ (หรือประมาณ 24,968.75 ไร่)

Advertisements

จากการคาดการณ์ของ Rural Development Administration หน่วยงานวิจัยด้านการเกษตร พื้นที่เพาะปลูกจะลดลงอย่างมากในอีก 25 ปีข้างหน้า เหลือเพียง 44 เฮกตาร์ (275 ไร่) และภายในปี 2090 จะไม่สามารถปลูกผักกาดขาวบนที่สูงได้อีกต่อไป

นักวิจัยระบุว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้น ฝนตกหนักที่คาดเดาไม่ได้ และศัตรูพืชที่ควบคุมยากขึ้นในฤดูร้อนที่ยาวนาน เป็นสาเหตุของการลดลงของผลผลิต และนอกจากนี้ การติดเชื้อราก็ยังสร้างปัญหาให้กับเกษตรกรไม่น้อยเช่นกัน

นับว่า ‘ภาวะโลกร้อน’ ยิ่งซ้ำเติมปัญหาที่อุตสาหกรรมกิมจิของเกาหลีใต้กำลังเผชิญ อาทิ การแข่งขันกับกิมจินำเข้าราคาถูกจากจีน ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นที่นิยมในร้านอาหาร และจากข้อมูลศุลกากรล่าสุด เผยให้เห็นสถิติว่า การนำเข้ากิมจิ เพิ่มขึ้นถึง 6.9% คิดเป็นมูลค่า 98.5 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3,360,000,000 บาท ในปีนี้ ซึ่งหากจะบอกว่าเกือบทั้งหมดมาจากจีนนั้นก็ไม่เกินจริง

ปัจจุบัน รัฐบาลเกาหลีใต้พยายามแก้ปัญหาด้วยการสร้างห้องเก็บผักกาดขาวขนาดใหญ่ ที่ควบคุมอุณหภูมิได้ เพื่อป้องกันราคาผักกาดขาวพุ่งสูง และขาดแคลน ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์กำลังเร่งพัฒนาสายพันธุ์ผักกาดขาวที่สามารถปลูกในสภาพอากาศร้อน และทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำฝน และการติดเชื้อ

วิกฤตการณ์กิมจิ

ถึงอย่างนั้น คิม ซีกัป เกษตรกรวัย 71 ปี ที่ทำงานในไร่ผักกาดขาวแถบคังนึงมาตลอดชีวิต ก็มีความกังวลว่า ผักกาดขาวสายพันธุ์ใหม่อาจจะมีราคาแพง รวมถึงรสชาติไม่เหมือนเดิม

“เมื่อเราเห็นรายงานว่า จะมีช่วงเวลาที่เกาหลีไม่สามารถปลูกผักกาดขาวได้อีกต่อไป มันช่างน่าตกใจและน่าเศร้า กิมจิเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้บนโต๊ะอาหาร เราจะทำอย่างไรถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นจริง?”

ทั้งนี้ วิกฤตการณ์กิมจิ ได้สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบร้ายแรงของภาวะโลกร้อนที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร และวัฒนธรรมการกินของคนเกาหลีใต้ ซึ่งทั่วโลกต้องร่วมมือกัน เพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ก่อนที่จะสายเกินไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button