ข่าวอาชญากรรม

ตำรวจ เตือนเอง 6 พิรุธ ‘บริษัทขายตรง’ เบื้องหลังเป็น แชร์ลูกโซ่

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือน 6 ข้อสังเกต แชร์ลูกโซ่ ที่มาในรูปแบบ ธุรกิจขายตรง

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รายงาน พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รักษาราชการแทน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ

Advertisements

ในอดีตที่ผ่านมาพี่น้องประชาชนจำนวนมากได้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่มาในรูปแบบของการชักชวนให้ลงทุนในธุรกิจ ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือการจัดสัมมนาในความรู้ บางครั้งก็จะมาในรูปแบบของการลงทุนในธุรกิจ บางครั้งก็มาในรูปแบบของการขายตรง หลอกลวงว่าจะได้รับผลตอบแทนสูง และมักจะมีรายได้จากการชักชวนสมาชิกใหม่มาร่วมธุรกิจ เช่น คดียูฟัน (Ufund) คดีแม่ชม้อย คดี FOREX-3D เป็นต้น

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอเตือนพี่น้องประชาชน ให้ระมัดระวังในการลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจลักษณะขายตรง ที่อาจเข้าข่ายเป็นขบวนการแชร์ลูกโซ่ หรือหลอกลวงประชาชน โดยมีข้อสังเกตดังนี้

1. โมเดลแชร์ลูกโซ่ – หากโครงสร้างธุรกิจเน้นการรับสมัครคนใหม่เข้าร่วมมากกว่าการขายสินค้าหรือบริการจริง โมเดลนี้ทำให้รายได้หลักมาจากการชักชวนสมาชิกใหม่และเก็บเงินค่าสมัคร แทนที่จะเกิดจากการขายสินค้า

2. การขายสินค้าหรือบริการที่ไม่ตรงความจริง – หากสินค้าหรือบริการที่เสนอขายไม่มีคุณภาพ ไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่โฆษณาไว้ หรือไม่มีสินค้าจริงในการจำหน่าย แต่มีการหลอกลวงเพื่อเก็บเงินจากผู้ร่วมธุรกิจ

3. การบังคับซื้อสินค้าหรือการลงทุนจำนวนมาก – หากบริษัทบังคับให้ผู้สมัครเข้าร่วมต้องลงทุนจำนวนมากในการซื้อสินค้าเกินความจำเป็น หรือกักตุนสินค้าโดยไม่สามารถขายออกได้จริง

Advertisements

4. การใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จหรือหลอกลวง – หากบริษัทนำเสนอข้อมูลทางธุรกิจหรือรายได้ที่เกินจริง โฆษณาผลตอบแทนที่สูงเกินจริงโดยไม่สามารถทำได้ตามสัญญา

5. การไม่มีใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง – ธุรกิจขายตรงในประเทศไทยต้องได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)

6. ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภค – หากธุรกิจไม่ให้ข้อมูลที่ชัดเจนแก่ผู้บริโภค ไม่สามารถคืนเงินหรือเปลี่ยนสินค้าตามที่กฎหมายกำหนด หรือไม่มีการคุ้มครองสิทธิ์ของผู้บริโภค ก็อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย

หากพี่น้องประชาชนพบเห็นธุรกิจในลักษณะดังกล่าว หรือสงสัยว่าอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 เพื่อที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะได้ดำเนินการตรวจสอบต่อไป

สุดท้ายนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่สถานีตำรวจในพื้นที่ และหากเป็นคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ สายด่วน 1441 หรือเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button