ข่าวต่างประเทศ

พบ “ไมโครพลาสติก” ในสมองมนุษย์ เป็นครั้งแรกของโลก

การศึกษาใหม่จากบราซิลพบ ไมโครพลาสติกในสมองคน คาดเข้าผ่านทางรูจมูก ยังไม่ทราบผลกระทบแน่ชัด แต่ในสัตว์ทำให้ระบบประสาทพัง

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานผลงานวิจัย ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 16 กันยายนในวารสาร JAMA พบไมโครพลาสติกในสมองส่วนหลอดรับกลิ่น ซึ่งเป็นบริเวณสมองที่อยู่เหนือจมูก รับผิดชอบต่อการรับรู้แยกแยะกลิ่น การค้นพบนี้ก่อให้เกิดความกังวลใหม่ว่าอนุภาคเล็ก ๆ เหล่านี้อาจหลุดผ่านเกราะป้องกันสมอง เข้าสู่บริเวณสมองที่ลึกขึ้น ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพสมองและการทำงานของระบบประสาท

Advertisements

ดร.ไทส์ มัวด์ แพทย์และหัวหน้านักวิจัย กล่าวว่า “การวิเคราะห์หลอดรับกลิ่นจากผู้ป่วยที่เสียชีวิตในเซาเปาโลของเรา ยืนยันการมีอยู่ของไมโครพลาสติก” ทำให้สันนิษฐานถึงเส้นทางที่เป็นไปได้สำหรับอนุภาคเหล่านี้ในการเข้าสู่สมอง

จนถึงตอนค้นพบนี้ ยังไม่ทราบผลที่ตามมา แต่ตั้งข้อสังเกตว่า การศึกษาในสัตว์บ่งชี้ว่าไมโครพลาสติกเป็นพิษต่อระบบประสาทและความเชื่อมโยงกับโรคเสื่อมของระบบประสาท โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลประสาทสัมผัสและความจำ

ก่อนหน้านี้ไมโครพลาสติกถูกพบในเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ปอด ลำไส้ ตับ รก อัณฑะ และกระแสเลือด แต่การวิจัยเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อสุขภาพยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อเข้าใจผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

พลาสติกในสมองจากสิ่งของในชีวิตประจำวัน

อนุภาคพลาสติกเล็ก ๆ ที่พบในหลอดรับกลิ่นของสมองมนุษย์ มักมีอยู่ในสิ่งของในชีวิตประจำวัน เช่น บรรจุภัณฑ์อาหาร เสื้อผ้า เนื่องจากมีอนุภาคเหล่านี้แพร่หลายในอากาศ ทีมวิจัยจึงเสนอว่ามนุษย์อาจได้รับไมโครพลาสติกเข้าสู่สมองโดยการหายใจเข้าไปทางจมูก คล้ายกับวิธีที่อนุภาคมลพิษทางอากาศบางชนิดเข้าสู่สมอง

พลาสติกไม่สลายตัวอย่างสมบูรณ์ แต่จะแตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ตามเวลา ปนเปื้อนในอากาศ อาหาร และน้ำ สถิติเผยว่ามนุษย์สัมผัสกับพลาสติกมากขึ้นเมื่ออยู่ในอาคาร

Advertisements

“เราได้รับการสัมผัสกับไมโครพลาสติกอย่างมาก” เธอกล่าว “เราได้รับจากการหายใจในอาคารมากกว่านอกอาคาร”

นักวิจัยตรวจสอบสมองของผู้เสียชีวิต 15 คน อายุระหว่าง 33 ถึง 100 ปี พบไมโครพลาสติกในหลอดรับกลิ่น 8 คน พลาสติกที่พบมากที่สุดคือโพลีโพรพิลีน คิดเป็นเกือบ 44% ของตัวอย่าง

โพลีโพรพิลีนถูกใช้ในสิ่งของเช่นภาชนะบรรจุอาหาร หลอดดูด และเส้นใยในเสื้อผ้าบางชนิด ส่วนพลาสติกอื่น ๆ ที่พบได้แก่

  • ไนลอน/โพลีอะไมด์ ใช้ในเสื้อผ้า พรม และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
  • โพลีเอทิลีน พบในถุงพลาสติก ขวด และภาชนะต่าง ๆ
  • โพลีเอทิลีนไวนิลอะซีเตท (EVA) ใช้ในบรรจุภัณฑ์ยืดหยุ่นและรองเท้าบางชนิด

ไมโครพลาสติกมีขนาดระหว่าง 5.5 ถึง 26.4 ไมโครเมตร เล็กกว่าฝุ่นละอองละเอียดมาก หากแบ่งความกว้างของเส้นผมมนุษย์ออกเป็น 13 ส่วน จะประมาณขนาดของไมโครพลาสติกที่เล็กที่สุดที่พบ

หลุดผ่านเกราะป้องกันสมอง

มัวด์ ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านการแพทย์ที่สถาบันการศึกษาขั้นสูงแห่งมหาวิทยาลัยเซาเปาโล กล่าวว่า มีทางผ่านเล็ก ๆ ในจมูกที่อนุญาตให้เส้นประสาทรับกลิ่นข้ามจากจมูกไปยังสมอง

เธอสงสัยว่าไมโครพลาสติกอาจเข้าสู่สมองโดยใช้เส้นทางเดียวกัน ทางผ่านโดยตรงนี้อาจทำให้อณูพลาสติกเข้าสู่สมองโดยไม่ต้องผ่านเกราะป้องกันเลือด-สมอง ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันสมองจากสารอันตราย

เส้นทางจากจมูกสู่สมองได้รับการสังเกตในอนุภาคมลพิษทางอากาศจากคาร์บอน ซึ่งบ่งชี้ว่าไมโครพลาสติกอาจทำเช่นเดียวกัน การศึกษาในสัตว์บางชิ้นระบุว่าไมโครพลาสติกอาจสามารถข้ามเกราะป้องกันเลือด-สมองและส่งผลต่อบริเวณสมองต่าง ๆ

ผลกระทบต่อสุขภาพนอกเหนือจากไมโครพลาสติก

มัวดกล่าวว่า ปัญหาพลาสติกไม่ได้มีแค่ไมโครพลาสติก แต่ยังรวมถึงสารเติมแต่งทั้งหมดที่อยู่ในพลาสติกด้วย สารเติมแต่งเหล่านี้ที่ใช้เพื่อให้คุณสมบัติเช่นสีและความทนความร้อน อาจเป็นอันตรายได้ บางชนิดเป็นสารก่อมะเร็งหรือรบกวนระบบต่อมไร้ท่อ และสามารถถูกปล่อยออกมาเมื่อพลาสติกถูกให้ความร้อน เช่น ในไมโครเวฟ

การวิจัยก่อนหน้านี้เผยว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศมีความสัมพันธ์กับการเกิดปัญหาสมอง เช่น ภาวะสมองเสื่อม โดยที่โรคบางชนิด เช่น พาร์กินสัน อาจเริ่มต้นด้วยอาการทางจมูก ทั้งฝุ่นละอองขนาดเล็กและไมโครพลาสติกมีโอกาสมากที่จะส่งผลเสียต่อการพัฒนาสมองในการทดลอง

วิธีลดการสัมผัสไมโครพลาสติก

เพื่อที่จะลดการสัมผัสกับไมโครพลาสติก มัวด์แนะนำว่าให้ลดการใช้ภาชนะและบรรจุภัณฑ์พลาสติก โดยเฉพาะสำหรับอาหารและเครื่องดื่ม เลือกเสื้อผ้าและสิ่งทอที่ทำจากวัสดุธรรมชาติแทนเส้นใยสังเคราะห์ และหลีกเลี่ยงการอุ่นอาหารในภาชนะพลาสติกหรือใช้พลาสติกห่อในไมโครเวฟ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button