ด่วน! ยุบพรรคก้าวไกล เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง หาเสียงแก้ ม.112
ไม่พลิก ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง ยุบพรรคก้าวไกล เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง หาเสียงแก้ ม.112 ชี้มีเจตนาลดทอนสถาบันจึงสั่งยุบพรรคตามที่กฎหมาย โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
จากที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย เพื่อมีคำสั่ง ยุบพรรคก้าวไกล
และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค และห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรค และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 วรรคสอง และมาตรา 94 วรรคสอง
เนื่องจากมีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567
โดยศาลรัฐธรรมนูญได้นั่งบัลลังค์และระบุว่า รัฐธรรมนูญ 49 วรรค 1 บุคคลบุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์อันทรงเป็นประมุขไม่ได้ เมื่อมีหลักฐานเชื่อว่าพรรคการเมืองกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคการเมืองนั้น กระทำการล้มล้างการปกครองอันทรงมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือได้มาซึ่งการปกครองที่ไม่ได้บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ กระทำตัวเป็นปฏิปักษ์ ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค
โดยทางผู้ถูกร้องคัดค้านว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาคำร้อง โดยชี้ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจกำกับดูแลองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มีอำนาจวินิจฉัยสั่งการให้ระงับการกระทำ แต่ไม่ได้มีอำนาจในการสั่งยุบพรรคการเมือง
แต่ทางศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ต้องดำเนินไปตามกฎหมาย และอนุญาตให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถยุบพรรคการปกครองได้ หากพรรคการเมืองหรือบุคคลใดแสดงเจตนาจะล้มล้างการปกครองอันมีพระมหากษัตริยเป็นประมุข กล่าวคือศาลมีอำนาจพิจารณาคำร้องได้
โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมองว่าหากยังปล่อยให้ผู้ถูกร้องกระทำการต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง การกระทำของผู้ถูกร้องจึงเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง เป็นความผิดสำเร็จตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 แล้ว
สำหรับ การใช้รณรงค์ หาเสียงเลือกตั้ง เกี่ยวกับ ม.112 แม้ว่าคณะกรรมการพรรคจะไม่ได้ทำ แต่คณะกรรมการพรรคมีหน้าที่ควบคุมดูแล กรรมการบริหารพรรคกระทำผิดโดยอ้อม โดยใช้ สส. เป็นตัวแทนหรือเครื่องมือในการกระทำผิด เสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับ ม.112 และแสดงบทการเคลื่อนไหว ปลุกเร้า สนับสนุน ยกเลิก ม.112 ซึ่งนำไปสู่ความขุ่นเคืองในประชาชน ยุยงให้เกิดความเกลียดชัง ผู้ถูกร้องไม่อาจโต้แย้งได้
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญฟังข้อพิจารณาโดยยุติแล้ว เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์อันเป็นประมุข ส่วนการกระทำผู้ถูกร้องอาจเป็นปฏิปักษ์หรือไม่นั้น เห็นว่าการกระทำล้มล้างการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขย่อมร้ายแรงกว่า การกระทำอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพราะปฏิปักษ์หมายถึงการทำตัวตรงข้าม รับฟังได้ว่าผู้ถูกร้องกระทำการล้มล้างการปกครองอันทรงมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการกระทำปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบบประชาธิปไตยอันทรงมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วย
ผู้ถูกร้องยังมีพฤติการณ์เข้าร่วม รณรงค์ เป็นนายประกันผู้ต้องหาผู้กระทำผิด ม.112 หรือเป็นจำเลย ม.112 เสียเอง โดยมีเจตนาแยกพระมหากษัตริย์และชาติออกจากกัน ลดทอนสถาบัน และใช้ผลประโยชน์จากสถาบันพระมหากษัตริย์ในการหาเสียงคะแนนเลือกตั้ง เป็นการทำร้ายจิตใจคนไทย และนำไปสู่การล้มล้างการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ทุกพรรคการเมืองต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน อันเป็นพฤติการณ์ที่ได้สัดส่วน และหยุดยั้งการทำลายพื้นฐานประชาธิปไตย ศาลจึงสั่งยุบพรรคตามที่กฎหมาย โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
อ่านข่าวอื่นๆ
- เปิดรายชื่อ กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ใครบ้างโดนตัดสิทธิ์ 10 ปี หลังศาลสั่งยุบพรรค
- รู้จัก บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ตุลาการเสียงข้างน้อย คดีพรรคก้าวไกล
- ประวัติ ‘พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล’ แว่วข่าวลือ สส. ก้าวไกลจะย้ายไปหลังถูกยุบพรรค
- ประวัติ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายดัง ยื่นฟ้องพรรคก้าวไกล ล้มล้างการปกครอง