คณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท สั่งปรับเงิน บีจี ปทุม ยูไนเต็ด และ เมืองทอง ยูไนเต็ด รวมกว่า 4 แสนบาท จากเหตุความวุ่นวายในนัดชิง รีโว่ คัพ
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา คณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท จัดประชุม ครั้งที่ 13/2567 โดยมี นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ เป็นประธาน ได้พิจารณาเหตุการณ์ไม่ปกติของการแข่งขันฟุตบอลนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลรายการรีโว่ คัพ คู่ระหว่าง สโมสรบีจี ปทุม ยูไนเต็ด พบ สโมสรเมืองทอง ยูไนเต็ด เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2567
ในการแข่งขันฟุตบอลนัดดังกล่าว เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติทั้งก่อนและหลังการแข่งขัน ดังนี้
เหตุการณ์ที่ 1 ก่อนการแข่งขัน กองเชียร์สโมสรบีจี ปทุม ยูไนเต็ด สวมชุดดำโบกธงเชียร์ รวมตัวกันจุดพลุแฟร์ บริเวณฝั่งอัฒจันทร์ โซน N
เหตุการณ์ที่ 2 ก่อนการแข่งขัน กองเชียร์สโมสรเมืองทอง ยูไนเต็ด บริเวณโซน S รวมกลุ่มกันร้องเพลงเชียร์ และจุดพลุแฟร์
เหตุการณ์ที่ 3 หลังจบการแข่งขันในช่วงพิธีมอบถ้วย กองเชียร์สโมสรเมืองทอง ยูไนเต็ด ลักลอกนำพลุไฟเข้าไปบนอัฒจันทร์ฝั่งโซน S และจุดพลุแฟร์ปรากฏเป็นกลุ่มควัน และมีการยิงพลุวิถีโค้ง จากอัฒจันทร์ตกลงสู่สนาม และบริเวณรอบนอกสนามแข่งขัน
เหตุการณ์ที่ 4 หลังจบการแข่งขัน และเสร็จสิ้นพิธีมอบถ้วย มีเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทกัน ระหว่างกองเชียร์สโมสรเมืองทอง ยูไนเต็ด และกองเชียร์สโมสรบีจี ปทุม ยูไนเต็ด บริเวณลานกิจกรรมโซน E มีการใช้วัสดุทำร้ายตอบโต้กันไปมา
เหตุการณ์ที่ 5 ในช่วงเวลา 21.00 น. หลังจบพิธีการมอบถ้วยภายในสนามแข่งขันแล้ว ได้รับแจ้งเหตุการณ์จากทีมงานรักษาความปลอดภัยว่ามีเหตุความเสียหายของรถกระบะ ของประชาชนที่จอดอยู่บริเวณพื้นที่ว่างด้านหลังอัฒจันทร์โซน N เกิดเหตุไฟไหม้เสียหายทั้งคันจากการจุดพลุแฟร์
– ผลพิจารณาโทษ
คณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท ได้ประชุมเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นครั้งที่ 2 โดยได้พิจารณาจากรายงานของผู้ควบคุมการแข่งขัน รายงานของฝ่ายจัดการแข่งขัน คำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ประสานงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ แถลงการณ์จากตำรวจภูธรภาค 1 พร้อมดูภาพและคลิปเหตุการณ์ประกอบกันแล้ว เห็นว่า
เหตุการณ์ที่ 1 และ เหตุการณ์ที่ 2
กองเชียร์ทั้งสองสโมสร มีการจุดพลุแฟร์ก่อนการแข่งขันนั้น เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมในสถานที่จัดการแข่งขัน และการแข่งขันในนัดดังกล่าวเป็นรอบชิงชนะเลิศเป็นนัดที่สำคัญ ทำให้เกิดภาพลบต่อการแข่งขันสำหรับประชาชนทั่วไปให้ความสนใจ ลงโทษกองเชียร์สโมสรทั้งสองสโมสร มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 4.3 ปรับเงินสโมสรละ 60,000 บาท
เหตุการณ์ที่ 3
ในเวลาประมาณ 20.16 น. ในขณะที่มีการมอบถ้วยรางวัล และเหรียญรางวัลให้นักกีฬาทั้งสองทีม กองเชียร์สโมสรเมืองทอง ยูไนเต็ด ได้จุดพลุแฟร์บนอัฒจันทร์ฝั่งโซน S ปรากฏเป็นกลุ่มควัน จำนวน 10-12 อัน และมีการยิงพลุวิถีโค้งจำนวน 4-5 อัน จากอัฒจันทร์ตกลงสู่สนาม และบริเวณรอบนอกสนามแข่งขัน โดยมีพลุตกในสนามฟุตบอลหญ้าเทียมภายในสนามธรรมศาสตร์ สเตเดียม ทำให้เกิดความเสียหาย เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมในสถานที่จัดการแข่งขัน และการแข่งขันในนัดดังกล่าวเป็นรอบชิงชนะเลิศเป็นนัดที่สำคัญ ประชาชนทั่วไปให้ความสนใจ การกระทำดังกล่าวทำให้เสื่อมเสียภาพลักษณ์ต่อวงการฟุตบอลไทย คณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท จึงมีมติเอกฉันท์ ลงโทษกองเชียร์สโมสรเมืองทอง ยูไนเต็ด มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 4.3 วรรคสอง ปรับเงิน 60,000 บาท และต้องรับผิดชอบต่อค่าเสียหายของทรัพย์สินและสถานที่ที่เกิดขึ้นด้วย
เหตุการณ์ที่ 4
กองเชียร์ทั้งสองสโมสรก่อการทะเลาะวิวาทกันปรากฎคลิปบันทึกเหตุการณ์โดยทั้งสองฝ่ายพยายามจะเข้าทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน ตอบโต้กันไปมา จึงเป็นกรณีกองเชียร์ก่อการทะเลาะวิวาทซึ่งกันและกัน ไม่ใช่เป็นการทำร้ายร่างกายกันเพียงฝ่ายเดียว คณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท จึงมีมติเอกฉันท์ ลงโทษกองเชียร์ทั้งสองสโมสร มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 4.10 วรรคสาม ปรับเงินสโมสรละ 50,000 บาท
เหตุการณ์ที่ 5
จากการประสานข้อมูลร่วมกัน ระหว่างทีมรักษาความปลอดภัย กับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เกิดเหตุ และแถลงการณ์ตำรวจภูธรภาค 1 ที่ได้รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ จนได้ข้อยุติว่า ผู้ก่อเหตุจุดพลุแฟร์จนทำให้เกิดความเสียหายกับรถกระบะประชาชนที่จอดอยู่บริเวณพื้นที่ด้านหลังอัฒจันทร์โซน N คือ กองเชียร์สโมสรบีจี ปทุม ยูไนเต็ด ที่มาให้กำลังใจสโมสรบีจี ปทุม ยูไนเต็ด ตามบทนิยามของกองเชียร์ที่ระบุไว้ในระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ โดยการจุดพลุของกองเชียร์คนดังกล่าวเป็นการกระทำการให้เกิดเพลิงไหม้ โดยประมาท และเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย หรือ การกระทำโดยประมาทนั้นอาจจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตหากมีคนอยู่บนรถที่เกิดเหตุ มีความผิดตามกฎหมายอาญา และการแข่งขันในนัดดังกล่าวเป็นรอบชิงชนะเลิศเป็นนัดที่สำคัญ ประชาชนทั่วไปให้ความสนใจ มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 4.3 วรรคสอง จะถูกปรับเงินตั้งแต่ 60,000 บาท ถึง 120,000 บาท แต่เนื่องจากสโมสรบีจี ปทุม ยูไนเต็ด มีการบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นและเยียวยาชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้เสียหายแล้ว คณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท จึงมีมติเอกฉันท์ ลงโทษกองเชียร์สโมสรบีจี ปทุม ยูไนเต็ด มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 4.3 วรรคสอง ปรับเงิน 80,000 บาท และเนื่องจากกองเชียร์สโมสรบีจี ปทุม ยูไนเต็ด เคยถูกลงโทษตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 4.3 ไปแล้วจากการกระทำผิดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 เป็นการกระทำความผิดซ้ำในข้อเดียวกัน ภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันกระทำความผิดครั้งหลังสุด จึงพิจารณาเพิ่มโทษกองเชียร์สโมสรบีจี ปทุม ยูไนเต็ด ปรับเงินเพิ่มอีก 30,000 บาท
สรุปแล้ว ทั้งสองทีมโทษปรับเงินรวมทั้งสิ้น 390,000 บาท แบ่งเป็น บีจี ปทุม ยูไนเต็ด 220,000 บาท และ เมืองทอง ยูไนเต็ด 170,000 บาท
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง