ชายไต้หวันปวดหลัง ไปหาหมอพบหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีก 40 ซม. เพราะจามแรงไป
อุทาหรณ์ ชายไต้หวันปวดหลัง หมอชี้เป็นอาการแรกเริ่มของอาการเส้นเลือดใหญ่ฉีก 40 เซนติเมตร คาดจามแรงเป็นสาเหตุ เคราะห์ดีรักษาทัน แม้โอกาสรอดมีเพียง 10%
สำนักข่าวต่างประเทศ ettoday รายงานถึงอาการป่วยของชายวัย 65 ปี จากนครไถจง ไต้หวัน ที่เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลด้วยอาการปวดหลังอย่างรุนแรง ซ้ำความดันโลหิตยังสูงลิ่วจนน่าหวั่น และหลังเอกซ์เรย์ด้วยคลื่นความถี่สูงจึงพบว่าเส้นเลือดฉีกขาดยาว 40 เซนติเมตร ซึ่งเป็นกรณีที่พบได้ยาก
จากเคสสุดแปลกที่เกิดขึ้น นายแพทย์เจิ้ง ชิงหวั่น ผู้อำนวยการห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยชิงไฮ่ (China-Hong Kong Campus of Clarification Hospital) ได้เผยว่า ผู้ป่วยได้เข้าพบแพทย์ หลังจามแรงอย่างกะทันหันท่ามกลางอากาศหนาวเย็น ในระหว่างขณะที่ทำงานอยู่ในฟาร์ม จากนั้นจึงรู้สึกปวดหลังอย่างหนัก ด้านเพื่อนร่วมงานจึงรีบนำตัวส่งห้องฉุกเฉิน
ในขณะที่ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาล ขาซ้ายด้านล่างก็เริ่มรู้สึกชาและซีด ซึ่งผลเอกซ์เรย์กระดูกสันหลังกลับไม่พบความผิดปกติ แต่ความดันโลหิตสูงถึง 285/145mmHg และความดันโลหิตที่แขนขาซ้ายขวาล่างมีความแตกต่างคือ 80 mmHg ทำให้แพทย์สันนิษฐานว่า เป็นภาวะฉุกเฉินทางหลอดเลือดจึงย้ายผู้ป่วยไปยังพื้นที่ฉุกเฉินทันที
หลังเข้ารับการตรวจอย่างละเอียดก็พบว่า หลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตา (Aorta) ฉีกขาดตั้งแต่ทรวงอก ท้อง หลอดเลือดไตซ้าย ยาวไปถึงเส้นเลือดไอลิแอคที่ขาซ้ายด้านล่าง เป็นความยาวอย่างน้อย 40 เซนติเมตร เลือดทะลักออกจากชั้นในของหลอดเลือด โดยมีเลือดสะสมอยู่ประมาณ 100 ซีซี เสี่ยงที่จะฉีกขาดขนาดใหญ่ได้ตลอดเวลา ซึ่งหากเกิดการฉีกขาดรุนแรง อัตราการเสียชีวิตจะสูงถึง 90% แต่ก็นับเป็นโชคดีที่ทีมแพทย์หัวใจและหลอดเลือดทำการวินิจฉัยและรักษาได้ทันท่วงที จึงสามารถช่วยชีวิตชายแก่คนนี้ไว้ได้
ไม่เพียงเท่านั้น นายแพทย์เจิ้ง ชิงหวั่น ยังได้เน้นย้ำด้วยว่า สาเหตุหลักที่ทำให้จามแรงจนเส้นเอออร์ต้าฉีกขาดรุนแรง เป็นผลมาจากการที่ผู้ป่วยควบคุมความดันโลหิตสูงได้ไม่ดี อันเป็นเหตุให้คุณภาพของหลอดเลือดเปราะบาง และในขณะที่ผู้ป่วยจามแรงกะทันหัน เส้นประสาทจะกระตุ้นให้หลอดเลือดหดตัวอย่างรุนแรง หากควบคุมความดันโลหิตไม่ได้ก็อาจทำให้เส้นเอออร์ต้าฉีกขาดได้ตลอดแนว
ทั้งนี้ จากเคสอุทาหรณ์ดังกล่าว นายแพทย์เจิ้ง จึงเตือนประชาชนว่า ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ควรควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติอยู่เสมอ มิเช่นนั้นหลอดเลือดจะเปราะบาง และเมื่อถูกกระตุ้นให้หดตัวอย่างมากก็จะมีความเสี่ยงที่ให้หลอดเลือดแตกได้
ข้อมูลจาก ettoday
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- อุทาหรณ์ หนุ่มจีนติดนิสัย ชอบแคะหู นาน 10 ปี จนตรวจพบเป็นมะเร็งรูหู
- ไม่ได้เป็นเฉพาะคนแก่ เด็ก 17 หมอวินิจฉัยป่วยหัวใจล้มเหลว เรื่องไม่ควรละเลย
- ‘อาจารย์เจษฎา’ แจง กระดาษทิชชู่ ไม่ได้ทำให้เป็นมะเร็งปากมดลูก