ทำไมต้องเชิดสิงโตใน “วันตรุษจีน” เปิดความเชื่อ “สัตว์ศักดิ์สิทธิ์” ชาวจีน
ตอบแล้ว สาเหตุการเชิดสิงโตในวันตรุษจีน ทำไมคนไทยเชื้อสายจีนถึงนิยมชมกิจกรรมเชิดสิงโต พร้อมอธิบายความแตกต่างระหว่างการเชิดสิงโต และการเชิดมังกร มีความหมายสื่อถึงอะไร หนึ่งในประเพณีที่ทำสืบต่อกันมายาวนาน แต่น้อยคนจะรู้สาเหตุที่แท้จริงของการเชิดสิงโต ทั้งนี้ ทีมงาน The Thaiger ได้รวบรวมข้อมูลมาให้แล้ว เตรียมต้อนรับเทศกาลวันตรุษจีน 8-10 กุมภาพันธ์ 2567 พร้อมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสวันมงคล
เปิดที่มา ทำไมต้องเชิดสิงโต “วันตรุษจีน”
เตรียมเฉลิมฉลอง วันปีใหม่จีน หรือ เทศกาลวันตรุษจีน ตอบข้อสงสัยคาใจใครหลายคน เพราะเหตุใดจึงต้องเชิดสิงโตในวันตรุษจีนประจำปี นั่นเป็นเพราะว่า ตามความเชื่อ เป็นการเชิดชู ขอพร เพิ่มบารมี เสริมสร้างความสิริมงคลให้กับชีวิต มีความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน มีอำนาจเงินทอง โชคลาภต่าง ๆ และทำให้เราโชคดีตลอดทั้งปี
อ้างอิงตามตำนานปกรณัมจีน เล่าว่า เมื่อครั้งอดีตกาลได้มีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “ตัวเหนียน” คือ สัญลักษณ์ความชั่วร้าย ได้ออกมาทำร้ายผู้คน และพืชพันธุ์ต่าง ๆ ทำให้เทพเจ้าเง็กเซียน ต้องส่งสิงโต สัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์แทนความแข็งแกร่ง น่าเกรงขาม ผู้มีพลังอำนาจ ความกล้าหาญ และจงรักภักดี มาต่อสู้กับตัวเหนียนจนชนะ และคอยอยู่ดูแลปกปักรักษาผู้คนมาโดยตลอด
เชิดสิงโต-เชิดมังกร แตกต่างกันอย่างไร
ข้อแตกต่างระหว่างการเชิดสิงโต และเชิดมังกร คือ การเชิดสิงโต เป็นพิธีกรรมที่มีมายาวนานกว่า 200 ปี โดยจะใช้คนประมาณ 1-2 คน หรือ 4-5 คน ตามขนาดของสิงโต เป็นการขอพรไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือบรรพบุรุษ เพื่อเสริมสร้างบารมี ความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิต
ต่อมาการเชิดมังกร คือ เทพเจ้าแห่งลม และฝน จุดประสงค์ของการจัดพิธีนี้เพิ่งเริ่มมีขึ้นเมื่อ 30 กว่าปีก่อน โดยจะใช้คนเป็นจำนวนนับสิบในการเชิด ตามขนาด และความยาวของมังกร เป็นพิธีการไหว้ขอฝน โดยจะมีเครื่องเซ่นต่าง ๆ ของการไหว้มังกร และในเวลาต่อมา แม้การเชิดมังกร จะถูกใช้ในพิธีการสำคัญแล้ว ก็ได้กลายมาเป็นการละเล่นพื้นบ้านของชาวจีนอีกด้วย
ลักษณะสิงโตที่เชิดในปัจจุบัน
สำหรับชาวจีน จะมีการแยกลักษณะของสิงโตออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ สิงโตเหนือ และสิงโตใต้ สิงโตที่มาจากทางเหนือ ชาวจีนเรียกว่า “สิงโตปักกิ่ง” เกิดขึ้นตั้งเเต่สมัยราชวงศ์เว่ยจิน เป็นสิงโตที่เล่นเฉพาะงานศักดิ์สิทธิ์เอาฤกษ์เอาชัย โดยมีลักษณะขนปุกปุย ตาโต มีโบว์ที่หัว ติดกระดิ่งที่ใต้คาง และหลายคนรู้จักในชื่อ “สิงโตกวางเจา” นั่นเอง
สิงโตที่มาจากทางใต้ ชาวจีนเรียกว่า “สิงโตกวางตุ้ง” การเชิดครั้งแรกเกิดขึ้นในรัชสมัยของราชวงศ์ เซ่ง ซึ่งจะประดับด้วยกระจกที่หน้า เขียนสีสันลวดลายลงบนหัว มีนอที่หน้าผาก และมีเคราที่คาง นิยมเชิดที่ประเทศไทยในปัจจุบัน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เปิดที่มา “กี่เพ้า” ชุดแดงใส่แล้วเฮงวันตรุษจีน
- ตรุษจีน 2567 นี้ ห้ามพลาด แจกพิกัดไหว้ศาลเจ้าสุดปัง 6 แห่ง
- วันตรุษจีน 2566 ประวัติวันปีใหม่จีน เทศกาลต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ