แฟชั่นและความงามไลฟ์สไตล์

เปิดที่มา “กี่เพ้า” ชุดแดงใส่แล้วเฮงวันตรุษจีน

มัดรวมไอเดียแต่งตัวชุด “กี่เพ้า” ไปรับอั่งเปาในวันตรุษจีน 2567 เปิดที่มาชุดสีแดงประจำเทศกาล พร้อมแจกพิกัดสถานที่ขายซชุดกี่เพ้า เตรียมความพร้อมก่อนถึงเข้าสู่เทศกาลตรุษจีน

วนเวียนมาอีกครั้ง สำหรับเทศกาลสุดยิ่งใหญ่แห่งปี “วันตรุษจีน” การเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินจีน เมื่อพูดถึงเทศกาลนี้ หลาย ๆ คนก็คงจะนึกถึงภาพการรวมตัวกันของสมาชิกในครอบครัว กลิ่นอายของความอบอุ่นและความสุขที่ญาติพี่น้องได้พบปะกัน ซึ่งสิ่งที่ทำให้การพบปะกันในวันตรุษจีนพิเศษกว่าการรวมตัวกันในครั้งไหน ๆ ก็คือ การที่ทุกคนในครอบครัวจะสวมใส่ ชุดกี่เพ้า สีแดง ซึ่งเป็นสีที่ชาวจีนเชื่อว่าเป็นสีมงคล และจะนำโชคลาภมาให้แก่ผู้สวมใส่

เช่นนั้นแล้วผู้อ่านเคยสงสัยหรือไม่ว่า เหตุใดต้องใส่ชุดกี่เพ้าในวันตรุษจีน และจุดเริ่มต้นของชุดกี่เพ้าเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด พร้อมแนะนำไอเดียการแต่งชุดกี่เพ้าในวันตรุษจีนปี 2567 เพื่อให้ดูทันสมัย แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม

เปิดที่มา "กี่เพ้า" ชุดแดงต้อนรับความเฮงวันตรุษจีน 2567 พร้อมแจกพิกัดซื้อชุด

“ชุดกี่เพ้า” มรดกทางวัฒนธรรมของชนชาติจีน

‘กี่เพ้า’ หรือฉีเผา(旗袍)ตามสำเนียงจีนกลาง มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ในสมัยราชวงศ์ชิง หรือราว ๆ ค.ศ.1644-1911 ซึ่งในขณะนั้นเป็นยุคสมัยที่ชนเผ่าแมนจูขึ้นปกครองและถือเป็นชนชั้นสูงสุดของแผ่นดินจีน การแต่งกายที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ณ เวลานั้นก็คือ เสื้อผ้าชุดยาวตลอดลำตัว ที่เรียกว่า ‘เผา(袍)’ หรือ ‘ฉีเผา’ โดยเป็นที่นิยมมากที่สุดในรัชสมัยคังซีและหยงเจิ้ง (ค.ศ.1662-1736) หรือยุครุ่งเรืองแห่งราชวงศ์ชิง ถึงขนาดที่ว่ามีการออกกฎสำหรับการแต่งชุดกี่เพ้า ที่หากใครไม่ปฏิบัติตามก็อาจได้รับโทษสูงสุดอย่างการถูกประหารชีวิต

ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า ฉีผาว ถือเป็นเครื่องแต่งกายในชีวิตประจำวันของหญิงสาวชาวจีนมาตั้งแต่ในสมัยราชวงศ์ชิง การสืบทอดรูปแบบการแต่งกายจากยุคสมัยหนึ่งต่อไปยังยุคสมัยอื่น ๆ จึงทำให้ชุดกี่เพ้าได้รับการขนานนามว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวจีน

ต่อมาในช่วงปีค.ศ.1840 ที่วัฒนธรรมตะวันตกเริ่มแผ่ขยายเข้าสู่แดนมังกร เพื่อจุดประสงค์ในการล่าอาณานิคม บริเวณเมืองชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะ ‘เซี่ยงไฮ้’ จึงค่อย ๆ ถูกอิทธิพลตะวันตกกลืนกิน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการแต่งกาย ขนบธรรมเนียม และประเพณี นับแต่นั้นธรรมเนียมการใส่ชุดกี่เพ้าแบบดั้งเดิมจึงค่อย ๆ เลือนหายไป

การแผ่ขยายอิทธิพลทางวัฒนธรรมของชาติตะวันตกได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชุดกี่เพ้าแบบโบราณกลายเป็นชุดกี่เพ้าแบบใหม่ที่เรียบง่ายและแพร่หลายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั่วโลกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการดัดแปลงจากชุดทรงกว้างที่คลุมทั้งตัว เหลือไว้เพียงศีรษะ มือ และเท้า ให้กลายเป็นชุดเข้ารูปกระชับกับสรีระของผู้สวมใส่มากขึ้น และปรับให้ชุดสั้นลง

เปิดที่มา "กี่เพ้า" ชุดแดงต้อนรับความเฮงวันตรุษจีน 2567 พร้อมแจกพิกัดซื้อชุด

ทำไมชาวจีนถึงนิยมใส่ “ชุดกี่เพ้า” ในวันตรุษจีน

ไม่ว่าจะเทศกาลตรุษจีนปีไหน ๆ บรรดาชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนก็มักจะสวมใส่ชุดกี่เพ้าอยู่เสมอ ๆ เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ ‘ชุดกี่เพ้า’ เป็นชุดประจำชาติของจีน และเนื่องในโอกาสที่เทศกาลสุดยิ่งใหญ่แห่งปีวนเวียนมาถึง ชาวจีนทั่วโลกจึงสวมใส่ชุดที่แสดงถึงการยกย่องเชิดชูชนชาติจีน และถือเป็นการเฉลิมฉลองแด่วันขึ้นปีใหม่ของจีนไปพร้อม ๆ กัน

เหตุใดชุดกี่เพ้าถึงยังคงได้รับความนิยมจวบจนปัจจุบัน

หลังจากที่ชนชาติตะวันตกได้แผ่ขยายอิทธิพลเข้าสู่แดนมังกร ชุดกี่เพ้าแบบดั้งเดิมจึงค่อย ๆ เลือนหายและถูกดัดแปลงให้เข้ากับยุคสมัยในช่วงเวลานั้น ๆ มากขึ้น บ้างก็มีการตกแต่งด้วยลวดลาย และเพิ่มสีสันลงไปในชุดกี่เพ้า แต่ใด ๆ ก็ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของชุดกี่เพ้าแบบโบราณ

ชุดกี่เพ้าโบราณ

ชุดทรงกว้างที่คลุมทั้งตัว เหลือไว้เพียงศีรษะ มือ และเท้า มักมีสีแดงสด สีเขียวสด และสีฟ้าสดตัดกับสีแดงและสีดำ

ชุดกี่เพ้าประยุกต์

การดัดแปลงชุดกี่เพ้าก็มีทั้งการปรับให้สั้นลง การปรับทรงชุดให้เข้ากับสรีระมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีการนำผ้าหลายชนิดมาใช้ในการตัดเย็บและมีรูปแบบหลากหลายมากขึ้น รวมไปถึงชุดกี่เพ้าที่ออกแบบตามฤดูกาลทั้งสี่ ได้แก่ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว

เปิดที่มา "กี่เพ้า" ชุดแดงต้อนรับความเฮงวันตรุษจีน 2567 พร้อมแจกพิกัดซื้อชุด

ความหมายของลวดลายบนชุดกี่เพ้า

ในปัจจุบันชุดกี่เพ้าที่ขายตามท้องตลาดเป็นชุดที่ประดับตกแต่งไปด้วยลวดลายอันงดงามมากมาย ซึ่งแต่ละลายก็แฝงไปด้วยความหมายมงคลที่แตกต่างกัน บ้างก็สื่อความถึงวาสนาบารมี บ้างก็หมายถึงความมั่งคั่งร่ำรวย

กี่เพ้าลาย “เมฆ”

“เสียงอวิ๋น” 祥云] (xiáng yún) หมายถึงลวดลายเมฆมงคลนำโชคที่ชาวจีนนิยมนำมาวาดตกแต่งบนสถาปัตยกรรม สิ่งทอ และงานศิลปะ

เหตุที่ชาวจีนเชื่อว่าเมฆเป็นสัณลักษณ์มงคลก็เพราะ เมฆนำความชุ่มชื้นมาหล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิต นอกจากนั้นชาวจีนยังถือว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความสุขและความโชคดี และสื่อความถึงสันติภาพ

กี่เพ้าลาย “ดอกโบตั๋น”

ดอกโบตั๋น หรือดอกพีโอนี่ เป็นราชาของมวลดอกไม้ และเป็นดอกไม้มงคลของประเทศจีน ซึ่งมีความหมายสื่อถึงความมั่งคั่ง ร่ำรวย ความซื่อสัตย์ เกียรติยศ ความมีโชคลาภ นอกจากนั้นยังหมายถึงความสวยงามของผู้หญิงด้วย

กี่เพ้าลาย “นกยูง”

นกยูง นับเป็นราชินีของนก จากลักษณะที่ดูสง่างาม น่าเกรงขาม หลาย ๆ คนจึงขนานนามให้เป็นสัญลักษณ์ของความสง่า และอำนาจ วาสนา และบารมี

กี่เพ้าลาย “อู่ฝู”

คำว่า “อู่ฝู” (五福) ตามสำเนียงแต้จิ๋วจะเรียกว่า “โหงวฮก” ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยก็คือ ความสุข 5 ประการ ซึ่งรูปสัญลักษณ์ของอู่ฝู ที่พบเห็นมากที่สุดจะเป็นรูปค้างคาว 5 ตัว บินล้อมรอบตัวอักษรคำว่า “โซ่ว” (寿) ที่หมายถึง อายุวัฒนะ

โชคทั้งห้า หรือความสุขทั้งห้าประการที่ล้อมรอบด้วยความมีอายุยืนจึงหมายถึงมงคล 5 ประการ ได้แก่ มั่งมี โชค อายุยืน ราบรื่น แข็งแรง

กี่เพ้าลาย “มังกร”

มังกร ถือเป็นราชาของสัตว์ทั้งปวง ตามความเชื่อของจีน อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่ง ความเป็นสิริมงคล ซึ่งยังสื่อความรวมไปถึงอำนาจ บารมี และความมั่งคั่ง

เปิดที่มา "กี่เพ้า" ชุดแดงต้อนรับความเฮงวันตรุษจีน 2567 พร้อมแจกพิกัดซื้อชุด

อีกไม่กี่วันก็จะถึงเข้าสู่เทศกาลตรุษจีน ประจำปี 2567 อย่างเป็นทางการ หากผู้อ่านท่านใดมีแพลนเดินทางไปพบปะครอบครัว หรือร่วมรับประทานอาหารกับญาติพี่น้อง ก็อย่าลืมจัดเตรียมหาชุดกี่เพ้าไปสวมใส่กัน เพื่อให้เข้ากับเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ของจีน และเพื่อเป็นการเริ่มต้นปีใหม่จีนด้วยสิ่งดี ๆ อย่างการสวมชุดแดง สีมงคลของชาวจีน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดที่มา "กี่เพ้า" ชุดแดงต้อนรับความเฮงวันตรุษจีน 2567 พร้อมแจกพิกัดซื้อชุด

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button