ไลฟ์สไตล์

วันตรุษจีน 2566 ประวัติวันปีใหม่จีน เทศกาลต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ

แม้ว่าคนทั่วโลกส่วนใหญ่จะฉลองวันปีใหม่กันในวันที่ 1 มกราคมของทุกปี แต่สำหรับชาวจีนและคนที่มีเชื้อสายจีนจะฉลองปีใหม่หรือที่เรียกว่า “ตรุษจีน” ในวันอื่นโดยจะนับวันตามปฏิทินจีนโบราณ ทำให้ในปีนี้วันตรุษจีนหรือวันปีใหม่จีน (Chinese New Year) ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม 2566

สำหรับชาวจีนนั้นจะให้ความสำคัญกับวันตรุษจีนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นวันที่สิ้นสุดฤดูหนาวและเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ แม้ว่าจะไม่ปรากฏหลักฐานว่าชาวจีนเริ่มฉลองเทศกาลตรุษจีนกันตั้งแต่เมื่อไร แต่ในอดีตพบว่าชาวจีนเฉลิมฉลองช่วงตรุษจีนกันเป็นเวลานานกว่า 15 วันเลยทีเดียว

แต่เมื่อชาวจีนต้องย้ายถิ่นฐานไปอยู่แผ่นดินอื่น จึงเกิดการรับเอาวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามาผสมในวัฒนธรรมจีนด้วย จึงทำให้ปัจจุบันเทศกาลฉลองฤดูใบไม้ผลิหรือเทศกาลวันตรุษจีนของชาวจีนในประเทศไทยนั้นเฉลิมฉลองกันเพียง 3 วัน ได้แก่ 1. วันจ่าย 2. วันไหว้ และ 3. วันเที่ยว ซึ่งในแต่ละวันชาวไทยเชื้อสายจีนก็จะมีการปฏิบัติตัวตามธรรมเนียมเก่าแก่ต่างกันไปในแต่ละวัน

ตรุษจีน 2566 วันจ่าย-วันไหว้-วันเที่ยว ตรงกับวันไหน?

‘วันจ่าย’ วันศุกร์ที่ 20 มกราคม 2566

วันจ่าย จะเป็นวันก่อนสิ้นปี ถือเป็นวันแรกที่เริ่มต้นเทศกาลต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ เหล่าลูกหลานที่มีเชื้อสายชาวจีนก็จะรีบออกไปหาซื้ออาหารและผลไม้มงคล รวมถึงเครื่องเซ่นไหว้มาเตรียมไว้ด้วย เพราะช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ในอดีตจะเฉลิมฉลองกันนานกว่า 15 วัน ดังที่บอกไปในต้นเรื่อง ดังนั้นหากดำเนินการตระเตรียมข่าวของช้า ร้านรวงต่าง ๆ ก็จะพากันปิดเพื่อไปฉลองปีใหม่กับครอบครัว ทำให้หาวัตถุดิบสำหรับจัดงานตรุษจีนได้ยากขึ้น

ทั้งนี้ในวันจ่ายก็ไม่จำเป็นจะต้องจุดธูปอัญเชิญเจ้าที่ (地主爺 / 地主爷 ตี่จู๋เอี๊ยะ) ให้ลงมาจากสวรรค์เพื่อทำการสักการบูชา เพราะเจ้าที่ไม่ได้เดินทางไปที่ไหนหลังจากเราทำการ “ไหว้ส่งเจ้าขึ้นสวรรค์” ไปเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา เพราะเทพเจ้าที่เราส่งเสด็จขึ้นสวรรค์คือเทพเจ้าเตา ไม่ใช่เจ้าที่นั่นเอง

วันตรุษจีน

‘วันไหว้’ วันเสาร์ที่ 21 มกราคม 2566

สำหรับวันไหว้ของชาวจีนในช่วงเทศกาลตรุษจีนนั้น จะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา เพื่อทำพิธีไหว้ต่างกัน ดังนี้

  • ช่วงเวลาเช้ามืด

ในตอนเช้ามืดชาวจีนจะไหว้ “ป้ายเล่าเอี๊ย” (拜老爺 / 拜老爷) คือการไหว้เทพเจ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในความเชื่อของชาวจีนจึงต้องทำการไหว้แต่เช้าตรู่เป็นลำดับแรก เพื่อให้เทพเจ้าได้มาอำนวยอวยพรให้เราประสบแต่ความเจริญในปีใหม่

การไหว้เทพเจ้านั้นจะไหว้บูชาด้วย “ซาแซ ซำเช้ง” หรือเนื้อสัตว์ 3 อย่าง ได้แก่ หมู เป็ด และไก่ หากไหว้เทพเจ้าด้วยเนื้อสัตว์ 5 อย่าง จะกลายเป็น “โหงวแซ” ซึ่งจะมี ตับ และ ปลา เพิ่มเข้าไปในเครื่องเซ่นไหว้ นอกจากนี้ก็มีจะมี เหล้า น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทอง เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องเซ่นไหว้อีกด้วย

  • ช่วงเวลาสาย

หลังจากไหว้เทพเจ้าเสร็จ ในช่วงสาย ๆ ก็จะไหว้ “ป้ายแป๋บ้อ” (拜父母) คือการไหว้บรรพบุรุษและพ่อแม่ รวมไปถึงญาติ ๆ ผู้ล่วงลับ ถือเป็นการแสดงความกตัญญูด้วยการทำความเคารพแก่ผู้หลักผู้ใหญ่ต้นตระกูลที่ทำให้ลูกหลานชาวจีนได้เกิดมาจนถึงทุกวันนี้ โดยพิธีกรรมไหว้บรรพบุรุษในวันตรุษจีนจะใช้เวลาไม่เกินเที่ยงวัน

สำหรับเครื่องเซ่นไหว้บรรพบุรุษจะประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ 3 อย่าง (ซาแซ) อาหารคาว และอาหารหวาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอาหารที่บรรพบุรุษชอบ นอกจากนี้ในพิธีกรรมไหว้บรรพบุรุษจะมีการเผากระดาษเงินกระดาษทอง รวมถึงกระดาษจำลองข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ส่งไปให้บรรพบุรุษที่อยู่บนสวรรค์อีกด้วย

หลังจากทำพิธีไหว้บรรพบุรุษเสร็จแล้ว บรรดาญาติพี่น้องเชื้อสายจีนทุกคนก็จะร่วมรับประทานอาหารที่ใช้เป็นเครื่องเซ่นไหว้ เพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งในช่วงเวลานี้จะถือว่ามีความสำคัญมาก ๆ เนื่องจากเป็นการรวมตัวครั้งใหญ่ของตระกูล เป็นช่วงเวลาที่ญาติพี่น้องจะได้เจอหน้าและพูดคุยไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบซึ่งกันและกัน

และช่วงเวลาสำคัญก็มาถึงเมื่อทุกคนในวงศ์ตระกูลรับประทานอาหารร่วมกันเสร็จ ก็จะมีการแจก อั่งเปา หรือ แต๊ะเอีย โดยบรรดาญาติผู้ใหญ่แจกให้ผู้น้อย ซึ่งต้องเป็นญาติผู้ใหญ่ที่แต่งงานแล้วเท่านั้นจึงจะแจกอั่งเปาหรือแต๊ะเอียให้เด็ก ๆ ได้

  • ช่วงเวลาบ่าย

ต่อมาในช่วงเวลาบ่ายโมง ลูกหลานชาวจีนจะเริ่มทำการไหว้ “ป้ายฮ่อเอียตี๋” (拜好兄弟) เป็นการไหว้ผีพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งพี่น้องในที่นี้ไม่ใช่ญาติทางสายเลือด เนื่องจากในอดีตเมื่อครั้งที่ชาวจีนอพยพไปแผ่นดินอื่น อาจอาศัยเรือสำเภาไปตัวคนเดียวไม่มีญาติตามไปด้วย จึงถือเอาเพื่อนร่วมทางเป็นญาติพี่น้องที่คอยช่วยเหลือกัน

เมื่อพี่น้องร่วมสาบานเหล่านั้นตายไป ก็จะมีการไหว้เพื่อรำลึกถึงสุขทุกข์ที่ได้มีร่วมกันมา โดยของไหว้จะใช้เป็นขนมเข่ง ขนมเทียน และเผือกเชื่อมน้ำตาล รวมไปถึงการเผากระดาษเงินกระดาษทองเหมือนการไหว้บรรพบุรุษด้วยเช่นกัน และจะปิดท้ายหลังจากไหว้เสร็จด้วยการจุดประทัดไล่สิ่งชั่วร้ายและเพิ่มสิริมงคลให้แก่ลูกหลานทุกคน

  • ช่วงเวลาค่ำ

หลังจากผ่านพ้นการทำพิธีไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษมาแล้ว เมื่อถึงมื้อค่ำทุกคนในครอบครัวก็จะรวมตัวกันที่โต๊ะอาหารเพื่อร่วมรับประทานอาหารและอวยปีใหม่ให้แก่กัน ในช่วงเวลาเที่ยงคืนชาวจีนที่อยู่ทางภาคเหนือจะทำเกี๊ยวที่เรียกว่า “เจี้ยวจึ” (Jiaozi) มีลักษณะคล้ายขนมต้ม ส่วนชาวจีนทางภาคใต้จะปั้นลูกอี๋และทำน้ำเชื่อมทานร่วมกัน หลังจากนั้นพอรุ่งเช้าเข้าสู่ “วันเที่ยว” ทุกคนก็จะเดินทางไปเพื่อนบ้านญาติพี่น้อง

ตรุษจีน 2566

‘วันเที่ยว’ วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม 2566

สำหรับ วันเที่ยว หรือ วันถือ จะนับว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน เพราะหากนับตามปฏิทินจีนแล้วจะตรงกับวันที่ 1 เดือนที่ 1 ของปี เรียกว่า “ชิวอิก” (初) ในวันนี้ชาวจีนผู้น้อยจะไหว้ขอพรจากผู้ใหญ่และคนที่เคารพ ส่วนชาวจีนญาติผู้ใหญ่ก็จะอวยพรผู้น้อย เป็นธรรมเนียมที่ลูกหลานเชื้อสายจีนทำสืบต่อกันมายาวนาน มีชื่อเรียกว่า “ป้ายเจีย”

แต่ก่อนที่จะเดินทางไปไหว้ญาติผู้ใหญ่ ก็จะต้องเตรียมผลไม้มงคลอย่าง “ส้มสีทอง” ติดมือไปด้วย ทั้งนี้ความเชื่อเรื่องการมอบส้มให้กันในวันตรุษจีนมาจากภาษาจีนแต้จิ๋วที่คำว่า ส้ม ออกเสียงว่า 橘 (กิก) ซึ่งไปพ้องเสียงกับคำว่า 吉 ที่แปลว่า โชคลาภ

ส่วนในภาษาจีนฮกเกี้ยนและจีนกวางตุ้ง ส้ม ออกเสียงว่า 柑 (ก้าม) ซึ่งไปพ้องเสียงกับคำว่า 金 ที่แปลว่า ทองคำ ดังนั้นการมอบส้มให้แก่กันจึงเหมือนการมอบโชคลาภและความมั่งคั่งให้กันนั่นเอง โดยธรรมเนียมปฏิบัติจะมอบส้มให้กัน 4 ผล ห่อด้วยผ้าเช็ดหน้าของเพศชายถือเป็นเรื่องสิริมงคลอย่างยิ่ง จึงทำให้วันเที่ยวมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า วันถือ นั่นเอง

วันตรุษจีน

ข้อปฏิบัติในช่วงเทศกาลตรุษจีน เพื่อความรุ่งเรืองของชีวิต

สำหรับช่วงเทศกาลตรุษจีน 2566 ไม่ว่าจะในช่วงวันจ่าย วันไหว้ หรือวันเที่ยว ชาวจีนจะยึดประเพณีที่ปฏิบัติกันมาแต่โบราณว่าควรทำ-ไม่ควรทำสิ่งใด เพื่อให้ชีวิตหลังปีใหม่พบเจอแต่ความสุขและเจริญรุ่งเรืองไปตลอดทั้งปี

สิ่งที่ควรทำก่อนวันตรุษจีน

ก่อนเริ่มเข้าสู่วันฉลองตรุษจีน ชาวจีนจะเริ่มต้นด้วยการทำความสะอาดบ้านเรือน โดยเป็นการทำความสะอาดครั้งใหญ่เลยก็ว่าได้ จะปัดกวาดเช็ดถูตั้งแต่ด้านบนลงมาด้านล่าง และด้านหน้าบ้านไปยันหลังบ้าน โดยวัตถุประสงค์ในการทำความสะอาดนั้นก็เพื่อปัดเป่าความโชคร้ายออกไป และเป็นการเตรียมพร้อมสถานที่ในการรับทรัพย์เข้ามา

และไม่เพียงทำความสะอาดเท่านั้น หากมีส่วนไหนของบ้านที่ทรุดโทรมก็จะทำการซ่อมแซมครั้งใหญ่ รวมไปถึงการทาสีส่วนต่าง ๆ ของบ้านใหม่ให้มีสีแดง และประดับตกแต่งบ้านด้วยกระดาษที่มีคำอวยพร โดยคำอวยพรที่ฮิตที่สุดในวันตรุษจีนคือข้อคววามว่า “新正如意 新年发财” (ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาฉาย / ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้) แปลว่า ขอให้สมปรารถนาในวันปีใหม่ และมั่งคั่งร่ำรวยตลอดปี

ตรุษจีน 2566

สิ่งที่ควรทำในวันตรุษจีน

สำหรับข้อปฏิบัติที่จำเป็นต้องทำในวันตรุษจีน 2566 เพื่อให้ชีวิตพบแต่ความสุขและความรุ่งเรืองนั้น มีรายละเอียดดังนี้

1. รักษาอามรณ์ดีให้ได้ตลอดทั้งวัน

ชาวจีนจะถือมากเรื่องการปฏิบัติตัวให้ดีทั้งกาย วาจา และใจ ในช่วงวันตรุษจีน เพราะเป็นวันเริ่มต้นชีวิตในปีใหม่ หากเริ่มต้นด้วยการปฏิบัติตัวไม่ดีย่อมจะส่งผลร้ายไปตลอดทั้งปี ทำให้ในปีนั้นชีวิตเราจะพบเจอแต่ความทุกข์และความเศร้า

ดังนั้นในวันตรุษจีนห้ามร้องไห้เด็ดขาด เพราะอาจทำให้เจอเรื่องเสียใจไปตลอดทั้งปี ห้ามพูดจาไม่ดีหรือสบถคำหยาบ ห้ามพูดถึงเรื่องราวในปีเก่า ห้ามทะเลาะเบาะแว้งกันในครอบครัว ห้ามพูดเรื่องผีสาง ห้ามพูดเรื่องความตาย และห้ามพูดคำว่า “สี่” เนื่องจากออกเสียงคล้ายคำว่า “ตาย” ในภาษาจีน

2. ใส่เสื้อผ้าสีแดงรับวันตรุษจีน

นอกจากจะทำความสะอาดบ้านให้ใหม่เอี่ยมอ่องแล้ว การแต่งกายด้วยชุดเสื้อผ้าใหม่สีแดงในวันตรุษจีนก็ถือว่าเป็นสิ่งมงคลที่ต้องปฏิบัติเช่นกัน เพราะสีแดงเป็นสีสว่าง เป็นสีแห่งความโชคดี ซึ่งจะนำพาโชคลาภแล้วความเจริญมาสู่ผู้สวมใส่

แต่ถึงแม้จะให้มีความเชื่อให้ใส่เสื้อผ้าใหม่ ๆ สะอาด ๆ แต่ชาวจีนก็ยังถือคติว่าไม่ควรสระผมในวันตรุษจีน เนื่องจากการสระผมในวันตรุษจีนจะชำระล้างความโชคดีออกไปจากตัวเรา ดังนั้นก่อนถึงวันตรุษจีนก็สระผมให้สะอาดเรียบร้อยกันเสียก่อน

3. ใช้ธนบัตรใบใหม่สำหรับใส่อั่งเปา

นอกจากทำความสะอาดบ้านให้เหมือนใหม่ และสวมสื้อผ้าที่ซื้อมาใหม่ ลูกหลานชาวจีนก็ต้องเตรียมธนบัตรฉบับใหม่ไว้สำหรับใส่อั่งเปาแจกเด็ก ๆ ในตระกูลด้วย เพราะการให้ของใหม่ย่อมบ่งบอกถึงความเอาใจใส่ โดยซองอั่งเป่าก็ต้องเป็นสีแดงสีงมงคล อาจมีคำอวยพรบนหน้าซองหรือไม่มีก็ได้ และธนบัตรที่ใช้ก็ควรเป็นแบงก์ร้อยเนื่องจากมีสีแดงนั่นเอง

4. ดูฤกษ์ยามก่อนออกจากบ้านไปเยี่ยมญาติ ๆ

แม้ว่าวันตรุษจีนจะเป็นวันดีวันมงคล แต่เมื่อต้องออกเดินทางไปเยี่ยมเพื่อนหรือบรรดาญาติ ๆ ก็ควรจะดูฤกษ์ยามกันสักหน่อย ทั้งนี้ก็เพื่อความเป็นสิริมงคลในการเดินทาง ทำให้เดินทางสะดวกและปลอดภัยจากอุบัติเหตุบนท้องถนน

วันตรุษจีน

สิ่งที่ไม่ควรทำในวันตรุษจีน

นอกจากความเชื่อเรื่องสิ่งที่ควรทำในช่วงเทศกาลวันตรุษจีนแล้ว คนไทยเชื้อสายจีนบางส่วนก็ยังมีความเชื่อว่าในวันตรุษจีนจะต้องไม่เข้าไปในห้องนอนของคนอื่นเด็ดขาด เพราะจะทำให้ตัวเราเองประสบความโชคร้าย ดังนั้นไม่ว่าจะคนป่วยหรือคนแก่ต่างก็ต้องแต่งตัวและออกมานั่งในห้องรับแขก

ส่วนความเชื่ออื่น ๆ ที่ไม่ควรทำในวันตรุษจีน เช่น ห้ามใช้ของมีคมเพราะถือว่าเป็นการตัดโชคลาภที่จะเข้าสู่ตัวเอง และห้ามใส่เสื้อผ้าสีขาว-ดำ เนื่องจากเป็นสีสำหรับใส่ในงานอวมงคล (งานศพ) เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังความเชื่อตามของแต่ละตระกูลที่ปฏิบัติสืบต่อกันมานานแยกต่างหากอีกด้วย

ตรุษจีน 2566

ตรุษจีนกับความเชื่อโบราณของชาวจีน

อย่างที่เล่าไปในตอนต้นว่าการเฉลิมฉลองวันตรุษจีนหรือวันปีใหม่ของชาวจีนนั้น เริ่มมาจากเทศกาลฉลองเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานว่าเริ่มขึ้นเมื่อใด แต่ก็นับว่าเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมานานกว่าร้อยปี

และประเพณีตรุษจีนนี้เองก็แฝงไปด้วยความเชื่อและตำนานต่าง ๆ ของชาวจีน อันเป็นที่มาของข้อปฏิบัติมากมายที่เห็นได้ตรุษจีนยุคปัจจุบัน ดังนั้นวันนี้นอกจากสาระความรู้เกี่ยวกับประวัติวันตรุษจีนว่ามีที่มาอย่างไรแล้วนั้น เดอะไทยเกอร์ก็มีเกร็ดความรู้ที่เกี่ยวข้องกับวันตรุษจีนมาฝากทุกคนกันด้วย

คนเกิดปีชง

ความเชื่อของชาวจีนโบราณนั้น เชื่อว่าคนเกิดปีชงห้ามแก้ชงก่อนวันตรุษจีน เนื่องจากวันตรุษจีนจะมีการไหว้เทพเจ้าที่ลงมาจากสวรรค์ ซึ่งหนึ่งในนั้นจะมีเทพ “ไท้ส่วยเอี๊ย” ที่คอยคุ้มครองชะตาชีวิตลงมาจากสวรรค์ด้วยเช่นกัน ดังนั้นหากแก้ชงก่อนตรุษจีนอาจทำให้คลาดกับเทพไท้ส่วยเอี๊ย ทำให้การแก้ชงไม่เห็นผล

นอกจากนี้ในการไหว้เทพเจ้าช่วงวันไหว้ 21 มกราคม 2566 ก็ไม่ควรให้ผู้ที่เกิดปีชงไหว้เทพก่อน เนื่องจากเป็นเริ่มต้นด้วยคนที่ยังมีมลทิน จึงถือเป็นการเริ่มไหว้เทพอย่างไม่เป็นมงคล อาจทำให้การบูชาเทพในครั้งนั้นไม่สัมฤทธิ์ผล ขอพรก็ไม่สมปรารถนา

วันตรุษจีน

เทพเจ้าเตาไฟ

อย่างที่เล่าไปตอนต้นแล้วว่าในวันจ่ายของช่วงเทศกาลตรุษจีนไม่จำเป็นต้องจุดธูปเชิญเทพลงจากสวรรค์ เนื่องจากเทพที่เป็นเจ้าที่ไม่ได้ถูกส่งขึ้นสวรรค์ไปพร้อมกับเทพเจ้าเตาไฟ (เทพเตา หรือ เจ้าเตา) ซึ่งเทพเตาไฟนั้นเป็นเทพที่สิงอยู่ในหม้อหุงข้าวของแต่ละบ้าน เป็นเทพที่จะคอยนำเรื่องราวต่าง ๆ ที่คนในบ้านทำไปรายงานบนสวรรค์ ดังนั้นใครที่แอบกระทำสิ่งไม่ดีไว้ แม้ไม่มีคนเห็น แต่เทพเตาเห็นและรู้ทุกอย่าง

ตรุษจีน 2566

อั่งเปา – แต๊ะเอีย

สิ่งสำคัญที่เป็นเอกลักษณ์หลักของเทศกาลตรุษจีนก็คืออั่งเปาและแต๊ะเอีย โดยทั้งสองอย่างนี้มีวัตถุประสงค์เดียวกันคือการที่ผู้ใหญ่ซึ่งแต่งงานแล้วมอบเงินให้แก่ผู้น้อยหรือเด็ก ๆ ทั้งนี้อั่งเปาจะเป็นเงินที่บรรจุในซองสีแดง ส่วนแต๊ะเอียก็เป็นเงินที่มอบให้ลูกหลานเช่นกัน แต่มีความหมายว่าผูกเอว เนื่องจากเงินตราสมัยก่อนเป็นเหรียญมีรูต้องร้อยเชือกแล้วผูกที่เอว

วันตรุษจีน

การจุดประทัด

หลังจากไหว้ป้ายฮ่อเอียตี๋ในช่วงตรุษจีนแล้ว ก็จะมีการจุดประทัดไล่สิ่งชั่วร้าย ตามความเชื่อของชาวจีนการจุดประทัดทำสิ่งดังนั้นเป็นไปเพื่อขับไล่ “ปีศาจเหนียน” ที่มักออกมาทำร้ายผู้คนในช่วงฤดูใบไม้ผลิ แต่ปีศาจเหนียนกลัวสีแดง กลัวเสียงดัง และกลัวไฟ จึงกลายเป็นธรรมเนียมของชาวจีนที่ต้องนำกระดาษสีแดงติดไว้ตามประตูบ้าน คอยจุดประทัดให้เกิดเสียงดัง และจุดโคมตลอดเวลา เพื่อป้องกันปีศาจเหนียนไม่ให้เข้ามาทำร้ายได้

ตรุษจีน 2566

เทศกาลวันตรุษจีนนั้น ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับคนเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ทั่วทุกมุมโลกอย่างมาก เพราะเป็นการเฉลิมฉลองที่หนึ่งปีจะเกิดขึ้นครั้งเดียว ทำให้เกิดการรวมญาติครั้งใหญ่ ไม่ต่างอะไรกับวันคริสต์มาสของชาวตะวันตกและวันสงกรานต์ของชาวไทย

นอกจากนี้ตรุษจีนยังถือเป็นการจดบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของคนจีน ผ่านธรรมเนียมปฏิบัติที่เกิดขึ้นในแต่ละครอบครัวอีกด้วย ซึ่งในวันตรุษจีน 2566 นี้ เดอะไทยเกอร์ก็ขออวยพรให้เหล่าลูกหลานชาวจีนทุกคนประสบแต่ความสุขและโชคดีตลอดทั้งปีนะคะ 新年快乐 身体健康.

Mothana

นักเขียนข่าวที่ Thaiger การศึกษาทางด้านภาษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จึงรับหน้าที่เขียนบทความไลฟ์สไตล์บันเทิง เศรษฐกิจ อยากเป็นสื่อกลางคอยขุดคุ้ยประเด็นตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงใหญ่โตมาเขียนให้ทุกคนได้อ่าน เพราะมีความเชื่อว่าสื่อที่ดีย่อมเป็นหนทางนำผู้อ่านไปสู่งานเขียนที่ดีได้ ติดต่อได้ทาง tangmo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button