นักโบราณคดี อ้าง ‘พีระมิดเก่าแก่ที่สุดในโลก’ อายุ 25,000 ปี ไม่ใช่ฝีมือมนุษย์
นักโบราณคดีเผย ‘พีระมิดที่เก่าแก่ที่สุดในโลก’ บริเวณเนินเขากุนุงปาดัง อายุกว่า 25,000 ปี ไม่ใช่ฝีมือมนุษย์
เว็บไซต์ต่างประเทศ indy100 รายงานถึงบันทึกของ Guinness World Records ที่ได้ระบุอย่างเป็นทางการว่า พีระมิดขั้นบันไดฟาโรห์โจเซอร์ (Djoser Step pyramid) ในประเทศอียิปต์ เป็นพีระมิดที่มีอายุมากที่สุดในโลก ถูกสร้างขึ้นเมื่อ 2,630 ปีก่อนคริสตกาล
ในขณะเดียวกันบทความหนึ่งที่ตีพิมพ์ในเดือนตุลาคมกลับแย้งว่า ชั้นของพีระมิดบนเนินเขากุนุงปาดัง (Gunung Padang) ในพื้นที่ทางตะวันตกของเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ถูกสร้างขึ้นราว 25,000 ปีก่อนคริสตกาล เหมือนจะเป็นช่วงเวลาที่เก่าแก่กว่าพีระมิดในอียิปต์ จนเกิดความสงสัยว่าถูกสร้างด้วยฝีมือมนุษย์หรือไม่
จากงานวิจัยของ แดนนี่ ฮิลแมน นาตาวิดจาจา (Danny Hilman Natawidjaja) หัวหน้าทีมนักธรณีวิทยาจากสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติอินโดนีเซีย ที่ได้ตีพิมพ์ในวารสาร Archaeological Prospection ได้กล่าวไว้ว่า “แกนกลางของพีระมิดประกอบด้วยลาวาแอนดีไซต์ขนาดใหญ่ที่แกะสลักอย่างพิถีพิถัน และองค์ประกอบที่เก่าแก่ที่สุดของปิรามิดน่าจะมีต้นกำเนิดมาจากเนินลาวาธรรมชาติ ก่อนจะถูกแกะสลักและปิดล้อมด้วยสถาปัตยกรรม”
พร้อมระบุเพิ่มเติมว่า การศึกษาครั้งนี้ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับการก่ออิฐขั้นสูงที่สะท้อนย้อนกลับไปถึงยุคน้ำแข็ง การค้นพบนี้ท้าทายความเชื่อดั้งเดิมที่ว่า การถือกำเนิดของการเกษตรเมื่อประมาณ 11,000 ปีที่แล้ว และอารยธรรมของมนุษย์ในช่วงเวลานั้นได้นำมาซึ่งเทคนิคการก่อสร้างขั้นสูง
“หลักฐานจากกูนุงปาดังและแหล่งอื่น ๆ อย่างโกเบคลี เทเป (Gobekli Tepe) ในประเทศตุรกี ได้แสดงให้เห็นว่าวิธีปฏิบัติในการก่อสร้างเกิดขึ่้นก่อนที่เกษตรกรรมจะถือกำเนิด”
แดนนี่ ฮิลแมน นาตาวิดจาจา ยังกล่าวอีกว่า “ความสามารถในการก่ออิฐที่น่าทึ่ง”
อย่างไรก็ดี นักโบราณคดีชาวอังกฤษคนหนึ่งได้ทำลายความเชื่อดังกล่าว โดยบอกว่าเขา “แปลกใจที่ผลการวิจัยถูกตีพิมพ์ออกมาเช่นนี้”
ฟลินต์ ดิบเบิล จากมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ เผยความจริงต่อวารสารเนเจอร์ว่า “ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนที่บ่งชี้ว่าชั้นที่ถูกฝังไว้ใต้เนินเขานั้นถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์”
“โดยเฉลี่ยแล้ว วัสดุที่กลิ้งลงมาจากเนินเขาจะหันไปหาทิศทางของมัน” พร้อมกล่าวเสริมว่า “ไม่มีหลักฐานที่พิสูจน์หรืออะไรก็ตามที่ระบุว่าเป็นสิ่งปลูกสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้น”
ทั้งนี้ บิล ฟาร์ลีย์ นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นคอนเนตทิคัตสเตต ได้ยืนยันว่า “ตัวอย่างดินอายุ 27,000 ปีจากกูนุงปาดัง แม้จะระบุวันที่ไว้อย่างถูกต้อง แต่ก็ไม่ได้สะท้อนให้เห็นว่าเกิดจากการกระทำของมนุษย์ อาทิ การพบถ่านหรือเศษกระดูก”
ด้านแดนนี่ ฮิลแมน นาตาวิดจาจา ตอบโต้คำวิจารณ์โดยกล่าวว่า “เราเปิดกว้างความคิดสำหรับนักวิจัยทั่วโลกที่ต้องการมาศึกษาที่อินโดนีเซีย และทำโครงการวิจัยเกี่ยวกับกูนุงปาดัง” ด้วยเหตุนี้วารสาร Archaeological Prospection จึงได้เริ่มลงมือตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับงานวิจัยนี้อีกครั้ง
ข้อมูลจาก indy100
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง