รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 25 สถานี มีจุดเชื่อมต่อใดบ้าง ค่าตั๋วโดยสาร
เปิดข้อมูลเส้นทาง รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 มีสถานีและจุดเชื่อมโยงการเดินทางใดบ้าง พร้อมอัตราค่าบริการ หลังคาดว่าจะเรียกเก็บค่าโดยสาร ช่วงเดือนมกราคม 2567
รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย สร้างขึ้นจากความเห็นชอบของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 โดยมีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง รวมระยะทางที่ก่อสร้างประมาณ 25 กิโลเมตร เป็นส่วนต่อขยายจากรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือรถไฟฟ้าเส้นสุขุมวิท (BTS Sukhumvit Line)
ส่วนต่อขยายที่สร้างเพิ่ม ประกอบด้วยส่วนต่อขยาย 2 ส่วน ได้แก่ ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ หรือรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ และช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต หรือรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ เป็นรถไฟฟ้าที่ให้บริการผ่าน 3 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และปทุมธานี มีสถานีที่เป็นส่วนต่อขยายจากรถไฟฟ้าสายสีเขียว รวมทั้งสิ้น 25 สถานี
สถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ แบริ่ง – สมุทรปราการ
รถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ แบริ่ง-สมุทรปราการ มีระยะทางรวม 13 กิโลเมตร เป็นระบบราง Heavy Rail Transit System มีศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดรถ 123 ไร่ ที่หลังสถานีไฟฟ้าย่อยบางปิ้ง นอกจากนี้โครงสร้างสถานียกระดับ มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ตั้งสถานีที่ยาวตามแนวเกาะกลางถนน จึงจัดวางเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ชั้น 1 ระดับพื้นดิน ชั้น 2 ระดับจำหน่ายตั๋ว และชั้น 3 ระดับชานชาลา
รถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ขยายจาก BTS สายสุขุมวิทช่วงอ่อนนุช แบริ่ง บริเวณปากซอยสุขุมวิท 107 บางสถานีจะเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนสายอื่น ๆ เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเดินทางได้สะดวก เปิดให้บริการรวมทั้งหมด 9 สถานี โดยมีจุดเชื่อมต่อต่าง ๆ ดังนี้
1. สถานีสำโรง เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีเหลือง
2. สถานีปู่เจ้า
3. สถานีช้างเอราวัณ
4. สถานีโรงเรียนนายเรือ
5. สถานีปากน้ำ
6. สถานีศรีนครินทร์
7. สถานีแพรกษา
8. สถานีสายลวด
9. สถานีการเคหะสมุทรปราการ
สถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ หมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต
รถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ หมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต มีระยะทางรวม 19 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับตลอดเส้นทาง มีจุดเริ่มต้นที่สถานีห้าแยกลาดพร้าว ต่อเนื่องจากสถานีหมอชิต ผ่านแยกรัชโยธิน และแยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปจนถึงบริเวณแยกหลักสี่ มีจุดสิ้นสุดที่คูคต
สถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ประกอบด้วยสถานีทั้งหมด 16 สถานี มีหลายสถานีที่เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่น ๆ ทั้งรถโดยสารสาธารณะและท่าเรือ ผู้ใช้บริการสามารถเดินทางได้สะดวก เปิดให้บริการรวมทั้งหมด 16 สถานี โดยมีจุดเชื่อมต่อต่าง ๆ ดังนี้
1. สถานีห้าแยกลาดพร้าว เชื่อมต่อรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – เตาปูน)
2. สถานีพหลโยธิน 24
3. สถานีรัชโยธิน
4. สถานีเสนานิคม
5. สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
6. สถานีกรมป่าไม้
7. สถานีศรีปทุม เชื่อมต่อท่าเรือโดยสารท่าพหลโยธิน และรถโดยสารประจำทางสาธารณะ
8. สถานีกรมทหารราบที่ 11 ใกล้กับอู่รถโดยสารประจำทาง ขสมก. เขตการเดินรถที่ 1 บางเขน
9. สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ เชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี
10. สถานีพหลโยธิน 29
11. สถานีสายหยุด
12. สถานีสะพานใหม่ เชื่อมต่อท่าเรือโดยสารท่าตลาดยิ่งเจริญ และรถโดยสารประจำทางสาธารณะ
13. สถานีโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช
14. สถานีพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ
15. สถานีแยก คปอ.
16. สถานีคูคต
รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายทั้ง 2 ช่วง มีบันไดเลื่อน ลิฟต์ ห้องน้ำ ป้ายประชาสัมพันธ์ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อผู้พิการ และเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2560 – 2563 โดยผู้ใช้บริการไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งในปีหน้าจะเก็บค่าบริการแล้ว
เตรียมเก็บค่าโดยสารหลังปีใหม่
บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ออกมาเปิดเผยว่า จะปรับระบบซอฟต์แวร์ โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 30 วัน เพื่อเตรียมระบบก่อนจัดเก็บค่าโดยสาร โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มเก็บค่าโดยสารได้ ในช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2567
สำหรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จะเรียกเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายอีก 15 บาทเท่านั้น ซึ่งในปัจจุบันค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวเริ่มต้นที่ 17 บาท สูงสุด 47 บาท หากเก็บค่าใช้บริการส่วนต่อขยายเพิ่ม จะรวมเป็นสูงสุดไม่เกิน 62 บาทตลอดสาย
อย่างไรก็ตาม ค่าโดยสารที่เริ่มต้นจากสถานีที่เป็นส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีเขียว คาดว่ามีอัตราเริ่มต้นที่ 15 บาท จากนั้นปรับเพิ่ม 3 บาทต่อสถานี แต่สูงสุดไม่เกิน 30 บาท ทั้งนี้ อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต
ตัวอย่างคำนวณค่าตั๋วนั่ง BTS ไปส่วนต่อขยาย
หากผู้โดยสารขึ้นรถไฟฟ้าสายสีเขียวหรือสายสุขุมวิท จากสถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปลงสถานีคูคต จากเดิมจะเสียค่าบริการ 35 บาท แต่หากมีการเก็บค่าบริการส่วนต่อขยายที่ 2 จะต้องเสียเพิ่มอีก 15 บาท ดังนั้น ผู้โดยสารจะต้องเสียค่าบริการเพิ่ม รวมเป็นเงิน 50 บาท
ขอบคุณข้อมูลจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง