เศรษฐกิจ

ครูโรงเรียนรัฐ VS เอกชน ทำงานที่ไหนก้าวหน้ากว่ากัน ชำแหละเงินเดือน ภาระงาน

เปรียบเทียบชัด ๆ บรรจุราชการครู กับ เป็นครูโรงเรียนเอกชน แตกต่างกันอย่างไร เช็คข้อดี-ข้อเสีย เงินเดือน และสวัสดิการที่ได้รับ ใครอยากเป็นครูฟังทางนี้

อาชีพครู ถือว่าเป็นหนึ่งอาชีพในฝันของใครหลาย ๆ คน ด้วยภาพลักษณ์ที่ใครก็ต่างให้ความเคารพนับถือ ได้อบรมสั่งสอนลูกศิษย์ทั้งความรู้และแนวทางการใช้ชีวิต ความสนุกเมื่อได้ใช้เวลาร่วมกับเด็ก ๆ และเพื่อนครู และที่สำคัญที่สุดได้พัฒนาอนาคตของชาติให้ไปในเส้นทางแห่งฝันและลู่ทางที่ถูกต้อง แต่พอมาถึงจุดนี้อาจเกิดคำถามว่า การสอบบรรจุครูในโรงเรียนรัฐบาล หรือ การสมัครเป็นครูเอกชน แบบไหนจะดีกว่ากัน วันนี้จึงขอพาทุกคนมาเปรียบเทียบกันปอนด์ต่อปอนด์ถึงข้อดีและข้อเสีย รวมถึงเงินเดือนและสวัสดิการ

ครูโรงเรียนรัฐบาล

ข้อดี – ข้อเสียของครู รร.รัฐฯ กับ ครู รร.เอกชน

สำหรับใครที่กำลังจะเรียนจบปริญญาตรีในสายครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ เรียนจบแล้วแต่จะไปต่อวุฒิครูอีก 1 ปี หรือแม้กระทั่งน้อง ๆ มัธยมปลายที่กำลังตัดสินใจสอบ TCAS เพื่อเข้าคณะสายการศึกษา กำลังคิดไม่ตกว่าหากต้องไปเป็นครูแล้วจะสอบเพื่อบรรจุครู หรือ ไปเป็นครูเอกชนดี เรามีข้อดีและข้อเสียของแต่ละฟากฝั่งเพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกประกอบอาชีพ

ครูโรงเรียนรัฐบาล (รับราชการครู)

ข้อดี

  • เป็นอาชีพที่มีเกียรติและได้รับการนับหน้าถือตาจากคนทั่วไป
  • เป็นงานที่มั่นคง หากได้รับตำแหน่งแล้วสามารถทำงานได้จนเกษียณอายุราชการ ไม่สามารถเลิกจ้างเราได้ (ยกเว้นกรณีทำผิดวินัยร้ายแรงถึงขั้นให้ออกจากตำแหน่ง)
  • เวลาทำงานชัดเจน 08.00 – 16.30 น. ตามเวลาราชการ หากเป็นเวรหน้าประตูโรงเรียนอาจต้องมาทำงานไวกว่าเดิม
  • มีเงินพิเศษหากทำผลงานเพื่อรับตำแหน่งวิทยฐานะ อาทิ ชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เป็นต้น
  • เงินเดือนขึ้นปีละ 2 ครั้งในช่วงปลายเทอมของทุกเทอม
  • มีเครดิตด้านการเงินที่ดี สามารถยื่นกู้ หรือ ขอสินเชื่อการเงินได้ง่าย เนื่องจากมีรายได้ที่แน่นอน
  • มีบำเหน็จ หรือ บำนาญ รวมถึงกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) รองรับหลังเกษียณอายุราชการ
  • ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลและทันตกรรมข้าราชการ ซึ่งครอบคลุมไปถึง คู่สมรส บุตร และบิดามารดา
  • ได้ทำกิจกรรมมากมายของโรงเรียนนอกเหนือจากการสอน เช่น งานภาษาไทย งานกีฬาสี ทัศนศึกษา เป็นต้น
  • ได้อยู่และคลุกคลีกับเด็กนักเรียน ทำให้รู้วิธีคิดและแนวคิดของนักเรียนในแต่ละยุค เพื่อนำมาปรับใช้ในการสอนและนำเรื่องราวมาสั่งสอนให้พวกเขาเป็นคนที่ดีกว่าเดิม

ข้อเสีย

  • การสอบแข่งขันเพื่อเข้าบรรจุมีอัตราสูง
  • เงินเดือนในช่วงแรกค่อนข้างน้อยหากเทียบกับบริษัทเอกชน
  • ทำงานเยอะแต่ได้เงินเดือนเท่าเดิม ไม่มีโบนัส ไม่มี OT
  • หากบรรจุใหม่มีการตกเบิกเงินเดือนที่ค่อนข้างนาน อาจเกิดผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงิน
  • ภาระงานที่นอกเหนือจากการสอนที่มากจนเกินไป อาทิ งานธุรการ งานบุคคล งานทะเบียน งานพัสดุ เป็นต้น
  • ได้ทำงานอื่นที่ไม่ใช่งานสอนเยอะเกินไป จนไม่มีเวลาไปสอนนักเรียนที่เป็นหน้าที่หลัก
  • ระบบการทำงานที่เชื่องช้าและล้าสมัย ไม่ทันโลกยุคปัจจุบัน รวมถึงงานเอกสารที่มากเกินความจำเป็นในปี 2023
  • ไม่มีงบสนับสนุนในการจัดการเรียนการสอน ต้องออกเงินด้วยตัวเอง
  • ระบบไม่เอื้ออำนวยในการพัฒนาตัวเอง
  • หากได้บรรจุในโรงเรียนเล็ก งบประมาณน้อย อาจต้องทำงานทุกอย่างภายในโรงเรียน
  • ระบบอาวุโส ผู้สูงอายุต้องมาก่อน
  • แม้จะได้หยุดเสาร์ – อาทิตย์ แต่บางสัปดาห์ต้องไปอบรมนอกสถานที่

การรับราชการครูมีข้อดีคือเป็นอาชีพที่มั่นคง สามารถดูแลตัวเองและครอบครัวได้เป็นอย่างดี ด้วยสวัสดิการที่ครอบคลุม นอกจากการสอนก็ได้ฝึกทำงานอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมาย อีกทั้งยังเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย และเมื่อเกษียณราชการก็ได้รับเงินบำเหน็จหรือบำนาญ รวมถึงได้รับเงินก้อนหนึ่งเพื่อใช้ในบั้นปลายชีวิต

ส่วนข้อเสียหลัก ๆ คือระบบราชการที่ค่อนข้างล่าช้า ภาระงานอื่น ๆ ที่เยอเกินจนอาจเบียดบังเวลาสอนนักเรียน เงินเดือนในช่วงแรกที่ตกเบิกและไม่คุ้มค่ากับภาระงานที่ได้รับ แถมเสาร์-อาทิตย์ อาจไม่ได้หยุดจริง ๆ

ครูโรงเรียนเอกชน

ครูโรงเรียนเอกชน

ข้อดี

  • ไม่ต้องเรียนจบจากคณะครูก็สามารถสมัครเพื่อเป็นครูได้
  • ได้สอนนักเรียนอย่างเต็มที่ ไม่มีงานอื่นมาเบียดบังในการทำหน้าที่
  • เวลาทำงาน 08.00 – 17.30 น. หากเป็นเวรหน้าประตูโรงเรียนอาจต้องมาทำงานไวกว่าเดิม
  • ครูมีคุณภาพ ใส่ใจรายละเอียดในการสอน มีการแบ่งหน้าที่และภาระงานอย่างชัดเจน
  • ได้พัฒนา และท้าทายตนเองอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาระงานสอนและงานอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมาย
  • เงินเดือนเพิ่มขึ้นทุกปี หากมีครูคนไหนมีศักยภาพสูง จะได้ขึ้นเงินเดือนในทุก ๆ เทอม
  • หากบรรจุเป็นพนักงานเอกชนได้ จะได้รับสิทธิ์รักษาพยาบาล แต่จะได้เฉพาะตัวเองเท่านั้น ไม่ครอบคลุมถึงคนในครอบครัว อีกทั้งต้องสำรองจ่ายไปก่อน แล้วค่อยมาทำเรื่องเบิกคืน
  • สาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกของโรงเรียนครบครัน หากขาดเหลืออะไรทางโรงเรียนจะจัดซื้อมาให้
  • สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยในการจัดการเรียนการสอน
  • มีการสอนพิเศษให้แก่นักเรียนที่เราดูแลประจำชั้นหลังเลิกเรียน ทำให้ได้รายได้เสริมอีก 2-4 พันบาท
  • สามารถกู้ยืมเงินได้

ข้อเสีย

  • เงินเดือนเริ่มต้นน้อยมาก อาจไม่ถึงเกณฑ์ 15,000 บาท ตามเงินเดือนขั้นต่ำของวุฒิปริญญาตรี (ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงเรียน)
  • มีโอกาสถูกเลิกจ้างได้ทุกเมื่อ ไม่มีความมั่นคงแน่นอน
  • ถูกใช้งานแบบคุ้มค่าเกินเงินเดือน ในกรณีที่มีศักยภาพสูงกว่าครูคนอื่น
  • มีวันหยุดแค่ 1 วัน คือวันอาทิตย์

ครูโรงเรียนเอกชนมีข้อดีคือมีเวลาได้สอนนักเรียนแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ได้พัฒนาและท้าทายตนเองเสมอ เงินเดือนแปรผันตรงกับความสามารถในการสอนของครูแต่ละคน มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ พร้อมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน และมีรายได้เสริมนอกเหนือจากเงินเดือน

ส่วนข้อเสีย คือ เงินเดือนที่ค่อนข้างน้อย มีวันหยุดเพียง 1 วัน โรงเรียนใช้งานครูจนคุ้มเงินเดือน อีกทั้งอาจถูกเลิกจ้างได้ทุกเมื่อ ความมั่นคงในชีวิตต่ำ

เงินเดือนกับสวัสดิการของครู ร.ร. รัฐฯ และ ครู ร.ร.เอกชน

เงินเดือนกับสวัสดิการของครู รร. รัฐฯ และ ครู รร.เอกชน

ประเด็นสำคัญของการตัดสินใจในการประกอบทุกอาชีพนั่นคือผลตอบแทน หรือเงินเดือนนั่นเอง เรามาดูกันดีกว่าว่ารายได้ต่อเดือนของครูโรงเรียนรัฐบาล กับ โรงเรียนครูเอกชน มีความแตกต่างมากน้อยเพียงใด

เงินเดือนของครูโรงเรียนรัฐบาล

เงินเดือนครูในโรงเรียนรัฐบาล ตามพระราชบัญญัติ เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่ง ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 ได้กำหนดอัตราขั้นเงินเดือนข้าราชการครู ดังนี้

  • ครูผู้ช่วย : ฐานเงินเดือนขั้นต่ำ 15,050 บาท ฐานเงินเดือนขั้นสูง 24,750 บาท
  • ครู คศ.1 : ฐานเงินเดือนขั้นต่ำ 15,440 บาท ฐานเงินเดือนขั้นสูง 34,310 บาท
  • ครู คศ.2 : ฐานเงินเดือนขั้นต่ำ 16,190 บาท ฐานเงินเดือนขั้นสูง 41,620 บาท

อีกทั้ง ครู คศ.2 จะได้รับเงินพิเศษเพิ่มเติม คือ

– ค่าวิทยฐานะ ตำแหน่ง ชำนาญการ 3,500 บาท

หากรวมเงินพิเศษด้วย ครู คศ.2 จะได้รับเงินเดือนสูงสุด 45,120 บาท

  • ครู คศ.3 : ฐานเงินเดือนขั้นต่ำ 18,860 บาท ฐานเงินเดือนขั้นสูง 58,390 บาท

อีกทั้ง ครู คศ.3 จะได้รับเงินพิเศษเพิ่มเติม คือ

– ค่าวิทยฐานะ ตำแหน่ง ชำนาญการพิเศษ 5,600 บาท
– ค่าตอบแทนพิเศษสำหรับครูชำนาญการพิเศษ 5,600 บาท

หากรวมเงินพิเศษด้วย ครู คศ.3 จะได้รับเงินเดือนสูงสุด 69,590 บาท (โดยปกติข้าราชการครูส่วนใหญ่จะอยู่ในตำแหน่งนี้)

  • ครู คศ.4 : ฐานเงินเดือนขั้นต่ำ 24,400 บาท ฐานเงินเดือนขั้นสูง 69,040 บาท

อีกทั้ง ครู คศ.4 จะได้รับเงินพิเศษเพิ่มเติม คือ

– ค่าวิทยฐานะ ตำแหน่ง เชี่ยวชาญ 9,900 บาท
– ค่าตอบแทนพิเศษสำหรับครูเชี่ยวชาญ 9,900 บาท

หากรวมเงินพิเศษด้วย ครู คศ.4 จะได้รับเงินเดือนสูงสุด 88,840 บาท

  • ครู คศ.5 : ฐานเงินเดือนขั้นต่ำ 29,980 บาท ฐานเงินเดือนขั้นสูง 76,800 บาท

อีกทั้ง ครู คศ.5 จะได้รับเงินพิเศษเพิ่มเติม คือ

– ค่าวิทยฐานะ ตำแหน่ง เชี่ยวชาญพิเศษ 13,000 – 15,600 บาท
– ค่าตอบแทนพิเศษสำหรับครูเชี่ยวชาญพิเศษ 13,000 – 15,600 บาท

หากรวมเงินพิเศษด้วย ครู คศ.5 จะได้รับเงินเดือนสูงสุด 108,000 บาท

เงินเดือนของครูโรงเรียนเอกชน

เงินเดือนของครูโรงเรียนเอกชน

เงินเดือนครูในโรงเรียนเอกชน ตามประกาศสำนักคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่องอัตราเงินเดือนผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษา จะเป็นการจ่ายเงินตามวุฒิการศึกษา ดังนี้

  • ระดับอนุปริญญา เงินเดือนขั้นต่ำเริ่มต้นที่ 11,840 บาท
  • ระดับปริญญาตรี เงินเดือนขั้นต่ำเริ่มต้นที่ 15,000 บาท
  • ระดับปริญญาโท เงินเดือนขั้นต่ำเริ่มต้นที่ 17,500 บาท
  • ระดับปริญญาเอก เงินเดือนขั้นต่ำเริ่มต้นที่ 21,000 บาท

ทั้งหมดนี้คือข้อมูลของการเป็นครูโรงเรียนรัฐบาล กับ ครูโรงเรียนเอกชน ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลว่าโอเคและสบายใจกับจุดไหนมากกว่ากัน

หากชอบความมั่นคง สามารถดูแลครอบครัวได้ ได้ทั้งสอนและฝึกทำงานที่หลากหลาย ไม่ซีเรียสเรื่องภาระงานเพิ่มเติมและระบบงานของราชการ ให้เลือกเป็นสอบเป็นครูโรงเรียนรัฐ แต่ถ้าชอบในการสอนนักเรียนแบบเต็มที่ งานนอกน้อย ไม่ชอบงานเอกสาร ได้มีเวลาพัฒนาตนเอง ให้เลือกสมัครเป็นครูโรงเรียนเอกชน หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ตัดสินใจวางแผนอนาคตได้ง่ายขึ้นนะครับ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Best Writer

นักเขียนบทความประจำ Thaiger จบการศึกษาจากคณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มีความเชียวชาญด้านวงการเพลงไทย ภาพยนตร์ อนิเมะ ชื่นชมติดตามข่าวสารสังคม กีฬา เทคโนโลยี แตกประเด็น สรุปเรื่องราวมาร้อยเรียงผ่านข้อความสู่สายตาผู้อ่าน ช่องทางติดต่อ best.t@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button