บันเทิงภาพยนตร์

รีวิว The Hunger Games: The Ballad of Songbirds & Snakes

เปิดรีวิว The Hunger Games: The Ballad of Songbirds & Snakes ภาพยนตร์ภาคแยกฟอร์มยักษ์ โดยนักวิจารณ์หนังระดับโลก เดวิด รูนี่ย์

เชื่อว่าสาวก The Hunger Games ในสัปดาห์นี้คงจะเนื้อเต้นอยู่ไม่น้อย เพราะภาพยนตร์ภาคใหม่จากแฟรนไชส์อย่าง The Hunger Games: The Ballad of Songbirds & Snakes กำลังจะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วโลก วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ที่จะถึงนี้แล้ว

Advertisements

ภาคนี้เป็นเรื่องราวของ คอริโอลานุส สโนว์ หรือ ประธานาธิบดีสโนว์ที่ใคร ๆ ต่างเกลียดกันในวัย 18 ปี เขาต้องเข้าร่วมแข่งขันเกมล่าชีวิตในครั้งที่ 10 ฐานะที่ปรึกษาของ ลูซี่ เกรย์ เบิร์ด เด็กสาวบรรณาการจากเขต 12 อันแสนกันดาร ทั้งสองคนต้องแข่งกับเวลาเพื่อเอาตัวรอด พร้อมเปิดตำนานปฐมบทของเกมล่าเกม ซึ่งเป็น 64 ปีก่อนเหตุการณ์ในภาพยนตร์ 4 ภาคก่อนหน้า วันนี้จึงจะพาทุกคนไปดูรีวิวจากนักวิจารณ์หนังได้รับชมแล้วในต่างประเทศ ก่อนจะไปรับชมด้วยตาตัวเองในวันพุธที่จะถึงนี้

รีวิว The Hunger Games The Ballad of Songbirds & Snakes
ภาพจาก : IMBd

รีวิว The Hunger Games: The Ballad of Songbirds & Snakes

เดวิด รูนี่ย์ หัวหน้านักวิจารณ์ภาพยนตร์จากเว็บไซต์ The Hollywood Reporter ได้ให้ความคิดเห็นหลังรับชม The Hunger Games: The Ballad of Songbirds & Snakes ไว้ดังนี้

เป็นเรื่องที่ยากมากที่จะสร้างเรื่องราวของเด็กหนุ่มผู้หลงใหลในความรัก มีความอ่อนโยน และมีศีลธรรมสูงส่ง แต่สุดท้ายเขาก็ได้ทรยศคนที่เชื่อใจเขา และก้าวข้ามไปสู่ด้านมืดอย่าง คอริโอลานุส สโนว์ และเป็นที่รู้กันในภาพยนตร์ 4 ภาคก่อนหน้าว่าเขาได้กลายเป็นประธานาธิบดีสุดชั่วร้ายที่รับบทโดย โดนัลด์ ซัทเธอร์แลนด์ ซึ่งนี่คือข้อจำกัดของ The Hunger Games: The Ballad of Songbirds & Snakes ที่เป็นภาคปฐมบทที่สร้างจากนวนิยายของ ซูซานน์ คอลลินส์ ที่เธอเขียนขึ้นในปี 2020

ประเด็นหลักของภาพยนตร์ภาคนี้ คือ การตระหนักในองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ The Hunger Games ทั้ง 4 ภาคก่อนหน้ามีความสนุกและตื่นเต้น จนเข้าไปอยู่ในใจผู้คนทั่วโลก ถึงแม้ว่าในภาคจบจะมีการขยายเนื้อเรื่องไปจนเกินเหตุ นั่นก็คือความเด็ดเดี่ยวและการแสดงอันตราตรึงของ เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ ในบท แคทนิส เอเวอร์ดีน

ลูซี่ เกรย์ เบิร์ด จากเขต 12
ภาพจาก : IMDb

ถึงแม้ว่า ลูซี่ เกรย์ เบิร์ด (แสดงโดย เรเชล เซกเลอร์) จะมาจากเขต 12 เช่นเดียวกับแคทนิส แต่ภาคนี้นั้นไม่ได้โฟกัสแค่ลูซี่อย่างเดียว เพราะเส้นเรื่องหลักจะไปโฟกัสไปที่ คอริโอลานุส สโนว์ (แสดงโดย ทอม บลายธ์) ในวัยเยาว์ และเมื่อเรื่องดำเนินไปมากเท่าไหร่ บทของเธอก็ยิ่งจางหายไปมากเท่านั้น

Advertisements

เช่นเดียวกับนักเรียนคนอื่น ๆ ครอบครัวที่มีฐานะจากศาลาว่าการ สโนว์ จะต้องเป็นที่ปรึกษาให้เด็กบรรณาการเพื่ออบรมและเลื่อนตำแหน่ง จากนั้นจึงจะได้สิทธิ์ในการจัดการแข่งขัน โดยการสนับสนุนของผู้ชมที่จะกำหนดสเบียงเอาตัวรอด ซึ่งสามารถส่งไปผ่านโดรนของพี่เลี้ยงได้

แต่ครั้งนี้แตกต่างออกไป เพราะครอบครัวของสโนว์ ต้องตกอยู่ในความยากลำบากหลังจากการเสียชีวิตของพ่อเขาจากสงครามแคปิตอล ในฐานะผู้นำครอบครัว เขาต้องการเงินรางวัล Plinth Prize ของที่ปรึกษาที่ชนะเกมไปพร้อมเด็กบรรณาการ เพื่อนำไปรักษาคุณย่า (แสดงโดย ฟิออนนูลา ฟลานาแกน) และลูกพี่ลูกน้องของเขา ไทกริส (แสดงโดย ฮันเตอร์ เชเฟอร์) สไตล์ลิสต์ในอนาคตของ Hunger Games

คอริโอลานุส สโนว์ (แสดงโดย ทอม ไบลธ์)
ภาพจาก : IMDb

การแข่งขันของเกมล่าเกมครั้งที่ 10 ยังเป็นจุดเปลี่ยนของงานกลาดิเอทอเรียลที่ดูแลโดยเกมเมกเกอร์อย่าง ดร.โวลัมเนีย กอล (แสดงโดย วิโอลา เดวิส) คุณหมอผู้โหดร้าย ซึ่งความสนใจในเกมของผู้ชมลดลงเป็นอย่างมาก ทำให้ ดร.กอล ต้องคิดหาวิธีที่มีการเพิ่มเดิมพันและเพิ่มการมีส่วนร่วม รวมถึงการใช้สิ่งมีชีวิตกลายพันธุ์ที่เพาะพันธุ์ในห้องแล็บของเธอ

ตัวละครที่น่าจับตามองอีกตัวนึงในเรื่องคงหนีไม่พ้น คาสก้า ไฮบัตทอม (แสดงโดย ปีเตอร์ ดิงก์เลจ) คณะบดีแห่งมหาวิทยาลัยแคปิตอล ผู้คิดค้นเกมล่าชีวิตที่ชี้ชะตาพาเน็ม การติดมอร์ฟีนของเขาจะค่อย ๆ เผยสาเหตุออกมาเพราะเขารู้สึกผิดจากความรู้สึกผิดที่ทำให้เกมต้นฉบับดำเนินไป และนี่เองคือต้นตอสำคัญของความเกลียดชังที่เขามีให้ต่อสโนว์ในวัยเยาว์

ลักกี้ ฟลิกเกอร์แมน (แสดงโดย เจสัน ชวาตซ์แมน) พิธีกรประจำการแข่งขัน ฮังเกอร์ เกมส์ คนแรกในประวัติศาสตร์ บรรพบุรุษของครอบครัว ซีซาร์ ฟลิคเกอร์แมน ได้รับมอบหมายให้บรรยายเหตุการณ์อันน่าสยดสยองให้แก่ผู้ชมทางบ้าน และเสริมมุกตลกที่ไม่ค่อยขำให้ในเหตุการณ์การแข่งขันเกมล่าเกม รวมถึงการตั้งชื่อเล่นให้ผู้นำที่ชั่วร้ายเมื่อพวกเขาปรากฎตัว ซึ่งช่างคล้ายคลึงกับที่โดนัลด์ ทรัมป์ ล้อเลียนฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองในการชุมนุม

ลักกี้ ฟลิกเกอร์แมน (แสดงโดย เจสัน ชวาตซ์แมน)
ที่มา : IMDb

สำหรับตัวละครฝั่งดีอย่าง ซีเจนัส พลินท์ (แสดงโดย จอช แอนเดรส ริเวรา) ทายาทในฝันจากตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในแคปปิตอล และเป็นเพื่อนร่วมชั้นที่เห็นว่า สโนว์ คือพันธมิตรของเขา เมื่อ ดร.กอลยืนกรานที่จะเดินหน้าเกมต่อไป หลังจากที่กลุ่มกบฎได้วางระเบิดก่อนการแข่งขันและได้สังหารผู้เข้าแข่งขันไปจำนวนหนึ่ง รวมถึงทำลายเวทีการแข่งขันทั้งหมด ทำให้ซีเจนัสถูกทดสอบความภักดีของที่มีต่อแคปปิตอล และเขาต้องตกในที่นั่งลำบากเมื่อรู้ว่าตนเองต้องเป็นที่ปรึกษาของอดีตเพื่อนที่โรงเรียนอย่าง มาร์คัส (แสดงโดย เจอโรม แลนซ์)

พาร์ทของภาพยนตร์ถูกแบ่งออกเป็น 3 บท ได้แก่ The Mentor, The Prize และ The Peacekeeper ตัวบทนั้นจะไม่ค่อยเน้นฉากต่อสู้แบบกลาดิเอเตอร์ แต่จะมุ่งเน้นไปทางตัวละครอย่าง สโนว์ ที่เราจะต้องมาลุ้นว่าเขาจะยินยอมเป็นพันธมิตรของ ซีเจนัส หรือไม่ รวมถึงจะช่วยให้ ลูซี่ เกรย์ สามารถเอาชนะเกมล่าเกมครั้งนี้ได้หรือไม่ และเขายังคงจะซื่อสัตย์กับความรู้สึกที่มีให้เธอหรือไม่หลังจากความรักได้บังเกิดระหว่างทำการแข่งขันเกม

เนื่องด้วยคาแรกเตอร์ของสโนว์ใน The Hunger Games ใน 4 ภาคแรกก็เป็นที่ประจักษ์อยู่แล้วว่าคำตอบที่จะได้เป็นอย่างไร แต่ก็มีหลายสิ่งเกี่ยวกับสโนว์ ที่ถูกถ่ายทอดผ่านการแสดงของ ทอม บลายธ์ เพื่อให้เราเหมือนได้เข้าไปในโลกของสโนว์วัยเยาว์ เพื่อเลือกระหว่างความภักดีส่วนตัวหรือสัญชาตญาณของเขา ในการปกป้องตนเองและสนองความทะยานอยากของตน

คอริโอลานุส สโนว์ ในวัย 18 ปี
ที่มา : IMDb

บลายธ์ นักแสดงหลักจากซีรีส์ที่ฉายผ่าน Epix/MGM+ อย่างเรื่อง Billy the Kid สามารถแสดงโดยบาลานซ์ระหว่างความอ่อนไหวและความแข็งแกร่งได้อย่างดีเยี่ยม แต่สโนว์ก็ไม่สามารถทดแทนแคทนิสในฐานะตัวเอกได้ และการทรยศ ลูซี่ เกรย์ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ของตัวละครนี้ เหมือนเป็นสคริปที่เขียนไว้แล้วล่วงหน้า ไม่มีความเจ็บปวดหรือรู้สึกใด ๆ กับเหตุการณ์นี้เลยแม้แต่น้อย

ฟรานซิส ลอว์เรนซ์ ผู้กำกับของภาคนี้ ได้ลงทุนจัดการฉากแอคชั่นบนเวทีตามที่ต้องการ โดยที่ให้กล้องเคลื่อนไหวอย่างบ้าคลั่ง แต่เกมต่าง ๆ ภายในภาคนี้มีความระทึกและน่าสนใจน้อยมาก ๆ อีกทั้งผู้เข้าแข่งขันในเกมล่าเกมครั้ง 10 ยังขาดมิติของตัวละครที่จะดึงดูดความสนใจจากผู้ชมอีกด้วย

ด้านองค์ประกอบภายในภาพยนตร์ถูกขัดเกลามาอย่างดี รวมถึงฉากการแสดงเมืองไวมาร์ ประเทศเยอรมนีที่ถูกเนรมิตรขึ้นมาใหม่อย่างสวยงาม ด้านเสียงประกอบภาพยนตร์ของ เจมส์ นิวตัน ฮาวเวิร์ด เข้ากันได้ดีกับบทเพลงของ ลูซี่ เกรย์ ซึ่งโปรดิวเซอร์เพลงอย่าง เดฟ คอบบ์ ได้แต่งบทเพลงที่ปลุกเร้าของคอลลินส์ เพื่อเพิ่มจิตวิญญาณในการปฏิวัติของนางเอก

ดร.โวลัมเนีย กอล และ คอริโอลานุส สโนว์
ที่มา : IMDb

ส่วนสิ่งที่แปลกใหม่และสร้างสรรค์ของภาคนี้ ที่แสดงให้เห็นถึงการคืนชีพของ The Hunger Games ในแปดปีหลังจากภาค Mockingjay – Part 2 คือความตั้งใจที่จะให้ความกระจ่างเกี่ยวกับกลไกทางการเมืองของศาลากลาง รวมถึงความสำคัญของเกมในการรักษาเส้นกั้นระหว่างชนชั้นปกครองกับกลุ่มผู้ไร้อำนาจนั้นช่างโศกเศร้าเสียเหลือเกิน

สุดท้ายประเด็นเกี่ยวกับความโหดเหี้ยมนั้น เป็นหนึ่งในสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ ถูกโจมตีโดยสโนว์ในบทสนทนาที่ว่า “โลกทั้งโลกคือเวที และเราต้องการให้ Hunger Games เกิดขึ้นทุกปี เพื่อเตือนเราว่าเราเคยเป็นใครอย่างแท้จริง” ซึ่งการเสียสละเพื่อนองเลือดในสมการนี้เป็นเพียง “ราคาที่ผู้คนยินดีที่จะจ่ายสำหรับการแสดงที่ยอดเยี่ยม” เพียงเท่านั้น

Best Writer

นักเขียนบทความประจำ Thaiger จบการศึกษาจากคณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มีความเชียวชาญด้านวงการเพลงไทย ภาพยนตร์ อนิเมะ ชื่นชมติดตามข่าวสารสังคม กีฬา เทคโนโลยี แตกประเด็น สรุปเรื่องราวมาร้อยเรียงผ่านข้อความสู่สายตาผู้อ่าน ช่องทางติดต่อ best.t@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button