ไลฟ์สไตล์

วิธีเตรียมตัวก่อน ระหว่าง หลังการบริจาคเลือด ควรทำ ไม่ควรทำอะไรบ้าง

ต้องรู้ เผยวิธีเตรียมตัวก่อน ระหว่าง และหลังการบริจาคเลือดว่าควรทำอย่างไร พร้อมทั้งสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำในช่วงกระบวนการการบริจาคเลือด

ข้อดีของการบริจาคเลือดนั้นมีอยู่มากมาย อาทิ ได้ส่งมอบโอกาสแห่งชีวิตแก่ผู้ที่ได้รับบริจาคเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนดียิ่งขึ้น ช่วยเร่งการทำงานของไขกระดูกเพื่อสร้างเม็ดเลือดแดง เป็นต้น ซึ่งการบริจาคเลือดนั้นสามารถทำได้ทุก 3 เดือนนับตั้งแต่วันบริจาค อีกทั้งยังไม่เสียค่าใช้จ่ายอีกด้วย เรียกได้ว่าได้ทั้งบุญ ได้ทั้งสุขภาพที่ดีขึ้นเลยทีเดียว

หากหลายคนอ่านมาถึงตรงนี้แล้วได้เห็นข้อดีของการบริจาคเลือด อาจเริ่มสนใจที่อยากลองบริจาคบ้างแล้ว แต่ไม่รู้ว่าทำยังไง วันนี้จะพาทุกคนมาดูวิธีเตรียมตัวก่อน ระหว่าง และหลังการบริจาคเลือด ว่าควรทำอย่างไรบ้าง พร้อมสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมในการรับบริจาคเลือด

วิธีเตรียมตัวก่อนการบริจาคเลือด

วิธีเตรียมตัวก่อนการบริจาคเลือด

ช่วงที่สำคัญที่สุดในการบริจาคเลือด นั่นคือการเตรียมตัวก่อนที่จะเดินทางไปยังศูนย์รับบริจาคเลือด เพื่อการบริจาคที่ราบรื่นและได้คุณภาพเลือดที่ดีที่สุด หากไม่เตรียมตัวมา อาจทำให้ความเข้มข้นของเลือดต่ำ ทำให้เลือดลอยและไม่สามารถบริจาคเลือดได้ ดังนั้นมาดูกันว่าต้องเตรียมตัวยังไงกันบ้าง

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอไม่น้อยกว่า 5 ชั่วโมง หรืออย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง
  • สุขภาพแข็งแรง ไม่ป่วยเป็นหวัด ไม่อยู่ในระหว่างการรับประทานยาปฏิชีวนะ เช่น ยาแก้อักแสบ ต้องหยุดยาเหล่านี้มาแล้วอย่างน้อย 7 วันขึ้นไป
  • ดื่มน้ำให้มาก ๆ ก่อนบริจาคเลือด 30 นาที ประมาณ 3-4 แก้ว ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่จะต้องเสียไปในการบริจาคเลือดหนึ่งครั้ง อีกทั้งยังทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น และช่วยลดภาวะเป็นลมหลังบริจาคเลือดเสร็จ
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่สบายตัว ไม่คับ สามารถดึงแขนเสื้อเหนือข้อศอกได้อย่างน้อย 3 นิ้ว
  • รับประทานอาหารก่อนบริจาคเลือดอย่างน้อย 1 ชั่วโมง โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่ไขมันสูง อาทิ ขนมหวาน ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนบริจาคเลือด
  • งดสูบบุหรี่ทั้งก่อนและหลังการบริจาคเลือด 1 ชั่วโมง

วิธีการปฏิบัติตัวขณะบริจาคเลือด

วิธีการปฏิบัติตัวขณะบริจาคเลือด

หลังจากตรวจสอบกับทางเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ว่าสามารถบริจาคเลือดได้แล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการบริจาคเลือดในปริมาณ 350 – 450 ซีซี หรือคิดเป็นร้อยละ 10 – 12 ของปริมาณเลือดทั้งหมดในร่างกาย เรามาดูข้อควรทำในระหว่างการบริจาคเลือดกันดีกว่า

  • เลือกแขนข้างที่เห็นเส้นเลือดดำอย่างชัดเจน เจาะบริเวณผิวหนังที่ไม่มีผื่นคัน หรือรอยเขียวช้ำ หากแพ้ยาฆ่าเชื้ออย่างแอลกอฮอล์ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่
  • ไม่อมลูกอม หรือเคี้ยวหมากฝรั่งขณะบริจาคเลือด
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่สบายตัว ไม่คับ
  • บีบลูกยางในมืออย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก หากมีอาการผิดปกติ อาทิ วิงเวียน ใจสั่น ชาหรือเจ็บกว่าปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่โดยด่วน
  • หลังจากบริจาคเลือดเสร็จ ให้นอนพักอยู่บนเตียงก่อน 5 – 10 นาที ก่อนลุกออกจากเตียง เพื่อป้องกันการวิงเวียนศีรษะ หากรู้สึกสบายดีแล้ว จึงลุกออกจากเตียงเพื่อไปดื่มน้ำและอาหารว่างที่จัดเตรียมไว้

วิธีดูแลตัวเองหลังการบริจาคเลือด

วิธีดูแลตัวเองหลังการบริจาคเลือด

เมื่อบริจาคเลือดสำเร็จแล้ว ควรจะต้องดูแลและบำรุงร่างกายเป็นพิเศษ เนื่องจากการบริจาคเลือดคือการนำเลือดเกือบ 1 ใน 4 ออกจากร่างกายภายในไม่กี่นาที ร่างกายอาจจะยังไม่สมบูรณ์โดยทันที ดังนั้นมาสำรวจสิ่งที่ควรทำหลังจากบริจาคเลือดเสร็จมีอะไรบ้าง

  • นั่งพักเพื่อรับประทานอาหารว่างและเครื่องดื่มที่เจ้าหน้าที่จัดเตรียมไว้ให้ อย่างน้อย 15 นาที และดื่มน้ำมากกว่าปกติเป็นเวลา 1 วัน
  • ควรนั่งพักจนแน่ใจว่าไม่รู้สึกเหมือนจะเป็นลม จึงค่อยลุกเพื่อเดินทางกลับ หากเกิดมีอาการเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่โดยด่วน
  • หลีกเลี่ยงการขึ้นลิฟต์ บันไดเลื่อน เนื่องจากอาจกระตุ้นให้เกิดอาการวิงเวียนและเป็นลมได้
  • หากมีเลือดซึมจากแผลที่เจาะเข็ม ให้ใช้นิ้วอีกด้านกดลงผ้าก๊อชให้แน่น ยกแขนสูงค้างไว้ประมาณ 3 – 5 นาที หากยังไม่หยุดซึม ให้รีบกลับไปพบแพทย์หรือพยาบาลในสถานที่บริจาคเลือด
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เสียเหงื่อมาก อาทิ การอบซาวน่า การออกกำลังกาย รวมถึงไม่ใช้แขนข้างที่บริจาคเลือดในการยกของหนักเป็นเวลา 24 ชั่วโมง หลังจากการบริจาคเลือด
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ใช้เวลานาน อาทิ การอยู่บริเวณแออัด เดินห้างเพื่อซื้อของ เป็นต้น
  • ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการอยู่ที่สูง หรือเกี่ยวกับเครื่องจักร ควรงดทำงาน 1 วัน
  • รับประทานอาหารตามปกติหลังบริจาคเลือด
  • รับประทานธาตุเหล็กวันละ 1 เม็ด เพื่อชดเชยเหล็กที่เสียไปกับการบริจาคเลือด
  • รับประทานธาตุเหล็ก ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีวิตามินซีสูง อาทิ น้ำส้ม น้ำมะเขือเทศ เพื่อการดูดซึมธาตุเหล็กที่ดีขึ้น

สรุปการการบริจาคเลือด

การบริจาคเลือดหนึ่งครั้ง เป็นเรื่องที่ต้องเตรียมตัวเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการเตรียมร่างกายให้พร้อม เนื่องจากเลือดที่เราจะบริจาคออกไปนั้น ยังมีผู้ป่วยอีกหลายคนที่รอรับเลือดของเราเพื่อต่อชีวิตให้กับพวกเขา ดังนั้นแล้วผู้บริจาคจึงควรเตรียมร่างกายให้พร้อมเพื่อการส่งต่อเลือดที่มีคุณภาพแก่ผู้ที่จำเป็นต้องใช้เลือดอย่างเร่งด่วน

อ้างอิงจาก : มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

Best Writer

นักเขียนบทความประจำ Thaiger จบการศึกษาจากคณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มีความเชียวชาญด้านวงการเพลงไทย ภาพยนตร์ อนิเมะ ชื่นชมติดตามข่าวสารสังคม กีฬา เทคโนโลยี แตกประเด็น สรุปเรื่องราวมาร้อยเรียงผ่านข้อความสู่สายตาผู้อ่าน ช่องทางติดต่อ best.t@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button