วิธีเช็กภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน ทำอย่างไรบ้าง
แนะนำขั้นตอนการเช็ก ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง อาการที่ร่างกายส่งสัญญาณว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินเกณฑ์ ชื่ออาการที่ฟังแล้วดูไม่หนักหนา แต่ทำคนน็อกมาหลายราย ผลจากพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต เสพติดน้ำตาล แป้ง ไม่ออกกำลังกาย หากไม่ปรับพฤติกรรมอาจเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน ไปลองสังเกตอาการ พร้อมจดทริคลดระดับน้ำตาลด้วยตัวเอง ทำได้ง่าย ๆ อย่างถูกต้อง
วิธีสังเกตอาการน้ำตาลในเลือดสูง
วิธีสังเกตอาการเบื้องต้นของคนมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง แนะนำให้ดูพฤติกรรมตัวเองในชีวิตประจำวัน หากรู้สึกว่าร่างกายเปลี่ยนไปจากปกติ บวกกับมีไลฟ์สไตล์ติดหวาน หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นเบาหวานให้สงสัยได้เลยว่าเข้าข่ายภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน
อาการด้านล่างนี้มักจะแสดงให้เห็นชัดในผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป แพทย์ถือว่าคนกลุ่มนี้เป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน หากใครพบอาการเข้าข่ายดังกล่าวให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพทันที ลักษณะอาการมี ดังนี้
- น้ำหนักลดแบบไม่ทราบสาเหตุ
- กระหายน้ำบ่อย
- ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะตอนกลางคืน
- ปวดศีรษะ
- ปากแห้ง แตก
- อ่อนเพลียง่าย เบลอ
- เริ่มมีอาการชาตามมือ เท้า
- แผลติดเชื้อง่าย
- แผลหายช้ากว่าปกติ
- สมรรถภาพทางเพศลดลง
- สายตาพร่ามัว มองเห็นไม่ค่อยชัด
การเช็กระดับน้ำตาลในเลือด 3 ระดับ
น้อยคนที่จะรู้ว่าระดับน้ำตาลในเลือดควรอยู่ระดับเท่าไหร่จึงจะถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยการตรวจน้ำตาลในเลือดอย่างถูกวิธีต้องงดอาหารและน้ำเป็นเวลา 8-10 ชั่วโมง เพื่อให้ได้ค่าน้ำตาลในร่างกายที่แท้จริง แบ่งเป็น 3 ระดับดังนี้
- น้ำตาลในเลือดปกติ : 70-100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- น้ำตาลในเลือดสูงกว่ามาตรฐาน : 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ควรปรับพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตใหม่ ป้องกันการเป็นเบาหวาน
- น้ำตาลในเลือดสูง : 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป (เป็นโรคเบาหวาน)
น้ำตาลในเลือดสูงเสี่ยงโรคแทรกซ้อนอะไรบ้าง
อย่างที่รู้ว่าการปล่อยตัวปล่อยใจกินของหวานโดยไม่คำนึงถึงสุขภาพ อาจก่อให้เกิดโรคเบาหวานได้ โดยจะนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อน 2 กลุ่ม ได้แก่ อาการแทรกซ้อนชนิดเฉียบพลันเป็นอาการโคมาจากน้ำตาลในเลือดสูงและน้ำตาลในเลือดต่ำ ส่วนกลุ่มที่สองคือภาวะแทรกซ้อนชนิดเรื้อรัง เช่น ภาวะแทรกซ้อนที่ตา ไต ระบบประสาท มือเท้าบวม หรือเลือดไหลไม่หยุดจนอวัยวะส่วนนั้นติดเชื้อจนเน่า
นอกจากนี้ยังมีโรคร้ายที่จะเกิดขึ้นร่วมกับเบาหวาน ได้แก่ ไขมันในเลือดสูง ไขมันอุดตันเส้นเลือด ความดันโลหิตสูง ส่งผลต่อระบบประสาท หลอดเลือด รวมไปถึงอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายที่จะถูกทำลายอาจถึงขั้นวิกฤตในที่สุด
สาเหตุน้ำตาลในเลือดสูง ส่งต่อได้ทางจากพันธุกรรม
ปัจจัยที่ทำให้คนเราเข้าไปเป็น 1 ในกลุ่มเสี่ยงภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือเบาหวาน เกิดจากปัจจัยที่เลี่ยงได้และเลี่ยงไม่ได้ ได้แก่ ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกร่างกาย ดังนี้
ปัจจัยภายในร่างกาย
- กรรมพันธุ์ : ครอบครัวที่มีคนป่วยเป็นเบาหวานจะถ่ายทอดไปยังรุ่นสู่รุ่น
- มีภาวะดื้ออินซูลิน : เมื่ออินซูลินผลิตไม่เพียงพอทำให้น้ำตาลสะสมในร่างกาย
- เครียดสะสม : ทำให้มีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในเลือดมากเกินไป
- อายุมากขึ้น : มีโอกาสเป็นเบาหวานได้มากขึ้น
- มีโรคตับอ่อน : ตับอ่อนอักเสบ ได้รับการผ่าตัดตับอ่อน
- ติดเชื้อไวรัสบางชนิด : หัด หัดเยอรมัน คางทูม ซึ่งมีผลต่อตับอ่อน
ปัจจัยภายนอกร่างกาย
- พฤติกรรมเสี่ยง : กินอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลสูง
- ขาดการออกกำลังกาย : ไม่ค่อยเดินหรือขยับร่างกายในแต่ละวัน
- กินยาบางชนิด : ยาคุมกำเนิด ยากลุ่มสเตียรอยด์ ยากดภูมิคุ้มกัน ยา Prednisone, Beta Blocker หรือ Glucagon
- การตั้งครรภ์ : รกของลูกน้อยจะผลิตฮอร์โมนหลายชนิด ส่งผลให้ยับยั้งทำงานของอินซูลิน
วิธีลดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเองง่าย ๆ
วิธีลดน้ำตาลในเลือดเหมาะสำหรับทุกคนที่ต้องการดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากคำว่าเบาหวาน แต่ถ้าเป็ยผู้ป่วยเบาหวานสามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์เพิ่มเติมได้ ส่วนผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือด 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (ยังไม่เข้าข่ายเบาหวาน) หรือผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตลอดไป สามารถเริ่มปรับเปลี่ยนตามนี้ได้เลย
- ควบคุมอาหาร ลดปริมาณการกินแป้ง น้ำตาล และอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
- กินผักและผลไม้ให้มากขึ้น ไฟเบอร์จากพืชช่วยดูดซึมน้ำตาลได้ดี
- ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ ช่วยระบบการทำงานภายในร่างกาย
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- พยายามไม่เครียด พักผ่อนให้เพียงพอ
- ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ
ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงถือเป็นสัญญาณเตือนเร่งด่วนก่อนเกิดโรคเบาหวาน วิธีการหลีกเลี่ยงทำได้ด้วยการดูแลรักษาสุขภาพ กินอาหารที่มีประโยชน์ ลดแป้ง น้ำตาล ของหวานที่เป็นพิษต่อร่างกาย เพิ่มสารอาหารพวกโปรตีน คาร์โบไฮเดตเชิงซ้อนให้มากขึ้น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แนะนำให้เริ่มจากการค่อย ๆ ปรับพฤติกรรมทีละนิดแต่ทำเป็นประจำ จะช่วยให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน
- เมนูอาหารเพิ่มเกล็ดเลือด เกล็ดเลือดต่ำกินอะไรดี ควรดูแลตัวเองอย่างไร
- หลังออกกำลังกาย ‘ควร-ไม่ควร’ กินอะไรบ้าง พร้อมทริคตามแล้วสุขภาพดีกว่าเดิม
- ภาวะ “เลือดหนืด เลือดข้น” ภัยเงียบใกล้ตัว ถ้าไม่รีบแก้อาจถึงแก่ชีวิตได้