สุขภาพและการแพทย์

เมนูอาหารเพิ่มเกล็ดเลือด เกล็ดเลือดต่ำกินอะไรดี ควรดูแลตัวเองอย่างไร

รวมลิสต์ เมนูอาหารเพิ่มเกล็ดเลือด สำหรับผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ หรือต้องการเพิ่มเกล็ดเลือด ควรรับประทานอะไร และควรเลี่ยงเลี่ยงเมนูไหนบ้าง พร้อมวิธีดูแลตัวเอง

เรื่องของสุขภาพที่เกี่ยวกับระบบเลือดอย่างเกล็ดเลือดต่ำ เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคมะเร็ง เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีเกล็ดเลือดน้อยกว่าปกติ อาจเกิดจากอาการป่วย หรือการรับยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยมักมีอาการเลือดออกง่ายและห้ามเลือดได้ยากกว่าปกติ

ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เป็นอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ และผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองได้ โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ จะมี อาหารเพิ่มเกล็ดเลือด เมนูไหนที่ควรรับประทาน หรือผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงเมนูใด ตามไปเช็กพร้อม ๆ กัน

ผักใบเขียว

เกล็ดเลือดต่ำ ต้องกินอะไร

1. ผักใบเขียว

ผักใบเขียว เป็นเมนูอาหารเพิ่มเกล็ดเลือดชั้นดี เนื่องจากเป็นแหล่งของวิตามินเค ที่มีความจำเป็นในการแข็งตัวของเลือด มีคุณสมบัติช่วยเพิ่มจำนวนเกล็ดเลือดได้ในระดับหนึ่ง ผักใบเขียวที่ควรรับประทานเพื่อเพิ่มเกล็ดเลือด เช่น คะน้า ปวยเล้ง บรอกโคลี โหระพา ผักโขม หน่อไม้ฝรั่ง กะหล่ำปลี เป็นต้น

2. ทับทิม

เมนูเพิ่มเกล็ดเลือดที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กอย่าง ทับทิม ช่วยบำรุงเม็ดเลือดแดงได้เป็นอย่างดี ทับทิมยังถูกจัดให้เป็นผลไม้ที่ควรบริโภคเป็นประจำ หากต้องเพิ่มจำนวนเกล็ดเลือด โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำจากการติดเชื้อไวรัส นอกจากนี้ ทับทิมยังมีสารต้านอนุมูลอิสระและวิตามินซีจำนวนมาก ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน และช่วยต่อสู้เชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. ต้นอ่อนข้าวสาลี

ต้นอ่อนข้าวสาลี มีคลอโรฟิลล์ในระดับสูง มีโครงสร้างคล้ายกับฮีโมโกลบินในเลือดของเรา มีส่วนช่วยเพิ่มจำนวนเกล็ดเลือด และช่วยเพิ่มปริมาณของเซลล์เม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว ผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำหรือต้องการเพิ่มเกล็ด สามารถรับประทานน้ำสกัดต้นอ่อนข้าวสาลีได้

4. ฟักทอง

เมนูที่ผักที่อร่อยและมีประโยชน์มากมายอย่าง ฟักทอง เป็นเมนูอาหารเพิ่มจำนวนเกล็ดเลือด เนื่องจากมีวิตามินเอที่มีประโยชน์ในการเพิ่มจำนวนเกล็ดเลือดที่เกิดจากไขกระดูก นอกจากนี้ อาหารที่อุดมด้วยวิตามินเอ เช่น แคร์รอต มันเทศ ต่างก็มีประโยชน์ในการเพิ่มเกล็ดเลือดแดงด้วยเช่นกัน

5. เครื่องในสัตว์

เมนูเพิ่มเกล็ดเลือดเมนูนี้ อาจมีทั้งคนที่ชอบและคนที่ขอบาย แม้เครื่องในสัตว์จะรับประทานยากสำหรับบางท่าน แต่เป็นเมนูที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก มีประโยชน์ในการบำรุงเลือด ผู้ที่ต้องการเพิ่มเกล็ดเลือด อาจนำเครื่องในสัตว์ไปประกอบอาหารเมนูต่าง ๆ เช่น ผัดเครื่องใน ต้มเลือดหมู แต่เมนูนี้อาจไม่เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาไขมันสูง หรือคอเลสเตอรอลสูง

6. ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว

ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวต่าง ๆ เช่น มะม่วง ฝรั่ง ส้ม เกรปฟรุต สับปะรด กีวี สตรอว์เบอร์รี ต่างเป็นแหล่งของวิตามินซี มีส่วนช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยให้เกล็ดเลือดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นแร่ธาตุสำคัญในการสร้างเกล็ดเลือดได้เป็นอย่างดี

7. ถั่วต่าง ๆ

ถั่วแทบทุกชนิด เช่น ถั่วเหลือง ถั่วแดง หรือถั่วดำ เป็นธัญพืชที่มีธาตุอาหารที่สำคัญอย่างธาตุเหล็ก ผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ สามารถรับประทานถั่วต่าง ๆ เพื่อเพิ่มธาตุเหล็กในร่างกายและช่วยในการสร้างเม็ดเลือดได้

นอกจากเมนูอาหารเพิ่มเกล็ดเลือดแล้ว เราสามารถรับประทานวิตามินเสริม ได้แก่ ธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 โฟเลต วิตามินซี วิตามินเค เพื่อเพิ่มเกล็ดเลือด ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน เพราะเป็นแร่ธาตุสำคัญในการสร้างเกล็ดเลือดใหม่ได้

ทับทิม

วิธีดูแลตัวเองหากเกล็ดเลือดต่ำ

เกล็ดเลือดต่ำเป็นภาวะที่ค่อนข้างเสี่ยง ในกรณีที่เกล็ดเลือดต่ำจากการที่ร่างกายสร้างเกล็ดเลือดเพิ่มไม่ได้ หรือมีสาเหตุที่ทำให้เกล็ดเลือดถูกทำลายเรื่อย ๆ จนเกล็ดเลือดต่ำกว่า 100,000 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร อาจเกิดความเสี่ยงภาวะเลือดออกในร่างกาย และหากเกล็ดเลือดเหลือน้อยกว่า 20,000 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร อาจทำให้เลือดออกในร่างกายได้โดยไม่มีบาดแผล และอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับเกล็ดเลือดทดแทน

ผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ สามารถดูแลตัวเองเพื่อเพิ่มเกล็ดเลือดในร่างกายได้ ดังนี้

1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เลี่ยงอาหารบางชนิด

ผู้ป่วยที่ต้องเพิ่มเกล็ดเลือด ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร ที่อาจทำให้ปริมาณเกล็ดเลือดต่ำลง เช่น นมวัว น้ำแครนเบอร์รี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มคาเฟอีน กาแฟ อาหารที่มีรสเผ็ดหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของสารควินิน (Quinine) หรือแอสปาร์แตม (Aspartame) เป็นต้น

2. ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง

การเพิ่มเกล็ดเลือดในร่างกาย นอกจากดูแลเรื่องเมนูอาหารการกินแล้ว ผู้ป่วยต้องดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ การพักผ่อนที่เพียงพอจะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวและสร้างเกล็ดเลือดได้ดีขึ้น และหลีกเลี่ยงการกระทบกระแทก การกระทบกระแทกอาจทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น

3. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจเกิดการบาดเจ็บ

ผู้ป่วยต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางประการ ควรเลือกใช้แปรงสีฟัน เสื้อผ้า หรือผ้าเช็ดตัวที่มีขนอ่อนนุ่ม ระมัดระวังการใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์มีคมทุกชนิด และควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่มีการปะทะ เนื่องจากอาจทำให้ได้รับบาดเจ็บ จนเกิดรอยฟกช้ำหรือเลือดไหลผิดปกติได้ เช่น การต่อยมวย เตะฟุตบอล หากมีความจำเป็นต้องเข้าร่วม ควรสวมอุปกรณ์ป้องกันตัว เพื่อลดความเสี่ยง และควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง

4. ระมัดระวังเรื่องการใช้ยา

ระมัดระวังเรื่องการใช้ยา ที่หาซื้อได้เองตามร้านขายยาทั่วไป และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออกผิดปกติ เช่น ยาไอบูโพรเฟน ยาแอสไพริน หรือยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) หากต้องการใช้ยา สมุนไพร หรืออาหารเสริมนอกเหนือจากแพทย์สั่ง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง

ภาวะเกล็ดเลือดต่ำรักษาให้หายได้ เริ่มจากการรับประทานอาหารเพิ่มเกล็ดเลือด หลีกเลี่ยงการดื่มคาเฟอีน แอลกอฮอลล์ และดูแลร่างกายให้แจ่มใส ท่านใดที่ประสบกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ สามารถนำลิสต์เมนูอาหารเพิ่มเกล็ดเลือด เพื่อบำรุงเลือด เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อให้ร่างกายกลับมาสดใสแข็งแรงกันได้

เกล็ดเลือด

อ้างอิง : โรงพยาบาลศิริราช POBPAD

Kamonlak

นักเขียนข่าวประจำ Thaiger ผู้มีความสนใจที่หลากหลาย มีประสบการณ์เชี่ยวชาญเขียนข่าวการเงิน เศรษฐกิจ จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานอดิเรก ติดตามข่าวสารความบันเทิง โดยเฉพาะภาพยนตร์และแอนิเมชัน เขียนงานโดยมีแนวคิดที่ต้องการถ่ายทอดมุมมองของตัวเองและถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ช่องทางติดต่อ kamonlak@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button