สรุปเหตุการณ์ ความขัดแย้งระหว่าง อิสราเอล และ ปาเลสไตน์ ดินแดนแห่งเยรูซาเล็มที่ต้องเผชิญกับการปะทะทางอาวุธ ท่ามกลางความขัดแย้งนานนับ 7 ทศวรรษ
อิสราเอล และปาเลสไตน์ ถือเป็นคู่ปรับที่มีความขัดแย้ง ข้อพิพาทในเรื่องดินแดน และพื้นที่กันมายาวนาน ตั้งแต่การสถาปนาขึ้นเป็นรัฐ และการแบ่งกั้นพรมแดน เป็นเวลากว่า 7 ทศวรรษแล้วที่ทั้งสองประเทศได้ทำสงคราม และโจมตีกันมาโดยตลอด ซึ่งมีชาติอาหรับในภูมิภาคเข้าร่วม และชาติมหาอำนาจโลกคอยสนับสนุนทั้งสองฝ่ายอยู่เสมอ
ท่ามกลางความขัดแย้งอันไม่รู้จบ และไม่มีท่าทีว่าจะหาข้อยุติได้ Thaiger พามาย้อนดูความขัดแย้งระหว่าง อิสราเอล-ปาเลสไตน์ ทำความเข้าใจกันให้กระจ่างเลยว่าจุดเริ่มต้นความขัดแย้งมาจากอะไร ทำไมถึงกลายเป็นดินแดนที่มีการปะทะกันด้วยความรุนแรงจนถึงปัจจุบัน
ชนวนเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่าง อิสราเอล-ปาเลสไตน์
ถ้าจะให้ย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งทั้งหมด คงต้องบอกเลยว่าความขัดแย้งเริ่มตั้งแต่ทั้งสองฝั่งยังไม่เป็นรัฐและประเทศ และยังไม่มีเส้นเขตแดนอย่างชัดเจนเลยด้วยซ้ำ โดยดินแดนปาเลสไตน์ อยู่ในระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและแม่น้ำจอร์แดน ถูกปกครองโดยกลุ่มชนหลายเผ่าพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นชาวบาบิโลน อัสสิเรียน เปอร์เซีย กรีก โรมัน
ในช่วงที่ดินแดนปาเลสไตน์อยู่ภายใต้การปกครองของโรมัน ชาวยิวกลุ่มหนึ่งได้ลุกขึ้นแข็งข้อต่ออำนาจของจักรพรรดิติตัสของโรมัน จักรพรรดิติตัสจึงสั่งทำลายกรุงเยรูซาเล็ม กระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 4 ปาเลสไตน์ตกเป็นของชาวคริสต์ จักรพรรดิคอนสแตนติน ได้เข้ามาสร้างวิหารศักดิ์สิทธิ์ขึ้นที่กรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งชาวยิวเชื่อว่าพื้นที่ตรงนั้น โดยเฉพาะที่ตั้งของเยรูซาเล็ม เป็นผืนแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ที่พระเจ้ามอบให้
จนกระทั่งสมัยเคาะลีฟะฮฺอุมัร บินค็อฏฏอบได้ส่งกองทัพภายใต้การนำของ อัมร์ บินอาศ มาเปิดดินแดนปาเลสไตน์ ในปี 636 ประชากรที่เคยนับถือคริสต์ก็เริ่มแปรเปลี่ยนมานับถืออิสลามมากขึ้น จนประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่กลายเป็นชาวมุสลิมไปจนเกือบทั้งหมด
ท่ามกลางสงคราม และการยึดครอง ทำให้ชาวยิวได้อพยพกันออกไป และดินแดนปาเลสไตน์ก็ถูกยึดครองโดยอาณาจักรต่าง ๆ ก่อนจะมีชาวอาหรับเข้ามาอาศัยอยู่ แม้ว่าชาวยิวจะกระจายกันไป แต่พวกเขาก็ยังมีความหวัง และกลุ่มที่ต้องการจะมาจัดตั้งประเทศอิสราเอลในพื้นที่เดิมให้ได้อีกครั้ง ก็คือ ขบวนการไซออนนิสต์ นั่นเอง
ข้อพิพาทและการแย่งชิงพื้นที่ปาเลสไตน์ ในช่วงสงครามโลก
จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งครั้งสำคัญ เริ่มมาจากชาวยิวส่วนหนึ่งที่อาศัยในปาเลสไตน์ ได้จัดประชุมไซออนนิสต์ครั้งแรก ในปี 1987 กระทั่งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 อังกฤษได้ยึดครองดินแดนปาเลสไตน์แทนออตโตมัน จึงเสนอคำประกาศบัลโฟร์ เสนอให้ชาวยิวตั้งถิ่นฐานในดินแดนปาเลสไตน์ ทำให้มีชาวยิวเริ่มอพยพกลับมา แน่นอนว่าการกลับมาของชาวยิวทำให้ความขัดแย้งระหว่างชาวปาเลสไตน์และชาวยิวเริ่มปะทุขึ้น
ดินแดนปาเลสไตน์ตกอยู่ในอาณัติของประเทศอังกฤษจนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในระหว่างนี้ ชาวยิวทั่วยุโรปถูกกองกำลังนาซีกวาดล้างอย่างหนัก ก็ได้อพยพเข้ามาในดินแดนปาเลสไตน์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งในปี ค.ศ. 1947 ดินแดนปาเลสไตน์ได้ถูกองค์การสหประชาชาติออกข้อมติกำหนดให้แบ่งดินแดนออกเป็นสองส่วน คือส่วนที่อาศัยของยิว และที่อาศัยของชาวอาหรับ
การก่อตั้งรัฐอิสราเอล ท่ามกลางสงครามระหว่างอาหรับกับอิสราเอล
ในปี 1948 ได้มีการจัดตั้งรัฐอิสราเอลขึ้น แต่ปาเลสไตน์ในขณะนั้น ยังไม่มีศูนย์รวมอำนาจหรือผู้แทนผู้นำกลุ่มที่แน่ชัด จึงไม่มีการจัดตั้งรัฐดังเช่นอิสราเอล ระหว่างการถือกำเนิดของอิสราเอล ได้เกิดสงครามครั้งใหญ่อีกหลายต่อหลายครั้ง เช่น สงคราม 6 วัน กระทั่งในปี 1967 อิสราเอลได้รับชัยยชนะ สามารถยึดครองดินแดนของอาหรับมาเป็นของตน ไม่ว่าจะเป็นเขตกาซาตะวันออก เทือกเขาซีนายของอียิปต์ เขตเวสต์แบงก์บางส่วน ที่ราบสูงโกรันของซีเรีย และนครเยรูซาเล็มฝั่งตะวันออก
ระหว่างความขัดแย้งของรัฐอิสราเอลและปาเลสไตน์ ทางด้านของปาเลสไตน์เองได้มีการจัดตั้งองค์กรปลดปล่อยปลาเลสไตน์ (PLO) ขึ้นมา พร้อมกับการก่อตั้งของกลุ่มปฏิบัติการใช้อาวุธอย่างกลุ่มฮามาสขึ้น แล้วใช้วิธีเลือกการปกครองคนในพื้นที่ด้วยการเลือกตั้ง และกลุ่มฮามาสได้รับชัยชนะจนได้ขึ้นปกครองในปี 2006 ทำให้ชาวปาเลสไตนืเข้าจึดครองพื้นที่ฉนวนกาซาสำเร็จ
ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มฮามาสกับอิสราเอล ในปี 2007
หลังจากที่กลุ่มฮามาสได้ขึ้นปกครองชาวปาเลสไตน์ แน่นอนว่าฮามาสได้ทำสงครามกับอิสราเอลมาโดยตลอด ในปี 2007 อิสราเอลจึงใช้การสร้างกำแพงกั้นบริเวณชายแดนฉนวนกาซา ทำให้ประชาชนปาเลสไตน์ที่ติดอยู่ถูกตัดขาดการช่วยเหลือใด ๆ ทั้งสิ้น สหประชาชาติจึงยื่นมือเข้ามาช่วย รวมถึงองค์กรระดับโลกอีกมากมาย
นับตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา อิสราเอลก็เข้าไปถล่ม โจมตีฉนวนกาซา สร้างความเสียหายไว้อย่างมหาศาล เหตุการณ์อย่างนี้ก็เกิดขึ้นซ้ำซาก กลุ่มฮามาสเองก็ยิงจรวดเข้าไปโจมตีอิสราเอล ทำให้อิสราเอลเปิดฉากโจมตีที่ฉนวนกาซาเป็นเวลากว่า 22 วัน ก่อนจะประกาศยุติการสู้รบในปี 2008
อิสราเอลสังหารผู้บัญชาการกลุ่มฮามาส
แม้จะมีการยุติการสู้รบกันระหว่างสองฝั่ง กระทั่งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2012 อาเหม็ด จาบารี ผู้บัญชาการคนสำคัญของกลุ่มฮามาส ถูกสังหารโดยจรวดลูกหนึ่งของอิสราเอล ถือเป็นการเปิดฉากกับกลุ่มฮามาสอีกครั้ง นับเป็นการเพิ่มระดับความดุเดือดของการทำศึกของทั้งสองฝั่ง การสู้รบครั้งนี้ดำเนินอย่างยาวนานถึง 8 วันเลยทีเดียว
ชนวนสงครามครั้งใหม่ เมื่อกลุ่มฮามาสสังหารชาวอิสราเอล
ความขัดแย้งครั้งสำคัญได้เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2014 เมื่อกลุ่มฮามาสลักพาตัวและสังหารวัยรุ่นชาวอิสราเอล 3 คนในเขตเวสต์แบงก์ ถือเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดสงครามฉนวนกาซา การโจมตีด้วยจรวดและการโจมตีทางอากาศครั้งนี้ คร่าชีวิตชาวปาเลสไตน์ไปกว่า 2,251 ราย และชาวอิสราเอล 73 ราย ถึงอย่างนั้นผู้นำอาวุสโสของกลุ่มฮามาสได้ออกมายกย่องการลักพาตัวครั้งนี้ และกล่าวว่าจะจุดชวนการลุกฮือของชาวปาเลสไตน์ครั้งใหม่อีกด้วย
เหตุประท้วงของชาวปาเลสไตน์ในปี 2018
ในเดือนมีนาคม 2018 เกิดการประท้วงของชาวปาเลสไตน์ที่ชายแดนของฉนวนกาซาที่ติดกับดินแดนของอิสราเอล กองทัพอิสราเอลจึงเปิดฉากยิงเพื่อสกัดกั้นผู้ประท้วง การสังหารครั้งนี้มีชาวปาเลสไตน์มากกว่า 170 คนถูกสังหาร ทำให้เกิดการต่อสู้ระหว่างกลุ่มฮามาสและกองกำลังอิสราเอลอีกครั้ง ซึ่งการปราบรามของอิสราเอลครั้งนี้ถูกนานาชาติรุมประณาม เพราะถือว่าเป็นความรุนแรงในกาซาที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดใน 1 วัน
การปะทะกันระหว่างชาวปาเลสไตน์และกองกำลังอิสราเอล บริเวณอัลอักซอ
ความตึงเครียดระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอลได้เกิดขึ้นอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 2021 ซึ่งตรงกับช่วงเดือนรอมฎอน ถือศีลอดของชาวมุสลิม ชาวปาเลสไตน์หลายร้อยคนได้รับบาดเจ็บจากการปะทะกับกองกำลังความมั่นคงของอิสราเอลที่บริเวณอัลอักซอในกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ของชาวปาเลสไตน์
ภายหลังจากการเรียกร้องของนานาชาติที่ขอให้อิสราเอลถอนกองกำลังออกจากอัลอักซอ กลุ่มฮามาสก็ได้ปล่อยจรวดจำนวนมากจากฉนวนกาซาเข้าสู่อิสราเอล อิสราเอลจึงตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศที่ฉนวนกาซา การปะทะกันครั้งนี้กินระยะเวลายาวนานถึง 11 วัน ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 250 รายในฉนวนกาซา และชาวอิสราเอลอีก 13 ราย
กองกำลังอิสราเอลโจมตีผู้บัญชาการของกลุ่มอิสลามิกจีฮัด ในปี 2022
ในเดือนสิงหาคม 2022 กองกำลังอิสราเอลได้เปิดฉากโจมตีทางอากาศ เพื่อโจมตีผู้บัญชาการระดับสูงของกลุ่มฮิสลามิกจีฮัด เหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 44 คน รวมทั้งเด็ก 15 คน อิสราเอลเผยว่าการโจมตีครั้งนี้เป็นปฏิบัติการล่วงหน้าที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน โดยมุ่งเป้าไปที่ผู้บัญชาการและคลังอาวุธ
กลุ่มอิสลามิกจีฮัด เปิดฉากโจมตีอิสราเอล เมื่อต้นปี 2023
เหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนี้เกิดขึ้นในเดือนมกราคม 2023 ทุกอย่างเกิดขึ้นเมื่อกลุ่มอิสลามิกจีฮัดเปิดฉากยิงจรวดใส่อิสราเอล หลังจากที่กองทหารอิสราเอลได้บุกโจมตีค่ายผู้ลี้ภัยและสังหารมือปืนชาวปาเลสไตน์ 7 คนและพลเรือนอีก 2 คน จรวดดังกล่าวส่งสัญญาณเตือนในชุมชนอิสราเอลใกล้ชายแดน ทางอิสราเอลจึงตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศใส่ฉนวนกาซา
การโจมตีอิสราเอลครั้งใหญ่ของกลุ่มฮามาส 7 ตุลาคม 2023
วันที่ 7 ตุลาคม 2023 วันสำคัญของศาสนายูดาย กลุ่มฮามาสได้ยิงขีปนาวุธจากฉนวนกาซา ประมาณ 5,000 ลูก ภายในเวลา 20 นาที เข้าไปถึงชายแดนนอกฉนวนกาซา และเข้าไปถึงเทลอาวีฟ เขตแดนประเทศอิสราเอล นอกจากนี้ยังส่งกองกำลังติดอาวุธ เข้าไปโจมตีทางหลายเมืองตอนใต้ของอิสราเอล นับว่าเป็นการเปิดฉากโจมตีที่รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี
เหตุการณ์โจมตีอิสราเอลครั้งนี้ ทำให้พลเรือนนับพันคนเสียชีวิต รวมถึงชาวต่างชาติที่เข้ามาในท่องเที่ยวในประเทศอิสราเอล นอกจากนี้ ชาวไทยที่เข้าไปเป็นแรงงานภาคการเกษตร ได้ถูกกลุ่มฮามาสบุกเข้าไปจับตัว นำตัวข้ามไปฝั่งฉนวนกาซา ทำให้การปะทะกันครั้งนี้อิสราเอลมีความลำบาก เพราะมีพลเรือนและชาวต่างชาติจำนวนมากถูกจับกุมตัว
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง