ทําไม “บริจาคเลือด” ต้องเว้น 3 เดือน เปิดคุณสมบัติ ต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง
ไขข้อข้องใจ “บริจาคเลือด” ทำไมต้องเว้น 3 เดือน สำหรับคนที่อยากบริจาคโลหิต ต้องเตรียมความพร้อมยังไงบ้าง เช็กเงื่อนไขได้ที่นี่
การบริจาคโลหิตถือเป็นการทำบุญครั้งใหญ่ เพราะเลือดที่เราส่งต่อสามารถนำไปช่วยเหลือชีวิตผู้อื่นได้ แต่ถึงอย่างนั้นร่างกายของทุกคนก็มีขีดจำกัด การบริจาคเลือดจึงจำเป็นจะต้องเว้นห่างกัน 3 เดือน หรือ 90 วัน วันนี้ Thaiger เลยอยากถือโอกาสพาทุกท่านไปทำความเข้าใจว่า ทำไมต้องให้ร่างกายพักและเสริมธาตุเหล็กหลังการบริจาคเลือดแต่ละครั้ง พร้อมเปิดข้อดีของผู้บริจาคโลหิต ทำแล้วได้อะไรบ้าง ใครพร้อมแล้วไปดูกันได้เลย
บริจาคเลือดทำไมต้องเว้น 3 เดือน มีเงื่อนไขอะไรบ้าง?
ในทางการแพทย์ การบริจาคเลือดถือเป็นวิธีการช่วยเหลือผู้อื่นที่ดีที่สุด เพราะในทุก ๆ วันมีผู้คนจำนวนมากที่กำลังป่วย และเจออุบัติเหตุ ทำให้ต้องถ่ายเลือดหรือเสริมเลือดในการรักษา แต่การจะเป็นผู้ที่บริจาคเลือดได้ ท่านจะต้องมีคุณสมบัติหรือเงื่อนไขตามที่สภากาชาดกำหนดอย่างครบถ้วน
คุณสมบัติผู้บริจาคโลหิต
- มีอายุระหว่าง 17 – 70 ปี
- สุขภาพแข็งแรง พักผ่อนเพียงพอ
- ไม่รับประทานอาหารไขมันสูงก่อนบริจาคเลือด
- ไม่ใช่ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
- ไม่มีอาการอักเสบจากการสักหรือเจาะผิวหนัง
- ไม่มีอาการท้องเสียหรือท้องร่วง
- ไม่มีอาการน้ำหนักลดอยางรวดเร็วโดยไร้สาเหตุ ภายใน 3 เดือนก่อนการบริจาคโลหิต
- ไม่ได้รับการผ่าตัดใหญ่ภายใน 6 เดือน – 1 ปี ก่อนการบริจาคโลหิต
- เว้นจากการถอนฟัน อุดฟัน รักษารากฟัน และขูดหินปูน อย่างน้อย 3 วัน
- เว้นจากประวัติการใช้ยาเสพติด 3 ปีขึ้นไป
- ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ
- ไม่เดินทางหรืออยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการมีเชื้อมาลาเรีย
ทำไมบริจาคเลือดต้องเว้น 3 เดือน ?
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย แนะนำให้ผู้ที่ต้องการบริจาคเลือด เว้นระยะห่างอย่างน้อย 3 เดือน หรือ 90 วัน ก่อนจะบริจาคครั้งต่อไป เนื่องจากร่างกายต้องผลิตเม็ดเลือดแดงขึ้นมาใหม่ และเม็ดเลือดแดงจะมีอายุประมาณ 120 วัน
ทั้งนี้หากมีการบริจาคเลือดก่อนกำหนด หรือขาดการทานธาตุเหล็กหลังบริจาคเลือด ก็อาจทำให้ผู้ที่บริจาคมีภาวะโลหิตจางได้ ทำให้ต้องมีการละเว้นการบริจาคโลหิตอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อความปลอดภัยของผู้บริจาคและผู้รับบริจาคเลือด แต่ถึงอย่างนั้นในวันบริจาคเลือด เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ก็จะตรวจเลือดเพื่อคัดกรองให้เช่นกัน
ข้อดีของการบริจาคเลือด
รู้กันหรือเปล่าวว่า การบริจาคเลือดไม่ได้ส่งผลดีแค่กับผู้รับเท่านั้น แต่ผู้ที่บริจาคเลือดเองก็ได้รับสิ่งดี ๆ นอกเหนือจากความอิ่มอกอิ่มใจ ดังนี้
1. ลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง
การวิจัยจากสวีเดนและเดนมาร์กระบุว่า ความเสี่ยงของมะเร็งลดลงหากมีการบริจาคเลือด โดยเฉพาะในกลุ่ม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ และมะเร็งปอด อีกทั้งการลดธาตุเหล็กในร่างกายลงไปบ้าง ก็ยังช่วยลดโอกาสเส้นเลือดหัวใจอุดตันได้อีกด้วย
2. ร่างกายแข็งแรงขึ้น
หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าการบริจาคเลือดจะทำให้เราอ่อนแอลง เพราะในความเป็นจริง การบริจาคเลือดที่เป็นส่วนเกินราว 7% (พิจารณาจากน้ำหนัก) ไม่นับว่าเป็นอันตราย แถมยังช่วยให้แข็งแรงขึ้น เพราะมีการผลิตเม็ดเลือดมาจากไขกระดูก ทำให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้นกว่าเดิมนั่นเอง
3. ผิวพรรณดีดูเปล่งปลั่ง รูปร่างดีขึ้น
สสวท. เคยออกมายืนยันแล้วว่า การบริจาคเลือดจะช่วยให้ระบบไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ส่งผลให้ผิวหน้าใส ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ทั้งยังดูมีน้ำมีนวล เสริมรูปลักษณ์ให้แลดูสุขภาพดีและเพรียวขึ้น
4. ได้สิทธิพิเศษ
ผู้ที่บริจาคเลือดบ่อย ๆ มีโอกาสได้รับสิทธิพิเศษหลายอย่าง เช่น
- 7 ครั้งขึ้นไป : ค่าห้องพิเศษและค่าอาหารพิเศษ 50%
- 9 ครั้งขึ้นไป : ตรวจวิเคราะห์สารเคมีในโลหิตได้
- 16 ครั้งขึ้นไป : ช่วยค่ารักษาพยาบาล ค่าห้องพิเศษและค่าอาหารพิเศษ 50%
- 24 ครั้งขึ้นไป : ช่วยค่ารักษาพยาบาล ค่าห้องพิเศษและค่าอาหารพิเศษ 100%
- 100 ครั้งขึ้นไป : ขอพระราชทานเพลิงศพได้
5. อิ่มบุญ
ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ คงไม่มีบุญกุศลใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่า การได้ช่วยเหลือต่อชีวิตให้ผู้อื่น เพระฉะนั้นผู้ที่ไปบริจาคโลหิตก็เปรียบเสมือนผู้สร้างบุญสร้างกุศล ทำให้มีความอิ่มอกอิ่มใจในผลบุญของตัวเอง
ทั้งนี้หากใครที่สุขภาพร่างกายแข็งแรง และมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขของผู้ที่สามารถบริจาคเลือดได้ อย่าลืมหาโอกาสไปทำบุญด้วยการช่วยเหลือชีวิตผู้อื่น ผ่านการบริจาคโลหิตกันด้วยนะ.
อ้างอิง ธนาคารเลือด โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามา ศูนย์บริการโลหิต สภากาชาดไทย