วิธียื่นขอรับเงินชราภาพ จากกองทุนประกันสังคม รวมขั้นตอนวิธีการขอรับเงินที่สำนักงานประกันสังคม และผ่านช่องทางออนไลน์ พร้อมเอกสารที่ต้องใช้ และเงื่อนไขรับเงินชราภาพ
สำหรับผู้ที่จ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคม นอกจากจะได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วย หรือสิทธิต่าง ๆ แล้ว เมื่อเกษียณอายุจะได้รับเงินคืนจากกองทุน ที่เรียกว่า เงินชราภาพ ประกันสังคม โดยจะได้รับในรูปแบบของเงินบำเหน็จ (เงินก้อน) หรือเงินบำนาญ (เงินรายเดือน)
การขอรับเงินชราภาพ มีการกำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ไว้อย่างชัดเจน เมื่อถึงอายุที่กำหนด ผู้ที่มีสิทธิสามารถยื่นขอรับเงินชราภาพได้ในเวลาที่กำหนด วันนี้ทีมงาน Thaiger ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิธียื่นขอรับเงินชราภาพ รวมถึงเอกสารที่ใช้ เงื่อนไขและหลักเกณฑ์ พร้อมกับประโยชน์ทดแทนกรณีรับเงินชราภาพ
วิธีขอรับเงินชราภาพ ประกันสังคม ช่องทางยื่น เอกสารที่ใช้ ได้ภายในกี่วัน
วิธียื่นขอรับเงินชราภาพ ประจำปี 2566
วิธีการยื่นขอรับเงินชราภาพ สามารถทำได้ 2 วิธี ได้แก่ ยื่นขอรับเงินชราภาพที่สำนักงานประกันสังคมใกล้บ้าน หรือยื่นรับเงินชราภาพผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีรายละเอียดต่าง ๆ ดังนี้
1. วิธียื่นขอรับเงินชราภาพ ที่สำนักงานประกันสังคม
-
- ผู้ประกันตน หรือทายาทผู้มีสิทธิต้องกรอกแบบ สปส. 2-01 พร้อมลงลายมือชื่อ (ดาวน์โหลดแบบฟอร์มขอรับประโยชน์ทดแทน คลิกที่นี่)
- นำเอกสาร สปส. 2-01 มายื่นที่สํานักงานประกันสังคมจังหวัด สํานักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ หรือยื่นขอรับทางไปรษณีย์โดยต้องมีหลักฐานครบถ้วน
- แจ้งเจ้าหน้าที่ว่าจ่ายเงินสมทบมาเท่าไร จ่ายมาทั้งหมดกี่ปี เนื่องจากเงื่อนไขการได้รับบำเหน็จ หรือบำนาญ ขึ้นอยู่กับเงินที่จ่ายสมทบ
- เจ้าหน้าที่ตรวจหลักฐานและพิจารณา
- สํานักงานประกันสังคมมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณา
- พิจารณาสั่งจ่ายเงินสด หรือเช็ค โดยผู้ประกันตนมารับด้วยตนเอง หรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมารับแทน
- ส่งธนาณัติให้ผู้ประกันตน
- โอนเข้าบัญชีธนาคารตามบัญชีของผู้ขอรับประโยชน์ทดแทน
การกรอกเอกสารขอรับเงินชราภาพ ควรกรอกเลขบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก เนื่องจากหากไม่มีบัญชีพร้อมเพย์ ประกันสังคมจะโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝาก ทำให้ถูกหักค่าธรรมเนียมครั้งละ 5 บาท ทุกเดือนได้
2. วิธียื่นขอรับเงินชราภาพ ผ่านระบบออนไลน์
-
- เข้าสู่ระบบเว็บไซต์หลักของสำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th และเลือกเมนู เข้าสู่ระบบผู้ประกันตน หรือสมัครสมาชิก ในกรณีที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนสมัครเป็นสมาชิก
- ที่หน้าจอ “ระบบผู้ประกันตน” กรอก รหัสผู้ใช้งาน (เลขบัตรประจำตัวประชาชน) และรหัสผ่าน จากนั้นคลิกปุ่ม เข้าสู่ระบบ
- หลังจากเข้าสู่ระบบแล้ว เลือกเมนู ยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนด้วยตนเอง (e-Self Service)
- ระบบจะเข้าสู่หน้าจอของระบบยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนด้วยตนเอง (e-Self Service)
ทุกท่านสามารถดูข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประกันสังคมของผู้ประกันตนได้ รวมถึงสามารถเลือกยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีที่มีสิทธิ ทั้ง 4 รายการได้ คือ กรณีชราภาพ กรณีว่างงาน กรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีคลอดบุตร
เอกสารที่ใช้ในการขอรับเงินชราภาพ
-
- แบบคําขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ (สปส. 2-01)
- สําเนาบัตรประจําตัวประชาชน
- สําเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารหน้าแรก
- สําเนาทะเบียนบ้านของผู้ประกันตนและของทายาทผู้มีสิทธิ (ใช้ในกรณีที่ผู้รับเงินชราภาพถึงแก่ความตาย)
- ใบมรณะบัตรพร้อมสําเนา (ใช้ในกรณีที่ผู้รับเงินชราภาพถึงแก่ความตาย)
สามารถดาวน์โหลด แบบฟอร์มคําขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ (สปส. 2-01) ได้ที่เว็บไซต์ สำนักงานประกันสังคม คลิกที่นี่
เงื่อนไขและหลักเกณฑ์การขอรับเงินชราภาพ
1. เงื่อนไขการขอรับเงินบำนาญชราภาพ
-
- จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน ไม่ว่าระยะเวลา 180 เดือนจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม
- มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
- ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
2. เงื่อนไขการขอรับเงินบำเหน็จชราภาพ
-
- จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน
- มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย
- ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
หากผู้ประกันตนมาตรา 39 จะขอคืนเงินชราภาพ ทั้งเงินบำเหน็จ หรือเงินบำนาญชราภาพ สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานคร หรือสาขาอื่น ๆ ทั่วประเทศ ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิรับเงินกรณีชราภาพ ซึ่งหากยื่นเกินตามที่กำหนด จะต้องยื่นแจ้งเหตุที่ยื่นเกินกำหนดด้วย
ประโยชน์ทดแทนสำหรับกรณีคืนเงินชราภาพ
1. ประโยชน์ทดแทนจากเงินบำนาญชราภาพ
-
- กรณีจ่ายเงินสมทบมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 180 เดือน มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือน ในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
- กรณีที่มีการจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน ให้ปรับเพิ่มอัตราบำนาญชราภาพตามข้อ 1 ขึ้นอีก ในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุก 12 เดือน สำหรับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบเกินกว่า 180 เดือน
2. ประโยชน์ทดแทนจากเงินบำเหน็จชราภาพ
-
- กรณีที่มีการจ่าย เงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ มีจำนวนเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ กรณีที่มีการจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ มีจำนวนเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายเงินสมทบ เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทน ตามที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด
- กรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือน นับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับคราวสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย
จากข้างต้น คือวิธีการยื่นขอรับเงินชราภาพ และเอกสารที่ต้องใช้ พร้อมกับเงื่อนไข หลักเกณฑ์การได้รับเงินชราภาพคืน และประโยชน์ทดแทนที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินชราภาพได้รับ หากท่านใดมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานคร ทั้ง 12 แห่ง หรือโทร. 1506 มีเจ้าหน้าที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงค่ะ
อ้างอิง : 1