ย้อนทรงจำ ‘พนม นพพร’ นักร้องลูกทุ่ง เจ้าของเพลงลาสาวแม่กลอง ขวัญใจเมืองชล
เปิดประวัติ พนม นพพร นักร้องลูกทุ่งและนักแสดงชื่อดังจากเมืองชลบุรี เจ้าของบทเพลง ลาสาวแม่กลอง อาลัยหลังเสียชีวิตแล้วในวัย 77 ปี
นับเป็นการสูญเสียใหญ่อีกครั้งของวงการเพลงลูกทุ่ง กับข่าวการเสียชีวิตของ พนม นพพร นักร้องลูกทุ่งเสียงสวรรค์จากเมืองชล เจ้าของฉายาพระเอกลูกทุ่ง ผู้มีความสามารถรอบด้าน ทั้งการร้องเพลงและการแสดง เพื่อเป็นการอาลัยครั้งสุดท้ายแด่นักร้องผู้ยิ่งใหญ่อีกหนึ่งคนของวงการลูกทุ่งไทย ทีมงาน Thaiger จึงขอพาทุกท่านไปย้อนประวัติ อ่านความทรงจำชีวิตที่ผ่านมาของ พนม นพพร ไปพร้อมกัน
ประวัติ พนม นพพร พระเอกลูกทุ่ง เจ้าของผลงานสลักจิต ลาสาวแม่กลอง
พนม นพพร มีชื่อจริงว่า ชาตรี ชินวุฒิ เขาเกิดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 เป็นชาวอำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี เป็นลูกชายคนที่ 3 จากพี่น้อง 4 คน เกิดในครอบครัวที่พ่อแม่ทำงานไร่อ้อยและขายของชำ
พนม มีชื่อเล่นว่า โอว ซึ่งเป็นคำในภาษาจีนที่แปลว่า ดำ เนื่องจากสีผิวของเขาค่อนข้างดำกว่าพี่น้องท้องเดียวกันนั่นเอง เขารักการร้องรำทำเพลงมาตั้งแต่เด็ก โดยช่วงที่เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดหนองตำลึง พนมในวัยเด็กมักจะไปร่วมร้องเพลงในคณะรำวงชื่อ ดาราน้อย รวมถึงคณะลิเก จำลองนาคะศิลป์
เมื่อโตขึ้น พนม นพพร ได้เริ่มเข้าวงการชกมวย โดยฝึกซ้อมเป็นนักมวยสมัครเล่น ในชื่อ ดวงใจ น้ำตาชล แต่ไม่ปรากฏข้อมูลว่า พนม นพพร ได้ขึ้นชกหรือไม่
จนกระทั่งเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 พนม นพพร เลือกเดินทางเข้ากรุงเทพเพื่อไปประกวดร้องเพลงที่จัดโดย คณะเทียนชัย สมยาประเสริฐ เขาทำผลงานเข้าตากรรมการจนได้รับรางวัลที่ 1 และได้เปิดตัวเป็นนักร้องประจำคณะ ในชื่อ พนาวัลย์ ลูกเมืองชล ซึ่งมีผลงานเพลงแรกคือ ลมร้อน
ต่อมามีเหตุผิดใจกันทำให้ พนม นพพร ต้องกลับบ้านไปบวชเพื่อขอขมาพ่อแม่ เนื่องจากตอนที่เข้ากรุงเทพ เขาหนีที่บ้านมา
หลังสึกเสร็จ เขาได้เข้าไปฝากตัวกับครูมงคล อมาตยกุล แห่งวงจุฬารัตน์ และช่วยเหลือดูแลงานแบกหามเฝ้ารถ จนกระทั่งนักร้องในวงลาออก เขาถึงจะมีโอกาสเลื่อนขึ้นมาเป็นนักร้อง ซึ่งวงนี้เป็นที่ที่ชื่อของ พนม นพพร ได้ถือกำเนิดขึ้น
ผลงานแรกของเขาในฐานะ พนม นพพร คือเพลงสุขีเถิดที่รัก แต่ผลงานที่ดังมากที่สุดเห็นจะเป็นเพลงลาสาวแม่กลอง และเพลงฮักสาวขอนแก่น
หลังจากจับงานร้องเพลงลูกทุ่งพักใหญ่ จนความนิยมเริ่มลดลง เพื่อนของเขา ชินกร ไกรลาศ ได้ชักชวนให้พนมไปร่วมแสดงภาพยนตร์ เรื่อง เสน่ห์ลูกทุ่ง ในบทบาทของตัวประกอบ แต่ปรากฏว่าผู้กำกับเห็นแววจึงเพิ่มบทให้เขา และเป็นจุดที่ช่วยให้ พนม นพพร ได้แจ้งเกิดในฐานะนักแสดง พร้อม ๆ กับมีผลงานร้องเพลงประกอบหนังไปด้วย
เมื่อผลงานด้านดนตรีดูจะกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง พนม นพพร ก็ได้สร้างวงดนตรีที่เป็นชื่อของเขาเอง แต่ทำอยู่ประมาณ 5 – 6 ปีก็ได้ยุบวงไป
ผลงานการแสดงของพนมที่ผ่านมา ได้แก่ เพลงรักแม่น้ำแคว (2513), ลมรักทะเลใต้ (2514), แม่ศรีไพร (2514), มันมากับความมืด (2514), สะใภ้ยี่เก (2514), นางฟ้าชาตรี (2514), บุหงาหน้าฝน (2515), หาดทรายแก้ว (2515), มนต์รักชาวไร่ (2514) ฯลฯ
นอกจากการเป็นนักแสดง พนมยังได้กระโดดมาจับงานกำกับด้วย โดยเขาเคยมีผลงานการสร้างหนังและกำกับหนัง เช่น คมนักเลง (2521), จับกัง กรรมกรเต็มขั้น (2523), อุ๊ย..เขิน (2524), ไอ้ขี้เมา (2526), พูดด้วยปืน (2527), คนในซอย (2528) ฯลฯ
ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอด ทั้งสายดนตรี เพลงลูกทุ่ง การแสดง ทำให้ พนม นพพร ได้เปิดค่ายเพลง เอ ไอเดีย, ค่ายเพลงนพพร ซิลเวอร์โกลด์ และ บริษัท นพพรโปรโมชั่น แอนด์ พิคเจอร์ จำกัด ซึ่งยังสร้างผลงานมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้เขายังเคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักเพลงลูกทุ่งแห่งประเทศไทยอีกด้วย
ต่อมาในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 มีรายงานการเสียชีวิตของ พนม นพพร ในวัย 77 ปี ปิดตำนานของพระเอกลูกทุ่ง และสายเบื้องหลังผู้คร่ำหวอดในวงการมาอย่างยาวนาน