ไลฟ์สไตล์

12 มิถุนายน 2566 วันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กสากล หนึ่งในวันสำคัญที่ควรรู้

ชวนรู้จัก 12 มิถุนายน 2566 ‘วันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กสากล’ หนึ่งในวันสำคัญที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อปกป้องการใช้แรงงานเด็กที่ไม่เป็นธรรม ถูกทารุณจากการใช้แรงงาน และหวังให้ยุติการกดขี่และข่มขู่บังคับการใช้แรงงานเด็ก พร้อมตระหนักกฎหมายคุ้มครองแรงงานเด็กและหลักสิทธิมนุษยชน

ประวัติวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กสากล

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) กำหนดให้เป็นวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก ตั้งแต่ปี 2542 จากการร่วมประชุมข้อตกลงร่วมกันระหว่างนานาประเทศ เพื่อให้ประเทศสมาชิกดำเนินการป้องกันและขจัดการใช้แรงงานเด็กให้หมดไปอย่างเร่งด่วน ซึ่งในปัจจุบันมีประเทศสมาชิกร่วมลงนามแล้วจำนวน 178 ประเทศ

ในวันต่อต้านกาารใช้แรงงานเด็กโลก องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ เรียกร้องให้มีการกระตุ้นการดำเนินการระหว่างประเทศ ขจัดการใช้แรงงานเด็ก โดยเน้นย้ำการใช้สัตยาบันสากลของอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 138 เรื่องอายุขั้นต่ำที่จะทำให้เด็กทุกคนได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายจากการใช้แรงงานเด็กทุกรูปแบบ

ประวัติวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กสากล 2566

วันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กสากลในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย ได้ลงนามในอนุสัญญาฉบับนี้เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2544 และในทุก ๆ มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อรณรงค์ต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดการปัญญาแรงงานเด็ก โดยกระทรวงแรงงานของสหรัฐอเมริกาประเมินความพยายามและผลการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวของ 132 ประเทศทั่วโลก ได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในระดับความสำเร็จมาก

วันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กสากล

คำขวัญวันต่อต้านการใช้แรงงานสากลปี 2566

ในวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กสากลได้มีการใช้คำขวัญเป็นประจำทุกปี เพื่อสร้างความตระหนักให้แก่ทุกคนให้รับรู้ถึงการใช้แรงงานเด็กที่ไม่เป็นธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน สำหรับปี 2566 คำขวัญประจำวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กสากล ได้แก่ “ความยุติธรรมทางสังคมสำหรับทุกคน ยุติการใช้แรงงานเด็ก”

คำขวัญวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก

กฎหมายเพื่อการคุ้มครองแรงงานเด็ก

ปัจจุบันประเทศไทยมี พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้วางหลักเกณฑ์ในการจ้างแรงงานเด็ก ที่ถือเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่นายจ้างต้องปฏิบัติ มาตรการคุ้มครองแรงงานเด็กของประเทศไทยได้ถูกบัญญัติไว้ใน หมวด 4 ของ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 จำนวน 9 มาตรา เริ่มตั้งแต่ มาตรา 44 – 52 ดังนี้

  • ห้ามจ้างแรงงานเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ทำงานโดยเด็ดขาด
  • หากต้องการจ้างแรงงานเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี นายจ้างต้องแจ้งพนักงานตรวจแรงงานภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่เด็กเข้าทำงาน
  • ลูกจ้างแรงงานเด็กจะต้องมีเวลาพักขั้นต่ำวันละ 1 ชั่วโมง และต้องจัดภายใน 4 วันแรกของการทำงาน
  • ห้ามให้เด็กทำงานในช่วงระหว่าง 22.00 – 06.00 น. เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
  • ห้ามให้ลูกจ้างแรงงานเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานอันตราย อาทิเช่น งานหลอม เปล่า หรือรีดโลหะ, งานปั๊มโลหะ, งานเกี่ยวกับความร้อน ความเย็น ความสั่นสะเทือน เสียง, งานเกี่ยวกับสารเคมีที่เป็นอันตราย, งานเกี่ยวกับวัตถุมีพิษ วัตถุระเบิดหรือวัตถุไวไฟ เป็นต้น
  • ห้ามให้ลูกจ้างแรงงานเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในสถานที่อันตราย ได้แก่ โรงฆ่าสัตว์, สถานที่เล่นการพนัน, สถานที่บริการตามกฎหมาย
  • นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างแก่แรงงานเด็กเท่านั้น ห้ามจ่ายให้กับบุคคลอื่น
  • ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อเข้าประชุม รับการอบรม สัมมนา การฝึก หรือลาเพื่อการอื่น ที่จัดโดยสถานศึกษาหรือหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนที่อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเห็นชอบ

กฎหมายเพื่อการคุ้มครองแรงงานเด็ก

การใช้แรงงานเด็กในประเทศไทย

เมื่อปี พ.ศ. 2544 ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาฉบับที่ 182 ซึ่งมีจุดประสงค์คือ ต้องเร่งดำเนินแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กในประเทศไทยที่มีสภาพแวดล้อมเลวร้ายโดยทันที จึงได้มีการจัดทำ นโยบายและแผนระดับชาติเพื่อขจัดปัญหาการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย พ.ศ. 2552 – 2557 ที่มีเนื้อหาด้านการป้องกัน คุ้มครอง และช่วยเหลือเด็กทุกคนในประเทศไทย ที่มีความเสี่ยงเข้าข่ายการใช้แรงงานเด็กผิดกฎหมายในไทย

การใช้แรงงานเด็กในประเทศไทย

จะเห็นได้ว่า การใช้แรงงานเด็กให้เหมาะสมและถูกต้องตามกฎหมาย ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่เราควรตระหนักและรับรู้ ดังนั้น หากใครพบเห็นหรือมีเบาะแสการใช้แรงงานเด็กอย่างผิดกฎหมาย สามารถแจ้งได้ที่ช่องทางสายด่วน โทร. 1506 กด 3 หรือโทร. 1546 นอกจากนี้สามารถแจ้งมาที่เฟซบุ๊ก กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

อ้างอิง : 1

Wilasinee

นักเขียนที่ Thaiger เชี่ยวชาญข่าวบันเทิงและบทความไลฟ์สไตล์ จบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จึงรู้ลึกรู้จริงทั้งเรื่องวิชาการและเทรนด์กระแสโซเชียลที่สำคัญ มีประสบการณ์เขียนบทความออนไลน์กว่า 2 ปี งานอดิเรกชอบติดตามข่าวเศรษฐกิจ การลงทุน ติดต่อได้ที่ wilasinee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button